ผู้เขียน | ธงชัย พุ่มพวง |
---|---|
เผยแพร่ |
เพกาต้นเตี้ย เป็นพืชในตระกูลแคหางด่าง มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ที่มาเลเซีย หรือที่จังหวัดนราธิวาส เรียก เบโด ภาษาทางเหนือเรียก มะลิ้นไม้ หรือมะลิดไม้ จังหวัดเลยเรียก หลิ่นไม้ ลิ้นฟ้า
เพกา เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ มีทั้งต้นสูงและต้นเตี้ย สายพันธุ์เพกาที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรฉะเชิงเทรา ปลูกทดสอบ มีลักษณะเด่นคือ ต้นเตี้ย ให้ผลผลิตเร็ว ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปักชำ และการชำราก ต้นโตเต็มที่ สูงเพียง 4-5 เมตร เก็บฝักอ่อนได้ง่าย ฝักมีขนาดใหญ่และยาว มีดอกและติดฝักได้เร็ว ปลูกประมาณ 6-8 เดือน ก็เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว
เพกา เป็นพืชอาหารในตำรายาแผนโบราณของจีน ระบุสรรพคุณ ผลหรือฝักของเพกา มีสรรพคุณแก้อักเสบ ลดไข้แก้ปวด มีสารป้องกันโรคภูมิแพ้ มีรายงานผลการวิจัยจากหลายแหล่งระบุว่า การแสดงฤทธิ์ของเพกาสารสกัดจากเปลือก ราก มีฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะ ป้องกันเยื่อบุทางเดินอาหาร ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ตลอดจนช่วยบรรเทากรดไหลย้อนหลอดอาหารและหลอดอาหารส่วนบน และมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง
เพกา จัดเป็นพืชสมุนไพรประเภท 2 ตามตำรับแพทย์แผนไทย ทุกส่วนมีสรรพคุณใช้รักษาและป้องกันโรคได้ เช่น เปลือกต้น มีรสฝาดเย็นขมเล็กน้อย ใช้ตำผสมกับสุรา ทาหรือพ่นตามตัวสตรีที่ทนต่อการอยู่ไฟไม่ได้ ทำให้หนังชา สมานแผล ทำให้น้ำเหลืองปกติ ดับพิษโลหิต ฝักแก่มีรสขม แก้ร้อนในกระหายน้ำ ฝักอ่อน รสขมร้อน ช่วยขับลม ผายลม เมล็ดแก่ รสขม ช่วยระบายท้อง ราก ช่วยบำรุงธาตุ ช่วยให้เกิดน้ำย่อยอาหาร แก้ท้องร่วง ฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้บวมอักเสบ ด้วยที่เพกาเป็นพืชพื้นบ้านที่สามารถนำมารับประทานในชีวิตประจำวัน และให้ประโยชน์ด้านการรักษาโรคตามภูมิปัญญาชาวบ้าน
พื้นที่ปลูกเพกาต้นเตี้ย ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบมากทางตะวันออกเฉียงเหนือ มีทั้งพันธุ์ต้นสูงและพันธุ์ต้นเตี้ย การเจริญเติบโตของต้นเพกาขึ้นอยู่กับปัจจัยการเจริญเติบโตของพืชหลายอย่างที่แตกต่างกัน พันธุ์เพกาต้นเตี้ยที่ปลูกในพื้นที่ใกล้เคียงกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ทำการศึกษาสภาพดินและสิ่งแวดล้อม และแหล่งปลูกที่เหมาะสม ปัจจุบัน เพกาต้นเตี้ย กำลังได้รับความนิยมปลูก เพราะปลูกได้บนที่ดอนหรือพื้นที่ใช้น้ำน้อย อีกทั้งพื้นที่รอบๆ ศูนย์และบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ดอน ถ้าหากลักษณะดินเป็นดินทราย ควรมีการปรับปรุงบำรุงดินเสียก่อน
คุณสมเกียรติ์ คุ้มกัน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ประจำศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา ชี้แจงว่า ศูนย์ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการปลูกเพกาต้นเตี้ยบนที่ดอน ใช้ระยะปลูก 4×4 เมตร เป็นแถวยาว 60 เมตร เตรียมหลุมปลูก 50×50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม 10 กิโลกรัม ต่อหลุม เมื่อต้นเพกาอายุได้ 1 เดือน ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 จำนวน 200 กรัม และปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม ต่อต้น โดยการหว่านรอบโคนต้น ในครั้งต่อไปใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 จำนวน 200 กรัม ร่วมกับปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม ต่อต้น เมื่อผ่านไป 3 เดือน จำเป็นต้องกำจัดวัชพืช หลังจากนั้นเป็นเวลา 8 เดือน เพกาต้นเตี้ยเริ่มให้ผลผลิต
จากนั้นจึงเริ่มทดสอบการขยายพันธุ์ ด้วยการตัดรากมาเพาะชำ ผลปรากฏว่าการชำรากได้ผลดีมาก จำนวนรากออกมาก ซึ่งการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการชำราก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะขยายพันธุ์เพกาต้นเตี้ยที่เหมาะสม อีกทั้งเป็นการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง
สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรฉะเชิงเทรา โทร. 081-683-9619
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก