การบริหารจัดการภาคการเกษตร ในสภาวะแห้งแล้ง ควรจะทำอย่างไร?

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสำหรับการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม มีการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ จะอย่างไรก็ตาม การเกษตรของเรามักเผชิญปัญหาภาวะฝนแล้ง และน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ จึงเกิดปัญหาตามมาหลายประการ

ผมอยากทราบว่า รัฐบาลไทยมีแนวทางจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ในมุมมองของคุณหมอเกษตร มองอย่างไรและจะหาทางออกให้กับภาคการเกษตรของเราอย่างไร ขอข้อเสนอแนะด้วยครับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวผมเอง และผู้อ่านอีกจำนวนมาก ผมจึงถือโอกาสขอบคุณคุณหมอเกษตรมาเป็นการล่วงหน้า แล้วผมจะติดตามอ่านคอลัมน์หมอเกษตรต่อไปครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
สุรเดช แสงสุขอุดม
นครสวรรค์

Photo by LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

ตอบ คุณสุรเดช แสงสุขอุดม

เรื่องเกี่ยวกับสภาวะทางภูมิอากาศ ผมขอนำข้อมูลจากผลงานวิจัยของ ดร. สมพร อิศรานุรักษ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพแวดล้อมพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ประเทศไทยในทุกๆ รอบ 10 ปี จะเกิดสภาวะแห้งแล้ง 4 ปี แล้งรุนแรง 2 ปี แล้งไม่รุนแรง 2 ปี น้ำท่วม 3 ปี และฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเป็นปกติเพียง 3 ปีเท่านั้น โดยใช้จำนวนลมพายุดีเปรสชั่นเป็นตัวชี้วัด ดังนี้

ปีใดที่พายุดีเปรสชั่นพัดเข้ามาในประเทศไทย 3 ลูก ฝนฟ้าจะเป็นปกติ หากน้อยกว่า 3 ลูก เกิดภาวะแห้งแล้ง แต่หากมากกว่า 3 ลูก จะเกิดภาวะน้ำท่วม ยิ่งพัดเข้ามาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ความรุนแรงจากน้ำท่วมย่อมเกิดขึ้นทันที ตัวอย่างเมื่อปี พ.ศ. 2554 พายุดีเปรสชั่นพัดเข้ามามากถึง 5 ลูก ความเสียหายเกิดขึ้นย่อมเป็นที่ประจักษ์ ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงที่สุดเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2485 จนทำให้ข้าวในที่ลุ่มภาคกลางสูญพันธุ์ไปแล้วก็มี หากนับเป็นวงจรก็จะอยู่ในรอบ 69 ปีพอดี ปัจจุบันนี้อาจมีการเบี่ยงเบนไปบ้าง เนื่องจากภาวะโลกร้อน แต่ธรรมชาติก็ยังคงดำรง ตราบใดที่น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่กว้างใหญ่ไพศาลที่เป็นแหล่งกักเก็บและปลดปล่อยพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์อย่างสม่ำเสมอไม่เสื่อมคลาย

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

กลับมามองภาคการผลิตการเกษตรของไทยเราบ้าง การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ต้องกลับมาทบทวนกันครั้งยิ่งใหญ่ โดยนำข้อมูลที่มีอยู่มากมาย (Big Data) มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาระดมสมองร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างใหญ่ อย่างนี้ไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอน

มองประเด็นปัญหาในภาพรวมให้ชัดเจน แล้วจัดลำดับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับสาขาอาชีพทางการเกษตร เพื่อหาวิธีการแก้ไข ผมขออนุญาตนำข้อมูลระดับครัวเรือนมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้

ข้าว มีพื้นที่เพาะปลูก 60.9 ล้านไร่ เกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำนา จำนวน 3.7 ล้านครัวเรือน ได้ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 27 ล้านตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 11.50 ล้านตันข้าวสาร และส่งออก 9.8 ล้านตันข้าวสาร (ข้อมูล ปี 2560, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ภาวะฝนแล้ง อาชีพการทำนาจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ในทางกายภาพและชีวภาพ ข้าว เป็นพืชที่ใช้น้ำเปลืองที่สุด แต่ตัวข้าวเองบริโภคน้ำจำนวนไม่มาก ที่สิ้นเปลืองมากคือ ใช้ในการรักษาอุณหภูมิในแปลงนา และที่สำคัญช่วยควบคุมปัญหาวัชพืช

Photo by MADAREE TOHLALA / AFP

ข้าวโพด พื้นที่เพาะปลูก 7.1 ล้านไร่ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 4.4 แสนครัวเรือน ผลผลิตรวม 4.6 ล้านตัน

มันสำปะหลัง พื้นที่เพาะปลูก 8.5 ล้านไร่ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 5.5 แสนครัวเรือน ผลผลิตรวม 32 ล้านตัน

อ้อย พื้นที่เพาะปลูก 9.5 ล้านไร่ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 3.3 แสนครัวเรือน ผลิตผลรวม 11 ล้านตัน

ยาง พื้นที่เปิดกรีด 18.8 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 4.4 ล้านตัน เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 1.4 ล้านครัวเรือน ปริมาณการส่งออกเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

ปาล์มน้ำมัน พื้นที่ให้ผลผลิต 4.2 ล้านไร่ ต้องนำเข้า 1.8 แสนตัน

มะพร้าว พื้นที่เก็บเกี่ยวได้ 1.1 ล้านไร่ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 2.6 แสนครัวเรือน

ลำไย พื้นที่เก็บผลผลิตได้ 1.0 ล้านไร่ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 2.3 แสนครัวเรือน

มะม่วง เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 2.1 ล้านครัวเรือน ผลผลิตรวม 3.1 ล้านตัน ส่งออก 7.1 หมื่นตัน และ กล้วยไม้ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 2.2 หมื่นครัวเรือน ผลผลิตรวม 5.0 หมื่นตัน ส่งออก 2.7 พันล้านบาท เป็นตัวอย่าง

ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องนำตัวเลขข้างต้นมาวิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาที่เกิดจากภาวะภัยแล้ง แล้วหาแนวทางและวิธีการชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างถูกต้อง และโปร่งใส อย่าให้เกิดเช่นเดียวกับในอดีตที่ผ่านมา นอกจากนี้ ต้องมีการอบรมวิธีการฟื้นฟูเกษตรกรผู้เสียหายอย่างเหมาะสมกับเกษตรกรในแต่ละสาขา ทั้งข้าว พืชไร่ พืชสวน ไม้ดอกไม้ประดับ การประมง และปศุสัตว์ หากร่วมมือกันทุกองค์กรอย่างจริงจังและจริงใจ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาวะภัยแล้งจะทุเลาเบาบางลง รัฐบาลได้เครดิตไปเต็มๆ