สรพ. ร่วมกับ สวทช. มอบรางวัลนวัตกรรมดีเด่น 2P Safety Tech ให้โรงพยาบาล

ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ วันที่ 16-17 กันยายน 2562 – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ร่วมกับ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดเวทีพิชชิ่ง 2P Safety Tech Pitching ภายใต้งาน “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก (The 1st World Patient Safety Day)” และ “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย (The 3rd Thailand Patient and Personnel Safety Day)” ที่จัดโดย สรพ. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ โดยเวทีพิชชิ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมด้าน Innovation for 2P Safety ที่เปิดโอกาสให้ 12 โรงพยาบาลในโครงการ 2P Safety Tech Hospitals นำเสนอนวัตกรรม เพื่อคัดเลือกนวัตกรรมที่มีผลงานดีเด่นใน 3 ด้าน ได้แก่ Care, Change, Collaboration ผลปรากฏ โรงพยาบาลหนองม่วง จังหวัดลพบุรี กับผลงานรถขนส่งอาหารขับเคลื่อนไฟฟ้า คว้ารางวัลด้าน Collaboration ขณะที่ด้าน Care มี 2 แห่งคือ โรงพยาบาลมหาสารคาม กับผลงาน Smart OPD และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก กับผลงานเครื่องมือ Stop Fall ส่วนรางวัลด้าน Care คือ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ กับผลงานระบบบริหารเวรเปล ซึ่งทุกนวัตกรรมต้นแบบที่พัฒนาจะเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทปัญหาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลมีความปลอดภัยและสะดวกยิ่งขึ้น สนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ต่อไป

ระบบป้องกันการตกเตียงในเด็ก (stop fall in childhood) โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เปิดเผยว่า การประกวดนวัตกรรมในโครงการ 2P Safety Tech (Patient and Personal Safety Technology Awards) หรือโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล” เป็นความร่วมมือระหว่าง สรพ. และ สวทช. ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ประกอบกับความต้องการที่จะใช้นวัตกรรมเพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่ง สวทช. มีเครือข่ายนวัตกร (Innovator) ที่สามารถรับโจทย์ไปพัฒนาต่อได้ โดยโครงการ 2P Safety Tech ปี 2561 มีจำนวนโรงพยาบาลเข้าร่วมทั้งสิ้น 18 แห่ง โดยร่วมพิชชิ่ง 12 แห่งสำหรับโรงพยาบาลที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินนวัตกรรมแล้ว ซึ่งเกณฑ์การตัดสินนวัตกรรมดีเด่นที่สำคัญคือ ผลสัมฤทธิ์ที่มีผลปฏิบัติแล้วนั่นเอง สำหรับรางวัลนวัตกรรมที่มีผลงานดีเด่นประกอบด้วยกัน 3 ด้าน คือ ด้าน Collaboration ได้แก่ โรงพยาบาลหนองม่วง จังหวัดลพบุรี กับผลงานรถขนส่งอาหารขับเคลื่อนไฟฟ้า 4.0 ขณะที่ด้าน Care มีด้วยกัน 2 รางวัล โดยรางวัล Care ในมุม attractive ได้แก่ โรงพยาบาลมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม กับผลงาน Smart OPD เพิ่มคุณค่า ลดระยะเวลารอคอย และรางวัล Care ในมุม expected quality ได้แก่ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส กับผลงานเครื่องมือ Stop Fall และรางวัลด้าน Change ได้แก่ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ กับผลงานระบบบริหารเวรเปลเพื่อคุณภาพและความปลอดภัย

บรรยากาศการนำเสนอของโรงพยาบาลมหาสารคาม

นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเสริมว่า เป้าหมายของโครงการ 2P Safety Tech ที่ สวทช. ร่วมกับ สรพ. จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในโรงพยาบาล โดยนวัตกรรมนั้นๆ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและบุคลากรที่ปฏิบัติงานของในโรงพยาบาลได้ โดยมีโรงพยาบาลจำนวน 18 แห่งจากทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ซึ่งแนวทางสร้างนวัตกรรมของ 2P Safety Tech จะเน้นทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ประกอบการหรือนักพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ (Health Tech) และสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้นแบบที่เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทปัญหาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เพื่อช่วยให้ระบบงานบริการในโรงพยาบาลสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนผู้ป่วยและบุคลากรการแพทย์ของโรงพยาบาล

ด้านโรงพยาบาลที่ได้รางวัลนวัตกรรมดีเด่นด้าน Care กับผลงานเครื่องมือ Stop Fall แพทย์หญิงจันทรา นราตรีคูณ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริหารสุขภาพ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นจากปัญหาที่มีเด็กเล็ก ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี ตกเตียงบ่อยๆ ทุกปี ซึ่งได้ทำการแก้ไขปัญหาหลายทางแล้ว เช่น ทำริชแบนด์ หรือป้ายเตือนต่างๆ ซึ่งได้ผลไม่ดีนัก จึงเกิดเป็นความคิดในการที่จะหาตัวช่วย ตอนแรกคิดถึงเหมือน airbag (ถุงลมนิรภัย) ของตัวรถ ถ้ารถชนจะมี airbag เด้งออกมา แต่พอมาคุยกับผู้พัฒนานวัตกรรมแล้วบอกว่าไอเดียนี้ทำยาก จึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นแนวคิดป้องกันไว้ก่อนดีกว่า ด้วยการทำเซ็นเซอร์ยกเตียงขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น เกิดเป็นโครงการพัฒนาระบบป้องกันการตกเตียงในเด็ก (stop fall in childhood) เพราะเด็กจะมีพฤติกรรมตามแม่ ถ้าแม่มาชงนมเด็กจะคลานตามลงมาเลย นวัตกรรม stop fall เมื่อแม่ลงจากเตียงแล้วไม่ได้ยกไม้กั้นเตียงขึ้นภายใน 10 วินาที ระบบตรวจจับการยกไม้กั้นเตียง และระบบเตือนเมื่อไม่ยกไม้กั้นเตียงจะทำงานทันที ด้วยแสงไฟและเสียงที่จะส่งสัญญาณเตือนติ๊ดๆ ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์ที่เตือนโดยอัตโนมัติ สามารถส่งแจ้งเตือนไปที่โทรศัพท์มือถือของพยาบาล และที่ Nurse Station ด้วย ซึ่งตอนนี้มีเตียงต้นแบบ stop fall ที่ทดลองใช้จริงแล้วจำนวน 4 เตียง ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมถึงผู้ดูได้เกิดความตระหนักในการเฝ้าระวังมากขึ้น และสามารถป้องกันการตกเตียงในเด็กได้

บรรยากาศการนำเสนอของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์

และโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นด้าน Collaboration กับผลงานรถขนส่งอาหารขับเคลื่อนไฟฟ้า 4.0 นางสุภาพร ไชยตะมาตย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลหนองม่วง จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า “จากปัญหารถขนส่งอาหารที่โรงพยาบาลจอดอยู่ มีน้ำหนักมากและไม่ได้ใช้ และต้องขนส่งบนทางที่ลาดชัน เสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานบาดเจ็บ จึงเกิดแนวความคิดในการพัฒนาเป็นรถเข็นอาหารที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งในการออกแบบรถต้นแบบ ได้ประสานกับทางวิทยาลัยลพบุรี มาช่วยแนะนำวิธีสร้างรถและออกแบบเส้นทาง พร้อมไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท จนสามารถพัฒนาสร้างรถต้นแบบได้ ทำให้บุคลากรที่ใช้รถปฏิบัติงานสะดวก ลดอาการบาดเจ็บจากการปฏิบัติงาน ส่วนผู้ป่วยได้รับอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อนระหว่างขนส่ง และโรงพยาบาลเองได้ประหยัดต้นทุนด้วยอีกทางหนึ่ง”

ทั้งนี้ ภายในกิจกรรม 2P Safety Tech Pitching ที่ สวทช. ร่วมกับ สรพ. ดำเนินงานในส่วน Innovation for 2P Safety ยังมีการมอบรางวัลเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลที่มีนวัตกรรมโดดเด่นและน่าสนใจ ประกอบด้วย รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ โรงพยาบาลสัตหีบ กม.10 จังหวัดชลบุรี กับผลงาน Automatic ISBAR และโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี กับผลงาน Administration Yommarat-Nurse Advance ขณะที่ รางวัลพิเศษ ได้แก่ โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง กับผลงาน Smart wristband for patient identification พร้อมโอกาสนี้ยังได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “Open Innovation รวมพลังงานสร้างนวัตกรรม ทำได้จริง : แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การคิด ทำ ใช้ นวัตกรรม” โดยผู้แทนจากทีมนวัตกรรมโรงพยาบาล 2P Safety Tech และทีมสตาร์ทอัพในเครือข่าย สวทช. เพื่อเสริมความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับโรงพยาบาลแต่ละแห่งในการนำนวัตกรรมไปปรับใช้ในโรงพยาบาล