โค่นสวนยางฯ ปลูกน้อยหน่าเพชรปากช่อง 2 ปีให้ผลผลิต ขายหน้าสวน-ออนไลน์ รายได้หลักหมื่น

จากสถานการณ์ราคายางพาราที่ไม่สู้ดีเหมือนแต่ก่อน ทำให้นายนาวี จันทร์กระจ่าง เกษตรกรสวนยางฯ ใน ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ตัดสินใจโค่นต้นยางพาราเนื้อที่กว่า 5 ไร่ แบ่งมาปลูก “น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง” แทน จำนวน 3 ไร่ เพราะเห็นช่องทางว่าในละแวกนี้ไม่มีเกษตรกรรายใดปลูกน้อยหน่าขาย ส่วนที่เหลือได้แปลงเป็นสวนเกษตรผสมผสาน ปลูกผลไม้อีกหลายชนิด

น้อยหน่าพันธุ์ “เพชรปากช่อง” เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์แม่ พันธุ์เซริมัวย่า (cherimoya x หนังครั่ง) x พันธุ์พ่อ “หนังเขียว” มีลักษณะต้นใหญ่และสูงกว่าน้อยหน่าพันธุ์ทั่วไป ใบเป็นรูปหอกสีเขียวเข็ม ต้นพุ่มโปร่งปานกลาง ดอกใหญ่ ผลเป็นรูปหัวใจ ผิวค่อนข้างเรียบ ร่องตาตื้นคล้ายน้อยหน่าหนัง ผลอ่อนสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวอ่อนถึงขาวนวล ผลไม่แตกเมื่อแก่ เปลือกบางลอกออกจากเนื้อได้เมื่อสุกจัด เนื้อเหนียวคล้ายน้อยหน่าหนัง หลังจากปลูกอายุ 2 ปี จะเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่ และเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง มีจุดเด่นที่น่าใจอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อปลูกไปนานปีก็จะยิ่งให้ผลผลิตที่เพิ่มพูนมากขึ้น ในปีแรกนั้นอาจจะให้ผลผลิตไม่เกิน 3 ลูก/ต้น ปีที่ 2 ก็จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 10 -15 ลูกและจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เรียกว่าปลูกครั้งเดียวสามารถที่เก็บผลผลิตได้นานนับ 10 ปี ถ้าหากดุแลรักษาให้ดีๆ

นายนาวีสั่งต้นพันธุ์น้อยหน่ามาจากโคราชกว่า 300 ต้น เพียง 2 ปี ก็เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขาย ในราคากิโลกรัมละ 65 บาท โดยเก็บอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ๆ ละประมาณ 80-90 กิโลกรัม ทำให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท โดยเริ่มเก็บมาแล้ว 4 รอบ หรือประมาณ 500 กิโลกรัม ขายทั้งหน้าสวนและทางออนไลน์ ทำให้ผลตอบรับดีมากจนสุกไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า

ทั้งนี้ ในการทำสวนน้อยหน่านั้น นายนาวีเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยโดยไม่ใช้สารเคมี หมั่นตัดแต่งกิ่งเพื่อทำสาว เป็นการบังคับให้ออกลูกนอกฤดูกาลและมีผลให้เก็บได้ตลอดทั้งปี โดยลูกใหญ่ที่สุดหนักถึง 1.2 กิโลกรัม ลูกค้านิยมบริโภคเนื่องจากเนื้อหนา ลูกใหญ่ รสหวานกำลังดี หอมและเม็ดน้อย

นอกจากนี้ ยังได้เปิดสวนน้อยหน่าให้ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวเข้ามาเลือกซื้อและตัดเองจากต้น พร้อมชิมแก้วมังกร เสาวรส ฝรั่ง และอื่น ๆ ที่มีอยู่ในสวน พร้อมเตรียมขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้า โดยให้คำแนะนำฟรีสำหรับเกษตรกรที่สนใจจะปลูกน้อยหน่าเป็นรายได้เสริมที่ตอนนี้กลายเป็นรายได้หลักของครอบครัวไปแล้ว

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562