ภาคประชาชนจับมืออดีตข้าราชการเกษตรตั้งศูนย์ปฎิบัติการอาสาสมัครฯ แก้ปัญหาภาคเกษตรหนุนการทำงานภาครัฐ.

ภาคประชาชนประสานอดีตข้าราชการเกษตรตั้งศูนย์ปฎิบัติการอาสาสมัครช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกรภาคประชาชน.(ศอพก.)เดินหน้าแก้ปัญหาภาคเกษตรหนุนการทำงานภาครัฐ

นายอภิชาติ พงศ์ศรีหดุลชัย อดีตอธิบดีกรมการข้าว ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์ปฎิบัติการอาสาสมัครช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกรภาคประชาชน (ศอพก. ) กล่าวภาคหลังการเปิดศูนย์ปฎิบัติการฯ อย่างเป็นทางการที่โรงเรียนข้าวและชาวนา กรมการข้าว บางเขน ว่า จากกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการแข่งขันภาคการเกษตรตามบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก เกษตรกร นับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ และได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบบการบริหารจัดการเชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร นับเป็นกุญแจสำคัญ ควบคู่กับโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ การสื่อสารและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สำคัญ ควบคู่ไปกับปัจจัยการผลิตและแหล่งทุนในการดำเนินกิจการต่างๆ

นายอภิชาติ พงศ์ศรีหดุลชัย

ขณะเดียวกันภาคเกษตรยังเผชิญปัญหาภัยคุกคามทางธรรมชาติหรือภัยพิบัติต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่บั่นทอนความรู้สึก และกำลังใจของกลุ่มเกษตรกรอย่างมาก  แม้ว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจะมองเห็นปัญหาของภาคเกษตรและเกษตรกรว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรมาโดยตลอด แต่ยังมีเกษตรกรบางส่วนที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพเท่าที่ควร ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเสริมความมั่นคงและเข้มแข็งแก่เกษตรกรได้คือ “หลักการพึ่งพาตนเอง“ ที่เป็นไปอย่างเหมาะสมภายใต้การสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ปัญหาที่เกิดขึ้นตนเห็นว่า น่าจะมีขบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรจากภาคประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคเกษตรมากยิ่งขึ้น จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรในอนาคต ตนจึงเป็นแกนนำรวมกลุ่มภาคประชาชน ภายใต้ชื่อ “ศอพก.” เพื่อเป็นศูนย์กลางการร่วมแรงร่วมใจของเหล่าอาสาสมัครที่มุ่งมั่นและเสียสละที่จะเข้ามาทำงานเพื่อครอบครัวเกษตรกร เพื่อเติมเต็มการทำงานของภาครัฐและเป็นกระจกสะท้อนปัญหาหรือความเดือดร้อนของเกษตรกรแบบฉับพลัน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในรูปแบบ social online

รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระบบนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำด้านเกษตร ผ่านกระบวนการในรูปแบบสมาชิกอาสาสมัครและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในแต่ละด้านเพื่อร่วมกันช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยมีตัวแทนจากประชาชน เกษตรกร รวมทั้งข้าราชการบางส่วน รวมตัวกันขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรของไทยโดยมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

  1. เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการประสานความช่วยเหลือ และติดตามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรให้เกิดผลสัมฤทธิ์
  2. เป็นที่พึ่ง และรับปรึกษาปัญหาต่างๆ ของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ
  3. ประสาน เผยแพร่ ถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรมด้านการผลิต
  4. เฝ้าติดตาม สนับสนุน เสนอแนะแนวนโยบายการช่วยเหลือ และพัฒนาเกษตรกรต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ในอนาคต ศูนย์แห่งนี้ จะเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและประสานกับภาครัฐ เพื่อพัฒนาภาคเกษตรในทุกมิติด้วย