จัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน พันธกิจหลักเมืองพิษณุโลก

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก เปรียบเสมือนหน่วยงานที่ย่อแบบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงมา เพื่อบริหารจัดการในส่วนของจังหวัดอีกทอด วิสัยทัศน์ พันธกิจ หรือนโยบาย ในการพัฒนาการเกษตร จึงไม่แตกต่างจากต้นกระทรวงหลักนัก

คุณจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก รับหน้าที่และบทบาทแทนพ่อเมืองพิษณุโลก ในการให้ข้อมูลแผนพัฒนาการเกษตรของจังหวัดพิษณุโลก

คุณจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก

เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก ให้ข้อมูลถึงแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดพิษณุโลก (พ.ศ. 2560-2564) ว่า เป้าประสงค์หลักการพัฒนา คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรให้ตอบสนองความต้องการของตลาด สร้างความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม สามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่ายกับภายนอกอย่างเข้มแข็ง และจัดการทรัพยากรทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและยั่งยืน

ทั้งยังเน้นเรื่องของการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพปลอดภัย และให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ข้าว สินค้าเกษตรที่สำคัญในฤดูกาล

สัดส่วนโครงสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร จังหวัดพิษณุโลก พบว่า การเพาะปลูกพืชคิดเป็น ร้อยละ 81 ของโครงสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) หรือราว 17,905 ล้านบาท การเพาะปลูกพืชส่วนใหญ่ เป็นข้าวนาปี นาปรัง มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ประมาณ 27 เปอร์เซ็นต์ ยางพารา สัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ มันสำปะหลัง สัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยโรงงาน สัดส่วน 7-8 เปอร์เซ็นต์

ความเข้มแข็งของเกษตรกรในการรวมกลุ่ม

ในภาคปศุสัตว์ คิดเป็นร้อยละ 10 ของ GPP หรือราว 1,989 ล้านบาท

ภาคบริการเกษตรและป่าไม้ คิดเป็นร้อยละ 7 ของ GPP หรือราว 1,548 ล้านบาท

สำหรับภาคประมง คิดเป็นร้อยละ 3 ของ GPP หรือราว 663 ล้านบาท

คุณจิตติศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญในช่วงฤดูกาลไตรมาส 2 ปี 2562 ของจังหวัด แบ่งเป็นแต่ละสาขา ดังนี้

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอเนินมะปราง อำเภอวังทอง และอำเภอวัดโบสถ์

สาขาพืช ได้แก่ ข้าวนาปรัง มีปริมาณ 270,718 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 237,064 ตัน) หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.2 เนื่องจากสถานการณ์ราคาดี จูงใจให้เกษตรกรในพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานขยายพื้นที่ปลูก ประกอบกับปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวย ไม่พบการระบาดของโรคและแมลงมากนัก และระบบการบริหารจัดการน้ำทั่วถึง มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีปริมาณ 31,499 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 28,880 ตัน) หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.1 เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมการผลิตภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐฯ ประกอบกับสถานการณ์ราคาค่อนข้างดี ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม

กล้วยตากบางกระทุ่ม สินค้าจีไอ

ผลผลิตอ้อยโรงงาน มีปริมาณ 260,632 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 270,672 ตัน) หรือลดลง ร้อยละ 3.7 เนื่องจากสถานการณ์ราคาไม่ค่อยดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรบางรายปรับเปลี่ยนไปผลิตพืชที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง

ผลผลิตมันสำปะหลัง มีปริมาณ 33,350 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 31,707 ตัน) หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.2 เนื่องจากราคาปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต ประกอบกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยปรับเปลี่ยนมาปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น

ผลผลิตยางพารา มีปริมาณ 9,252 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 8,071 ตัน) หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.6 เนื่องจากอายุเฉลี่ยของต้นยางส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 12-15 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ให้ผลผลิตสูง ทำให้ผลผลิตต่อไร่และปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น

ตลาดกล้วยตากบางกระทุ่ม เป็นตลาดหลักในเมือง

ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ มีปริมาณ 1,346 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 2,713 ตัน) หรือลดลง ร้อยละ 50.4 เนื่องจากสภาพภูมิอากาศผันผวนและไม่เอื้ออำนวยในแต่ละช่วงระยะเวลาของการติดดอกออกผล บางพื้นที่พบเพลี้ยแป้งระบาด ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงค่อนข้างมากในทุกพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ อำเภอเนินมะปราง อำเภอวังทอง และอำเภอวัดโบสถ์

ฤดูแล้งยาวนานที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาการปลูกพืช

สาขาปศุสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ มีปริมาณ 3,920 ตัว เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 3,882 ตัว) หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.0 เนื่องจากรัฐบาลดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ประกอบกับแม่พันธุ์โคเนื้อของเกษตรกรในพื้นที่ให้ลูกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคายังไม่ดีนัก

ผลผลิตสุกร มีปริมาณ 71,054 ตัว เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 71,079 ตัว) หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.1 เนื่องจากสถานการณ์ราคาปรับตัวดีขึ้น แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ขยายการผลิต เพราะการขยายฟาร์มต้องลงทุนทางด้านการจัดการระบบมาตรฐานฟาร์มเพิ่มด้วย โดยแนวโน้มการผลิตจะเข้าระบบฟาร์มเปิดมากขึ้น ในขณะที่เกษตรกรรายย่อย (หมูหลังบ้าน) จะเลิกผลิต เพราะไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคากับการเลี้ยงแบบฟาร์มใหญ่ได้

พืชผักสวนครัวปลอดสาร สินค้าเด่นอีกชนิดของจังหวัด

ผลผลิตไก่เนื้อ มีปริมาณ 1,681,252 ตัว เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 1,664,605 ตัว) หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.0 เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ผลิตในรูปแบบฟาร์มพันธสัญญาไม่ขยายการผลิตเพิ่ม เพราะแม้ความต้องการบริภาคยังมีต่อเนื่อง ในขณะที่สถานการณ์ทรงตัว

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะราคาค่อนข้างดี

สาขาประมง ผลผลิตปลาเพาะเลี้ยงและปลาที่จับได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีปริมาณ 2,395 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 2,2999 ตัน) หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.2 จำแนกเป็นปลาที่จับได้ตามธรรมชาติ ที่มีปริมาณมากถึง 1,068 ตัน เพิ่มขึ้นมากถึง ร้อยละ 61.8 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (660 ตัน) เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่ปลาครบอายุเหมาะแก่การจับ หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนพันธุ์ปลาปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ภายใต้โครงการต่างๆ ในช่วงกลางปี 2561 ในขณะที่ปลาเพาะเลี้ยง มีปริมาณ 1,327 ตัน ลดลงร้อยละ 19.0 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่าน (1,639 ตัน) เนื่องจากอุณหภูมิสูงเกือบทั้งปี ช่วงฤดูแล้งยาวนาน เกษตรกรเกรงว่าปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอ และระบบนิเวศอาจไม่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงลดปริมาณการเพาะเลี้ยง

ผลผลิตสัตว์น้ำลดลง เนื่องจากผลกระทบจากช่วงฤดูแล้งยาวนาน

คุณจิตติศักดิ์ ระบุถึงแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ของจังหวัดพิษณุโลกในภาพรวม ว่า ความผันผวนของสภาพอากาศ ฤดูแล้งที่รุนแรงและยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อการผลิตทางการเกษตร เช่น ผลผลิตลดลงจากโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดจากภาวะภัยแล้ง (หนอนกระทู้ทำลายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว) การลดปริมาณการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร (ปลานิลกระชัง การเลี้ยงปลาในบ่อดิน ฯลฯ) การปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นพืชใช้น้ำน้อย ส่วนสถานการณ์ด้านราคาสินค้าเกษตร ไม่จูงใจต่อการขยายการผลิต และภาครัฐยังคงดำเนินนโยบายการเกษตร เพื่อปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนการผลิตทางการเกษตร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

มะม่วงน้ำดอกไม้ ยังไม่แก่จัด

กล่าวโดยสรุป คือ ผลผลิตสินค้าเกษตรมีการขยายตัว ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาพืช ซึ่งเป็นสาขาการผลิตที่สำคัญ ส่วนดัชนีราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ระดับ 98.5 ขยายตัวร้อยละ 28.8 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง มะม่วงน้ำดอกไม้ และสุกร ส่งผลให้รายได้ดัชนีเกษตรกรอยู่ที่ระดับ 112.1 ขยายตัวร้อยละ 29.1 ทีเดียว