“วีรศักดิ์” สั่งทีมที่ปรึกษาฯ ลงพื้นที่อีสานช่วยสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อส่งออกโดยเอฟทีเอ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์) ลงพื้นที่สหกรณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ พบมีศักยภาพส่งออกไปตลาดต่างประเทศ แนะใช้โอกาสจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นใบเบิกทางส่งสินค้าโคเนื้อออกไปขาย หลังคู่ค้าลดภาษีนำเข้าให้ไทย ชี้ตลาดอาเซียน จีน มีโอกาสสูง

นายเชวงศักดิ์  เร่งไพบูลย์วงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่พบปะเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด ในวันที่ 23 กันยายน 2562 จังหวัดมุกดาหาร ว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์  (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล) มอบหมายให้ตนนำคณะผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีการทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเตรียมสมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรของไทยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ขยายตลาดสินค้าศักยภาพของสหกรณ์ออกสู่ต่างประเทศ

ซึ่งพบว่า สินค้าโคเนื้อของสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด เป็นสินค้าที่มีศักยภาพและมีการส่งออกไปต่างประเทศบ้างแล้ว แต่เป็นประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณใกล้เคียง อาทิ ลาว และเวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้ยังมีการเก็บภาษีนำเข้าเนื้อโคแปรรูปจากไทยอยู่ ซึ่งตนมองว่ายังมีช่องทางที่จะขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในประเทศที่ไทยทำ เอฟทีเอ ด้วย เช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นลาวและเวียดนาม ที่ไม่เก็บภาษีสินค้าโคเนื้อและผลิตภัณฑ์จากไทย ดังนั้น จึงต้องการให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จาก เอฟทีเอ ให้มากขึ้น และได้มอบหมายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ช่วยเร่งให้ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ต่อไป

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด จังหวัดมุกดาหาร เป็นศูนย์กลางการรวบรวมโคเนื้อเพื่อชำแหละแปรรูปเนื้อโคคุณภาพ ส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วประเทศ โดยปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิก 6,560 ราย มีสมาชิกที่เลี้ยงโคเนื้อ 3,181 ราย สหกรณ์ได้มีการเชื่อมโยงธุรกิจกับสหกรณ์ที่เป็นเครือข่ายผู้เลี้ยงโคขุนอีก 25 แห่ง ใน 15 จังหวัด ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ขยายธุรกิจการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนและมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์โคขุนที่ได้มาตรฐานสากล ประกอบกับมีสมาชิกผู้เลี้ยงโคเนื้อที่ส่งให้สหกรณ์เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน มีโคที่ขึ้นทะเบียนกว่า 4,200 ตัว ทำให้สหกรณ์สามารถวางแผนการผลิตได้ทั้งปี มีปริมาณการผลิตซากโค ได้เดือนละกว่า 270 ตัว ตัวละ 80,000 บาท ทำให้สหกรณ์สามารถส่งเนื้อโคขุนจำหน่ายให้กับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่าปีละ 3,000 ตัว โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายใน ปี 2565 สหกรณ์จะขยายธุรกิจ เพิ่มปริมาณการแปรรูปโคขุนเป็น 5,000 ตัว ต่อปี พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคขุน พันธุ์ชาโลเร่ส์ลูกผสม พันธุ์แองกัสและวากิล ลูกผสม ซึ่งจากการประเมินรายได้เกษตรกรที่เลี้ยงโคขุน 10 ตัว จะมีรายได้ประมาณ 8 แสนบาท ต่อปี

ทั้งนี้ สถิติการส่งออกโคเนื้อและผลิตภัณฑ์ของไทย ปี 2561 ส่งออกโคเนื้อ จำนวน 262,730 ตัว คิดเป็นมูลค่า 3,985.77 ล้านบาท เนื้อโคและผลิตภัณฑ์ ปริมาณ 104.01 ตัน คิดเป็นมูลค่า 50.89 ล้านบาท ราคาส่งออกโคมีชีวิตอยู่ที่ 15,170.59 บาท ต่อตัว เนื้อโคและผลิตภัณฑ์ 489.28 บาท ต่อกิโลกรัม โดยตลาดส่งออกสำคัญของโคมีชีวิต ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ส่วนเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และกัมพูชา เนื่องจากเป็นตลาดที่ไทยได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีภายใต้เอฟทีเอ