‘ลูกชิด’ มาจากต้น ‘ต๋าว’ ไม่ใช่ ‘ต้นจาก’ ปลูกนานกว่า 10 ปี ถึงได้กิน!

“ต๋าว” เป็นไม้ป่าชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อะเร็นกา พินนาตา (Arenga  pinnata Merr.) อยู่ในวงศ์ Palmae พวกเดียวกับมะพร้าว ต้นตาล หรือปาล์มต่างๆ ต้นต๋าวมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศอินเดีย

ต๋าว เป็นพืชดึกดำบรรพ์ตระกูลปาล์ม ลำต้นสูงตระง่าน ใบเป็นแพกว้างให้ความชุ่มเย็น ออกลูกเป็นทะลายใหญ่ ในแต่ละผลมีเมล็ดใสๆ เรียงชิดกันอยู่ 3 เมล็ด ด้วยเหตุนี้ คนจึงเรียกลูกต๋าวว่า “ลูกชิด” กว่าต้นต๋าวจะเติบโตจนออกลูกได้ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี และสามารถเก็บเกี่ยวผลได้เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น และที่สำคัญ พืชชนิดนี้ไม่สามารถปลูกได้ จะต้องขึ้นเองตามธรรมชาติ ในป่าดิบชื้นเท่านั้น

ต๋าวในพื้นป่า

ประเทศไทยจะพบต้นต๋าวมากที่สุดบริเวณพื้นที่ดินร่วนตามเชิงเขาที่อากาศชุ่มชื้น ในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดน่าน บริเวณผืนป่าที่มีความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งในอดีตในพื้นที่ดังกล่าวจะมีชาวลัวะอาศัยอยู่ มีการยังชีพด้วยการเข้าไปหาของป่าออกมาขาย หนึ่งในการดำรงชีพของชาวลัวะ เหล่านั้นก็คือ การเข้าไปเก็บลูกต๋าวมาขาย ซึ่งการเข้าไปเก็บต๋าวในป่าแต่ละครั้งนั้นใช้เวลาหลายวันเดินข้ามเขาหลายลูกกว่าจะได้ลูกต๋าวออกมาขาย

ไม่เพียงแต่ชาวลัวะที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เท่านั้นที่เข้าป่าไปเก็บผลต๋าวมาแปรรูปขาย คนไทยที่ว่างจากการทำการเกษตรหลายกลุ่มก็เริ่มเข้าป่าเก็บของป่าออกมาขาย ซึ่วรวมถึงต๋าวด้วย

 

พืชสารพัดประโยชน์ กินได้ ใช้ดี มีคุณค่า

ต๋าว จะมีลักษณะลำต้นตรง ขนาดโตกว่าต้นตาล สามารถใช้ประโยชน์จากทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นใบที่มีลักษณะเช่นเดียวกับมะพร้าว แต่โตและแข็งแรงกว่า นิยมนำมาใช้มุงหลังคากั้นฝาบ้าน ก้านใบ นำมาเหลารวมทำไม้กวาด เส้นใยที่ลำต้นใช้ทำแปรง ยอดอ่อนที่ขั้วหัวใช้กินแบบผักสด หรือดองเปรี้ยวเก็บไว้แกงส้มแกงกะทิ ส่วนผลนำเนื้อในเมล็ดมากินสดหรือนำไปเชื่อมน้ำตาล เพื่อให้ได้รสอร่อยขึ้น

ทะลายต๋าวขนาดใหญ่

ความสูงของต้นต๋าว สูงประมาณ 15-20 เมตร มีใบประมาณ 50 ทาง แต่ละทางมีความยาวประมาณ    6-10 เมตร ดอกของต้นต๋าวเป็นแบบสมบูรณ์เพศ คือ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน    ช่อดอกหนึ่งจะยาวประมาณ 2-3 เมตร ดอกต๋าวมีสีขาวขุ่น เมื่อโตเต็มที่จะออกดอกที่ละทะลาย เมื่อดอกเจริญกลายเป็นผลสุกแก่เต็มที่ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็จะเริ่มออกดอกทะลายใหม่ต่อไปอีก

ผลต๋าวจะมีน้ำยาง ถ้าถูกผิวหนังจะรู้สึกคัน ในการเก็บจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรสวมเสื้อแขนยาวหรือสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ใส่ถุงมือ ใส่แว่นกันน้ำยางเข้าตา

ผลต๋าวสด

การเก็บผลต๋าวนั้น จะตัดเฉพาะทะลาย ไม่โค่นล้มต้น ซึ่งการเก็บแต่ละครั้งนั้นจะต้องไปนอนค้างแรมอยู่ในป่าอย่างน้อย 2-3 คืน ในช่วงที่ฝนหยุดตก ส่วนในช่วงที่มีฝนจะหยุดการดำเนินการ เพราะไม่มีฟืนที่จะมาต้มลูกต๋าว ที่สำคัญฤดูนี้เป็นช่วงที่ต๋าวจะขยายพันธุ์

การจัดเก็บผลผลิตต๋าว ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งแต่ละครั้งต้องเดินทางไปในป่า เพื่อนำผลต๋าวที่ได้ขนาดมาต้มพอสุก ตัดขั้วผลแล้วหนีบเมล็ดออก โดยใช้เครื่องมือที่ผลิตเองในพื้นที่คล้ายเครื่องตัดเหล็กที่มีคันยก ในจำนวน 1 ผล จะมี 3 เมล็ด เฉลี่ย 2 ทะลาย จะได้ 1 ถัง (15 กิโลกรัม)

ผลต๋าวที่เก็บออกจากป่าส่วนใหญ่จะนำออกมาด้วยวิธีการต้มในน้ำเดือด ซึ่งจะต้มใกล้ๆ ต้นต๋าว ต้มจนเปื่อยนุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการบีบเอาเนื้อในออกมา ใช้มีดปาดส่วนหัวออกให้เห็นเนื้อข้างในสีขาวๆ จากนั้นก็เอาไม้หนีบเพื่อให้เนื้อขาวๆ เป็นเมล็ดหลุดออกมา นำไปล้างน้ำให้สะอาดและนำมากิน

แปรรูปขายในพื้นที่ เปิดตลาดสู่ภูมิภาค

ต๋าว คำพื้นเมืองทางภาคเหนือจะเรียกกันว่า มะต๋าว หรือ ต๋าว ส่วนทางภาคกลางจะเรียกว่า “ลูกชิด” ซึ่งใครที่เคยกินไอศกรีมที่ตักใส่ถ้วย หรือน้ำแข็งไสใส่เครื่อง ก็คงจะคุ้นและรู้จักกันเป็นอย่างดี

ต๋าว มะต๋าว หรือ ลูกชิด สามารถนำมาแปรรูปทำเป็นต๋าวแช่อิ่มอบแห้ง แยมต๋าว และต๋าวผสมน้ำเชื่อมบรรจุบีบ (ขนาดเท่าบีบหน่อไม้) ส่งขายตามท้องตลาดทั่วไป เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่จังหวัดน่าน ซึ่งปัจจุบันกำลังพยายามพลักดันให้เป็นสินค้าพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของจังหวัด

ผลต๋าว มะต๋าว หรือ ลูกชิด พร้อมบริโภค

การแปรรูปต๋าวแต่ะละครั้งจะต้องใช้เวลานาน ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน กว่าจะได้ผลผลิตที่พร้อมบริโภค ซึ่งนั้นก็หมายความว่าการที่จะได้เงินจากการขายต๋าวก็นานเช่นกัน เป็นเหตุผลทำให้ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่มีอาชีพเก็บต๋าวขายจะนิยมเก็บผลต๋าวสดหรือทำเป็นต๋าวตากแห้งส่งขายให้กับโรงงานแทนการนำมาแปรรูปขายเอง ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาและทำให้พวกเขาได้เงินจากการขายเร็วขึ้น

เก็บผลผลิตส่งโรงงาน แปรรูปสร้างรายได้

ชาวบ้านในพื้นที่จะเข้าป่าไปเก็บผลต๋าวมาแปรรูปและนำออกมาจำหน่ายขายตามท้องตลาดในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งในทุกๆ ปี ปริมาณและความต้องการของตลาดต๋าวได้เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น

ว่างจากการทำการเกษตรที่เป็นอาชีพหลัก ชาวบ้านก็มักจะพากันเข้าป่าไปเก็บต๋าวที่เป็นพืชเฉพาะถิ่นออกมาขายให้กับโรงงานแปรรูปต๋าวในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “หจก. วงศ์วิเศษ รุ่งเรือง น่าน” ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 73 หมู่ที่ 4 ถนนน่าน-พะเยา ตำบลไชยสถาน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นโรงงานแปรรูปต๋าวแห่งเดียวในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เป็นแหล่งรับชื้อพร้อมๆ กับออกรับชื้อผลต๋าวจากชาวบ้านในรูปแบบอบแห้งและรูปแบบสดทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน มาเป็นระยะเวลานาน

คุณประกาย วงศ์วิเศษ เจ้าของธุรกิจ หจก. วงศ์วิเศษ รุ่งเรือง น่าน เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวเป็นคนเชื้อสายจีน ในอตีดทำธุรกิจโรงสีข้าวควบคู่กับโรงงานแปรรูปต๋าว ซึ่งจะออกเดินป่า เก็บและรับชื้อจากชาวบ้าน เป็นธุรกิจของครอบครัวที่มีพี่น้อง พ่อและแม่ช่วยกันดูแลและบริหารจัดการ พอหลังจากแต่งงานแยกย้ายออกมามีครอบครัว ตนก็รับธุรกิจโรงงานแปรรูปต๋าวมาดูแลต่อจากพ่อแม่

“ประมาณ 4-5 ปี บริเวณพื้นป่าจังหวัดน่าน นับว่าเป็นแหล่งที่มีต้นต๋าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่สร้างมาเพื่อเป็นอาหารให้กับมนุษย์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ละแวกนั้น เมื่อถึงฤดูกาลก็จะเข้าป่าไปเก็บผลต๋าวออกมาขาย บางคนก็เก็บมาแปรรูปขายเอง บางคนก็เก็บผลสดออกมาขายให้กับโรงงานในตัวจังหวัด ซึ่งในสมัยนั้นก็คือโรงงานของผม ต๋าวที่รับชื้อ จะแบ่งออกเป็น 4 แบบด้วยกัน แต่ละแบบราคารับชื้อจะมีความแตกต่างกันออกไปตามคุณภาพและมาตรฐานของผล”

ต๋าวน้ำ เป็นต๋าวที่เก็บและต้มให้เปลือกนิ่ม ซึ่งต้องใช้เวลาสั้นๆ ก่อนที่จะนำมาส่งขายให้กับโรงงาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปขั้นต่อไป

ต๋าวแห้ง เป็นต๋าวที่เก็บและต้มให้เปลือกนิ่มระดับหนึ่ง นำไปทำให้แห้งก่อนส่งให้กับโรงงาน พอถึงโรงงานก็จะนำมาต้มอีกครั้งให้พองตัวและบีบเอาเนื้อด้านในออกมาทำเป็นต๋าวผสมน้ำเชื่อม

ต๋าวกะเทย เป็นต๋าวที่ไม่สมบูรณ์แบบ สังเกตได้จากจุกด้านบนของผลจะหายไป ราคาและคุณภาพก็จะตกลงมา

ต๋าวสี เป็นต๋าวที่มีผลสีเหลือง ต้องเอามาฟอกสีให้ขาวก่อนที่จะนำไปทำเป็นต๋าวผสมน้ำเชื่อม

นอกจากรับชื้อจากชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ยังออกตระเวนหาชื้อต๋าวจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ประเทศพม่า ประเทศเขมร และประเทศลาว มาแปรรูปส่งขาย

ในแต่ละปีโรงงานจะแปรรูปต๋าวได้เพียง 1 ครั้ง ซึ่งมีทิศทางสวนกันกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มทุกวัน ทำให้แต่ละปีปริมาณต๋าวที่แปรรูปจะขาดตลาด ราคาก็สูง ซึ่งบางปีต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบัน ต๋าว ในธรรมชาติเริ่มจะขาดแคลน มีจำนวนลดน้อยลงทุกที เพราะมีการเก็บลูกต๋าวมาขายกันมากขึ้น ต้นต๋าวในธรรมชาติเจริญเติบโตไม่ทัน ประกอบกับมีการตัดไม้ทำลายป่ากันมากขึ้น

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564