เลี้ยงกบพื้นเมืองแนวใหม่ ขยายพันธุ์นอกฤดู 3 เดือน จับขายได้

เลี้ยงกบพื้นเมืองแนวใหม่ โตเร็ว ขายไว ตามแนวทางของ สมเกียรติ์พันธุ์ปลา ถ่ายทอดสู่นักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ลำปาง และผู้สนใจทั่วไป

อาจารย์สมเกียรติ์ ตันตา อาจารย์ประจำวิชาการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ลำปาง เล่าให้ฟังว่า ตนเองนั้นเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พิษณุโลก หรือเกษตรบ้านกร่าง รุ่นที่ 38 แล้วศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยพะเยา บรรจุเข้ารับราชการที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ลำปาง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ทำหน้าที่สอนวิชาประมงมาโดยตลอด พร้อมกับทำงานส่วนตัวด้วยการทำนาปลูกข้าวในพื้นที่ใกล้บ้าน พร้อมกับเลี้ยงวัวเนื้อไปพร้อมกัน จำนวน 13 ตัว ช่วงเวลา 3 ปี ผลปรากฏว่าประสบการขาดทุน 50,000 บาท

ต่อมามีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่ขี่รถจักรยานยนต์ไปในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง รถจักรยานยนต์ของตนเองเกิดยางรั่ว จึงนำไปปะยางที่ร้านใกล้เคียง ขณะนั่งรอการปะยางอยู่นั้น ได้เห็นสมาชิกในบ้านของช่างปะยาง หิ้วถังน้ำที่มีกบอยู่ภายในถังน้ำจำนวนมาก จึงสอบถามว่าที่หลังบ้านช่างปะยางเลี้ยงกบด้วยหรือ ได้รับคำตอบว่าได้เลี้ยงไว้เป็นอาชีพเสริมในครอบครัว จำนวน 4 บ่อ มีรายได้ปีละ 80,000 บาท

อาจารย์สมเกียรติ์ ตันตา (กลาง) และทีมงาน

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จึงเกิดแนวคิดว่า ตนเองก็เรียนจบมาทางด้านประมง อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาของนักศึกษาคณะประมง ทำไมไม่คิดจะเลี้ยงปลา จึงเกิดจุดประกายในการเลี้ยงกบด้วยตัวเองบ้าง

โดยเริ่มต้นจากหาซื้อที่ดินนาเพื่อขุดเป็นบ่อเพื่อจะเลี้ยงกบ มีเกษตรกรข้างเคียงบอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะเลี้ยงกบในนาข้าว พร้อมกับสร้างบ่อปูนซีเมนต์บนพื้นราบใกล้เคียง ในพื้นที่ 2 งาน ขอซื้อพันธุ์กบจากนักศึกษา ทดลองเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จ ในปี 2551 จึงเริ่มขยายพื้นที่ฟาร์มออกไปเป็น 1 ไร่เศษ สร้างบ่อปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นอีก รวมเป็น 23 บ่อ บ่อดิน 16 บ่อ

อาจารย์สมเกียรติ เล่าต่อว่า การเลี้ยงกบนั้นจะใช้กบนาพื้นเมือง หรือกบจาน เพราะคนนิยมบริโภคมากกว่ากบพันธุ์อื่น วิธีการเลี้ยงง่าย การเลี้ยงกบให้ประสบผลสำเร็จนั้น หลังจากผสมพันธุ์กบเสร็จแล้ว จะต้องนำลูกอ๊อดลงเลี้ยงในบ่อดินที่มีระดับน้ำประมาณ 30-40 เซนติเมตร เป็นเวลา 15 วัน เพื่อให้ลูกอ๊อดมีการพัฒนาการได้เร็ว ไม่ต้องถ่ายน้ำในบ่อดิน จากนั้น 15 วัน แล้วจึงย้ายลูกอ๊อดมาเลี้ยงไว้ในบ่อซีเมนต์ มีระดับน้ำ 5-7 เซนติเมตร พร้อมกับหาวัสดุมาวางไว้ในบ่อ จะเป็นเศษไม้ ทางไม้ไผ่ ฯลฯ

หว่านปูนขาวก่อนปล่อยน้ำเข้าสระ

แต่ฟาร์มนี้จะใช้แผ่นพลาสติกที่เหลือใช้จากโรงงานตัดรองเท้าแตะ เพราะใช้งานได้ในระยะยาว ราคาถูก สาเหตุที่ใช้วางบนระดับผิวน้ำนั้น ลูกอ๊อดขนาดเล็กจะหายใจทางเหงือก จนกว่าขาหน้าจะเริ่มงอกจึงจะหายใจทางปอด ระยะนี้เองลูกอ๊อดจะขึ้นมาเกาะอาศัยที่บนแผ่นพลาสติกนี้ เลี้ยงในบ่อซีเมนต์อีกประมาณ 15 วัน ก็สามารถจับขายได้ ราคาตัวละ 1-4 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของลูกกบและช่วงเวลา

ระบบน้ำและไฟฟ้าภายในถัง

ในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่เกษตรกรทำนา ลูกกบจะหายาก จึงมีราคาแพงกว่าปกติ ผู้ที่ซื้อไปเลี้ยงจะใช้เวลาเพียง 3 เดือน ก็สามารถจับขายได้ ตามปกติแล้ว การขยายพันธุ์ตามธรรมชาตินั้น กบจะผสมพันธุ์ปีละครั้ง แต่ที่คณะประมง มทร. ล้านนา ลำปาง ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมไฟฟ้า สร้างถังพลาสติกสีดำ ภายในถังจะมีระบบส่งน้ำแบบพ่นหมอก ติดตั้งหลอดไฟฟ้า จำนวน 6 ถัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขยายพันธุ์นอกฤดู หรือทำการขยายพันธุ์กบให้เร็วขึ้น จะช่วยให้มีกบจำหน่ายก่อนที่กบในธรรมชาติจะเข้าสู่ตลาด

ลูกกบที่กำลังเจริญพันธุ์ในบ่อซีเมนต์

ทั้งนี้ อาจารย์สมเกียรติ์ ยังได้เชิญชวนให้เกษตรกรเลี้ยงกบพื้นเมืองให้มากขึ้น หรืออาจจะทดลองเลี้ยงปลาหลายชนิด ในฟาร์มมีลูกปลาจำหน่าย เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลาดุกรัสเซีย ปลาตะเพียน ปลาไน ปลานวลจันทร์ ปลาหมอ ปลาช่อน ปลาสวาย ปลาจะละเม็ด ปลาบึก ปลากดคัง ปลาแรด ปลายี่สก ปลากระบอกสร้อย ปลากะโห้ ปลาจีน ปลากดเหลือง ปลาสลิด แต่ที่ในฟาร์มมีจำนวนมากคือ ลูกกบพื้นเมือง ด้วยสาเหตุว่าการเลี้ยงกบ จะมีรายได้มากกว่าทำนา

เปรียบเทียบได้คือ หากทำนาข้าว ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ได้ผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 10,000-20,000 บาท หากเลี้ยงกบขายพันธุ์กบ ในบ่อขนาด 6×12 เมตร ได้ลูกกบเฉลี่ย ประมาณ 50 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 300 บาท จะได้เงิน 15,000 บาท

สำหรับสมาชิกที่ได้ซื้อพันธุ์พันธุ์ปลา พันธุ์กบ ไปจากฟาร์มสมเกียรติพันธุ์ปลา จะได้รับการติดตาม ให้คำแนะนำถึงฟาร์มทุกขั้นตอน และในขณะนี้อาจารย์สมเกียรติ์กำลังจัดทำหนังสือแนะนำการเลี้ยงสัตว์น้ำแนวใหม่ เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ลำปาง และประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้นำไปศึกษาและสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

คณะวิศวกรรมไฟฟ้าคิดค้นระบบการผสมพันธุ์กบนอกฤดู

จากแนวทางส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงกบเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรายอื่น นำไปส่งเสริมการเลี้ยงเป็นอาชีพที่ทำรายได้เป็นอย่างดี มีรายได้แน่นอน จึงได้รับความสนใจจากผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เข้ามาติดตามชมถึงฟาร์ม อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจาก นายอำพล จินดาวงศ์ ประมงจังหวัดลำปาง ให้คำแนะนำทุกขั้นตอน สนใจศึกษาดูงานฟาร์มสมเกียรติ์พันธุ์ปลา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ 086-730-2101 หรือสอบถามและติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ที่ Face book : Takushi Tanta

บ่อเลี้ยงปลาภายใน มทร. ล้านนา ลำปาง
ขนาดของลูกกบที่พร้อมจะนำขึ้นเลี้ยงต่อในบ่อซีเมนต์
แม่กบพื้นเมือง พร้อมจะผสมพันธุ์
วิธีการจับลูกกบด้วยการลากอวน

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2564