บึงกาฬ ลุยแปรรูปยาง5โรงงาน5ผลิตภัณฑ์ ทุ่ม193ล้านเพิ่มมูลค่า ผนึกรับเบอร์วัลเล่ย์ชิงเต่า

จังหวัดบึงกาฬอัดงบฯกลุ่มจังหวัด 193 ล้านบาท สร้างโรงงานแปรรูปยางพารา 5 แห่งรวด เดินเครื่องผลิตหมอน-ที่นอน-ยางแผ่นรมควัน-น้ำยางข้น-ยางลูกขุน คาดจัดซื้อจัดจ้างเสร็จภายใน ก.พ.นี้ พร้อมจับมือกลุ่มรับเบอร์วัลเล่ย์ เมืองชิงเต่า เปิดตลาดใหม่ ด้านผู้ว่าฯบึงกาฬ เผยไฮไลต์งานยางพาราบึงกาฬปี 2560จัดใหญ่ โชว์นวัตกรรมสร้างคนบึงกาฬ 4.0 เร่งพัฒนาครบวงจรต้นน้ำถึงปลายน้ำ


นายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บึงกาฬเป็นจังหวัดที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคอีสาน ประมาณ 1 ล้านไร่ เปิดกรีดแล้วประมาณ 7 แสนไร่ มีโรงงานรับซื้อยางก้อนถ้วย 7 แห่งเกษตรกรร้อยละ 80 มีอาชีพปลูกยางพารา และเกือบทั้งหมดทำการกรีดยางเอง ดังนั้นแม้ราคายางพาราจะผันผวน เกษตรกรก็พออยู่ได้ แต่เป็นการทนอยู่ เช่น ในช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ราคายางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 13-15 บาท ปรากฏว่าบรรยากาศทุกบ้านเงียบกริบ แต่ปีใหม่

ปีนี้ราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-40 บาท ทุกบ้านมีความสุข ดังนั้นการจะสร้างความสุขให้ยั่งยืน จึงมองว่าต้องแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพารา


เปิด รง.หมอนยางแห่งแรกบึงกาฬ

นายนิพนธ์กล่าวว่า อบจ.บึงกาฬได้พยายามผลักดันการแปรรูปยางพารามาโดยตลอด มีการรวมตัวกันเป็นชุมนุมสหกรณ์ยางบึงกาฬ พร้อมทั้งได้ยื่นขอกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวนกว่า 400 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างโรงงานแปรรูป และเป็นทุนหมุนเวียน แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ จนต้องระดมทุนจากสมาชิกกันเอง และกู้ธนาคารออมสิน ดอกเบี้ยร้อยละ4 รวมแล้วกว่า 10 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างโรงงานแปรรูปผลิตหมอนยางพารา โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นที่ปรึกษา

ขณะนี้สามารถผลิตหมอนยางพาราได้แล้ว มีกำลังการผลิตวันละ 300-500 ใบ โดยในงานวันยางพาราและกาชาดจังหวัดบึงกาฬ 2560 วันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ นายวิษณุเครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานในการฉีดหมอนยางเป็นคนแรก

ขณะเดียวกัน อบจ.บึงกาฬ จะโชว์ถนนที่ราดด้วยน้ำยางพารา ระยะทาง 2.5 กิโลเมตรงบประมาณ 2.95 ล้านบาท แต่เบื้องต้นจะราดก่อน 400 เมตร เนื่องจากติดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และหากได้ผลดี อบจ.บึงกาฬจะเป็นต้นแบบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นทำตาม เพราะนอกจากจะได้ถนนที่แข็งแรงทนทานแล้ว ยังเป็นการระบายยางของเกษตรกรออกสู่ตลาดอีกด้วย

สำหรับงานยางพาราฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่16-22 กุมภาพันธ์นี้ นอกจากจะมีบูทจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ แล้ว ยังจะมีการสาธิตวิธีการซื้อขายน้ำยางสดให้กับเกษตรกรบึงกาฬด้วย เพราะในอนาคตชาวสวนยางบึงกาฬสามารถนำน้ำยางสดมาขายให้กับชุมนุมสหกรณ์ยางบึงกาฬ เพื่อนำไปแปรรูป ถือเป็นก้าวสำคัญในการพึ่งตนเองของเกษตรกรจังหวัดหนุน 193 ล้านสร้าง 5 รง.

นอกจากนี้ ล่าสุดยังได้รับอนุมัติงบประมาณกลุ่มจังหวัด จำนวน 193.7 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา จำนวน 5 แห่ง บนพื้นที่ 37 ไร่ บ้านตาลเดี่ยว ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จังหวัดบึงกาฬ ประกอบด้วย1.โรงงานแปรรูปหมอนยางพารา มีกำลังการผลิต 6,000 ใบ/วัน ใช้น้ำยางสด 30 ตัน/วัน 2.โรงงานแปรรูปที่นอนยางพารา กำลังการผลิต 100 ผืน/วัน รวมใช้น้ำยางสด 40 ตัน/วัน 3.โรงงานแปรรูปยางแผ่นรมควัน ใช้น้ำยางสดประมาณ 15 ตัน

4.โรงงานแปรรูปน้ำยางข้น และ 5.โรงงานแปรรูปยางลูกขุน ใช้ยางแผ่นมาอัดเป็นก้อน ซึ่งจะมีความต้องการน้ำยางสดในการแปรรูปทั้งหมดวันละประมาณ 85 ตัน/วัน คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะสามารถจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างได้


แปรรูปเพิ่มมูลค่า – ชาวสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ 95% ผลิตยางก้อนถ้วยเป็นหลัก โดยมีพื้นที่เปิดกรีดแล้ว 7 แสนไร่ จากพื้นที่ปลูกประมาณ 1 ล้านไร่ มากที่สุดของภาคอีสานล่าสุดชุมนุมสหกรณ์ยางบึงกาฬอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อก่อสร้างโรงงานแปรรูปยาง 5 ผลิตภัณฑ์

เร่งพัฒนาเกษตรกรบึงกาฬ 4.0

ด้านนายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ตนมาเป็นผู้ว่าฯบึงกาฬได้เพียง 4 เดือน แต่เห็นศักยภาพของเกษตรกรรมมีมาก โดยเฉพาะยางพารา แต่เกษตรกรยังเป็นเกษตรกร 1.0 จึงต้องขยับขึ้นให้ได้เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจในประเทศ โดยได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณกลุ่มจังหวัดเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นโรงงานแปรรูปจึงเป็นเรื่องสำคัญ ล่าสุดมีโครงการผลิตหมอนยางพารานาโนโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นของหมอนที่รุนแรง

“หลังจากนี้ไม่เพียงการแปรรูปหมอน ที่นอน หรือรองเท้าแตะ ที่นักลงทุนอินเดียสนใจแล้ว แต่ต้องนำไปสู่การผลิตยางรถยนต์คุณภาพระดับยุโรป หรืออเมริกา ที่ต้องเกิดขึ้นในจังหวัดบึงกาฬ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เป็นคนบึงกาฬ 4.0 ต่อไป”

ตั้งเป้าโมเดลศูนย์กลางแปรรูปยาง

นายไชยา วรสิงห์ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์ยางบึงกาฬ กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬต้องลงทุนสร้างโรงงาน เพราะชาวสวนยาง 95% ผลิตยางก้อนถ้วย และเจอปัญหาพ่อค้าที่มารับซื้อเป็นการตั้งราคาโดยไม่ได้วัดค่าดีอาร์ซี (การหาค่าเปอร์เซ็นต์

เนื้อยางแห้ง) ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถขายได้ในราคาที่แท้จริง จึงพยายามผลักดันให้ชาวบ้านขายน้ำยางสด หรือยางแผ่นรมควัน โดยหลังจากนี้ สถาบันวิจัยยางจะมาอบรมการผลิตยางแผ่นรมควันที่ได้มาตรฐาน GMP และฝึกการวัดค่าดีอาร์ซีเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้า หรือสามารถนำมาขายให้กับชุมนุมสหกรณ์ยางบึงกาฬได้

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬยังได้ตั้งเป้าหมายให้บึงกาฬเป็นศูนย์กลางการแปรรูปยางพาราแห่งประเทศไทย โดยชุมนุมสหกรณ์จะเป็นโมเดลในการทำทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ รับซื้อน้ำยางสด หรือยางแผ่นรมควัน กลางน้ำ คือ ผลิตน้ำยางข้น และปลายน้ำ มีโรงงานหมอน ที่นอน ซึ่งได้ทำสัญญากับกลุ่มรับเบอร์ วัลเล่ย์ จากเมืองชิงเต่า ประเทศจีน ในการดำเนินการหาตลาด อีกทั้งยังได้รับนโยบายจากผู้ว่าฯ ให้บึงกาฬเป็น 4.0 ด้วยการนำยางแห้งไปผลิตรองเท้าบูต พื้นสนามฟุตซอล และยางล้อรถเข็น เป็นต้น