ยอดมันปู ผักสมุนไพรหน้าบ้าน

เคยมีหลายคนถามมาว่า ทำไมคนใต้ถึงกินอาหารที่เผ็ดร้อนมากได้ วัฒนธรรมการกินอาหารของคนใต้ ที่นิยมรสชาติเผ็ดร้อน คงเป็นเพราะว่า ภาคใต้ของไทยเรามีอากาศที่เย็น ความชื้นสูง แบบที่เรียกว่า “ฝนแปดแดดสี่” ร่างกายจึงต้องการพลังงานความร้อนสูง จึงเกิดองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอาหารการกิน คือ พืชผัก โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน ภาคใต้มีจำนวนมากชนิดกว่าภาคอื่นๆ มีมากกว่า 150 ชนิด ผักพื้นบ้านถูกนำมาเป็นผักเคียง หรือผักเหนาะ กับอาหารรสเผ็ดร้อน เช่น น้ำพริกสารพัดอย่าง แกงเผ็ด แกงเหลือง แกงไตปลา อาหารทุกอย่างจะต้องมีผักเคียงอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็น สะตอ ผักเหรียง เหมียง ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดต้นแค ขมิ้นขาว ชะอม กระถิน แมงดาต้น หรือทำมัง และแม้แต่ ยอดมันปู

“มันปู” เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ สูงกว่า 15 เมตร ในวงศ์ EUPHORBIACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glochidion wallichianum Muell.Arg.

เป็นพรรณไม้ธรรมชาติ ที่พบขึ้นในป่าดิบชื้น หรือที่ราบแถบเชิงเขา ป่าน้ำกร่อย ป่าพรุ มีการนำเอามาปลูกในสวนหลังบ้าน ประดับหน้าบ้านก็มี ใบเป็นใบเดี่ยว ก้านใบสั้นเพียงครึ่งเซนติเมตร ออกแบบสลับ 2 ข้างกิ่ง ปลายกิ่งมักห้อยย้อยลง ใบรูปร่างไข่ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม โคนใบมน ผิวใบเรียบออกมันเล็กน้อย หลังใบสีเขียวอ่อนกว่าหน้าใบ ก้านใบยอดอ่อนสีเขียวอ่อน หรือเขียวอมแดง รสฝาด เขาว่ายอดขาวมันอร่อยกว่า ดอกออกเป็นกระจุก หรือเป็นช่อสีเขียวอ่อน แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ ไม่มีกลีบดอก ผลแก่สีชมพูอมแดง กลมแป้น มีพู 10-12 พู เมื่อแห้งแตกมีเมล็ดเล็กๆ 10-12 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อสีแดงหุ้ม ขยายพันธุ์ได้ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง แยกต้นอ่อนจากต้นแม่ หรือตัดชำได้

มันปู เป็นไม้พื้นเมืองประจำถิ่นภาคใต้ของไทย มีพบแพร่กระจายในประเทศอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม มาเลเซีย มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น แถบชุมพร เรียก ชุมเส็ด พุงหมู แถบตรัง นครศรีธรรมราช เรียก มันปู มันปูใหญ่ นราธิวาส เรียก นกนอนทะเล ทางภาคใต้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น สมเส็ด ยอดเทะ เป็นต้น แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่า “มันปู” ใบมันปู ยอดมันปู ส่วนที่นิยมนำมาเป็นผัก คือยอดอ่อน ใบอ่อน นำมาเป็นผักสด ลวกจิ้มน้ำพริก ต้มกะทิ รสชาติฝาด มัน คนต่างถิ่นชอบนำมาเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก ผักสดแกล้มลาบ ก้อย พล่า ยำ มีความอร่อยลงตัว เป็นที่นิยมมาก นิยมกันมานานมากแล้ว จนถึงขั้นมีขึ้นห้างวางขาย แต่ปัจจุบันนักบริโภคคงมีผักอื่นที่เป็นทางเลือกมากขึ้น ความนิยมผักยอดมันปูจึงค่อยลดลงบ้าง

รากและลำต้นมันปู ต้มเป็นยา มีสรรพคุณแก้ร้อนใน และบำรุงร่างกายได้อย่างยอดเยี่ยม ใบอ่อนและยอดอ่อน เมื่อนำมาเป็นผัก ประโยชน์โดยตรงคือ สร้างอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ต่อต้านการเกิดมะเร็ง มีคุณค่าสารอาหารที่สำคัญ ได้แก่ เบต้าแคโรทีน 5,646 ไมโครกรัม เส้นใยอาหาร (ไฟเบอร์) 16.7 กรัม วิตามินเอ 941 ไมโครกรัม คาร์โบไฮเดรต 25.2 กรัม ซึ่งคุณค่าทางอาหารที่มันปูมีให้เรา คงตอบโจทย์ได้ว่ารักษา ป้องกันโรคภัยต่างๆ ที่คนเรามักจะเป็นได้อย่างไร และทำไมถึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “สมุนไพรหน้าบ้าน”

ในช่วงฤดูฝน ยอดมันปูจะแตกยอดอ่อนได้รวดเร็วมาก ในช่วงฤดูแล้ง ถ้าได้รับน้ำบ้าง ก็ยังแตกยอดให้เก็บกินใบยอดอ่อนได้ตลอดปี พอยอดอ่อนโผล่ต้น มักไม่พ้นสายตาคน ถูกเก็บยอดไปกินเรียบ แต่มันปูก็มีสัญชาตญาณตอบสนองรวดเร็ว ยิ่งเด็ดยิ่งแตกยอด จากหนึ่งเป็นสองเป็นสามยอด ทำให้เราไม่ทันได้เห็นการออกดอกออกผล ติดเมล็ดไว้ให้นำไปเพาะกล้าขยายพันธุ์ได้ ยกเว้นคนที่นำมาปลูกไว้เพื่อเอาเมล็ดมาเพาะขายจริงๆ หรือออกหาตามป่าเขาอย่างจริงจัง ก็จะได้เมล็ดมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลูก หรือวางแผงต้นไม้ขายได้ ต้นเล็กๆ 30-40 บาทเชียว

แต่ถ้าใครต้องการที่จะมีปลูกไว้ในสวนหลังบ้าน รั้วบ้าน ประดับหน้าบ้าน ไว้เป็นผักสมุนไพร ก็ลองหายอดมันปูที่เป็นยอด หรือกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน มาตัดเป็นท่อนสั้นๆ ยาวสัก 1 คืบ มีตาที่ข้อ สัก 2-3 ตา ตัดใบให้เหลือครึ่งใบ ปักชำลงถุงดินผสมแกลบ ขนาดพอเหมาะ ถุงละกิ่ง หลายๆ ถุง ให้น้ำจนชุ่มใส่รวมกันไว้ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ มัดจุกให้แน่น เรียกว่า การชำกิ่งแบบควบแน่น ไว้สัก 45 วัน เมื่อเห็นยอดใหม่ หรือกิ่งชำยังสดมีชีวิตอยู่ แสดงว่าได้ต้นใหม่ไปปลูก ค่อยเปิดปากถุงพลาสติกวันละนิด ให้ต้นมันปูใหม่ปรับสภาพอากาศภายนอกได้ดีก่อน แล้วค่อยลงดินปลูกในที่ต้องการ เป็นพืชผักพื้นบ้าน สมุนไพรหน้าบ้าน