ฮอตต่อเนื่อง! แห่ขอลงทุนภาคเหนืออุตฯดิจิทัล-เกษตรนำโด่ง

ลงทุนภาคเหนือตอนบนยังฮอต แห่ขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ 150 ราย เงินลงทุนกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ปักฐานเชียงใหม่-ตาก กว่า 100 โครงการอุตฯเกษตร ดิจิทัล ซอฟต์แวร์ การ์เมนต์ผุดพรึ่บ เผยธุรกิจสตาร์ตอัพมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น

นางอรพิน สวัสดิ์พานิช ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในปี 2559 การส่งเสริมการลงทุนภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด มีจำนวนโครงการขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้น 127% โดยมีจำนวน 150 โครงการ เทียบกับปี 2558 ที่มีจำนวน 66 โครงการเท่านั้น ขณะที่เงินลงทุนในปี 2559 ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ราว 61% มีมูลค่า 18,015 ล้านบาท เทียบกับปี 2558 เงินลงทุนมีจำนวนเพียง 11,173 ล้านบาท ซึ่งโครงการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่มีมากถึง 49 โครงการ แต่จำนวนเงินลงทุนไม่มากนักเพียง 565 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มีจำนวน 27 โครงการ แต่เงินลงทุนมากถึง 5,286 ล้านบาท

สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ เงินลงทุน 127 ล้านบาท กิจการคัดคุณภาพข้าว เงินลงทุน 270 ล้านบาท กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ เงินลงทุน 53 ล้านบาท กิจการคัดคุณภาพเมล็ดกาแฟ เงินลงทุน 133 ล้านบาท กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร 13 โครงการ เงินลงทุน 3,346 ล้านบาท กิจการผลิตน้ำมันรำข้าวดิบและน้ำมันมัสตาร์ด เงินลงทุน 340 ล้านบาท กิจการผลิตอาหารสัตว์ เงินลงทุน 825 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมดิจิทัลมีการลงทุนจำนวนมากถึง 49 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นกิจการในหมวดพัฒนาซอฟต์แวร์

ทั้งนี้ โครงการที่คนไทยถือหุ้นจำนวน 106 โครงการ คิดเป็น 71% ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด มีมูลค่าเงินลงทุน 10,909 ล้านบาท ส่วนการลงทุนที่เป็นชาวต่างชาติ 33 โครงการ คิดเป็น22% ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริม มีมูลค่าเงินลงทุน 6,351 ล้านบาท

นางอรพินกล่าวว่า โครงการลงทุนยังกระจุกตัวอยู่ในภาคเหนือตอนบนมากที่สุด โดยคำขอรับการส่งเสริมมีสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด 82 โครงการ หรือคิดเป็น 55% ของจำนวนโครงการทั้งหมด มีเงินลงทุนเกิดขึ้นในพื้นที่เชียงใหม่ 2,713 ล้านบาท หรือ 15% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นโครงการในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ รองลงมาคือ จังหวัดตาก จำนวน 23 โครงการ เงินลงทุน 3,799 ล้านบาท ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอแม่สอด อาทิ อุตสาหกรรมการ์เมนต์

ผลิตภัณฑ์พลาสติก และกระเป๋า ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย และมีต่างชาติ 3 รายคือ ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่มีทิศทางการขยายตัวที่ดีมากคือ กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งในปี 2559 มีคำขอรับการส่งเสริม 6 โครงการ เงินลงทุน 46 ล้านบาท ได้แก่ กิจการศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม (Innovation IncubationCenter) ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับและบ่มเพาะสตาร์ตอัพ จำนวน 5 โครงการ เงินลงทุน 41 ล้านบาท โดยการลงทุนอยู่ในเชียงใหม่ทั้งหมด คาดว่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในปี 2559 จะได้รับอนุมัติการส่งเสริมทั้งหมด และน่าจะเริ่มมีการลงทุนราวปลายปี 2560 หรืออย่างช้าต้นปี 2561

ขณะที่ในปี 2559 ก็มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในภาคเหนือ จำนวน 115 โครงการ มูลค่าการลงทุน 34,495 ล้านบาทเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 63 โครงการมูลค่าลงทุน 17,110 ล้านบาท อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม