สำรวจ ‘กัญชา’ ในมุมหมอยาจาก ‘อภัยภูเบศร’

“กัญชาเป็นเหมือนวัฒนธรรม อยู่คู่กับชาติพันธุ์ และคนไทยมายาวนานมากแล้ว…”

“แต่กัญชาที่เรากำลังพูดถึง เวลานี้ เป็นเหมือนของใหม่ที่เรายังไม่รู้จักสรรพคุณมันดีพอ”

“กัญชาไม่ใช่ซุปเปอร์ฮีโร่ อย่างที่หลายคนพยายามปลุกปั้น แต่เป็นสมุนไพรที่ใช้กันปกติในครัวเรือน ช่วงเวลาหนึ่งจนกระทั่งหายไป เพราะถูกบัญญัติว่าเป็นยาเสพติด และกลับมาอีกครั้งในเวลานี้ ซึ่งกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ใหม่สำหรับคนไทย”

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร อธิบายถึงนิยามของ “กัญชา” ในแบบของนักสมุนไพรมือวางอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

“ที่บอกว่ากัญชาอยู่คู่กับชาติพันธุ์และคนไทยมานาน เพราะก่อนหน้านี้เคยไปอรุณาจัล ซึ่งเป็นดินแดนหนึ่งที่อยู่ใต้การปกครองของอินเดีย คนที่นั่นเรียกกัญชาว่ากัญชา ตามภาษาที่คนไทยเรียกกันนั่นแหละ นอกจากนี้ ชาวชนเผ่าต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และที่อยู่ชายขอบรอบๆ ที่อยู่ห่างไกลเกินกว่าที่กฎหมายจะเข้าไปควบคุมอย่างเคร่งครัดได้ ก็มีการใช้กัญชาเป็นพืชผักและยาสมุนไพรรักษาโรค ใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้” รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรระบุ

ส่วนที่บอกว่ากัญชาเป็นเหมือนวัฒนธรรมนั้น ภญ.สุภาภรณ์อธิบายว่า ความหมายก็คือ พืชสมุนไพรที่มีวิถีอันเป็นความเข้าใจของคนในสังคม ว่ามีหน้าที่อะไร ใช้ประโยชน์อะไร ใช้เกินความจำเป็นจะส่งผลเสียอย่างไร สมัยก่อนโน้น จึงมีน้อยคนมากที่จะติดกัญชา ถึงขั้นเมามายขาดไม่ได้ และสังคมในสมัยนั้นก็ไม่ได้ยอมรับสำหรับคนที่ติดกัญชา

สมัยก่อนเราเด็ดยอดอ่อนของต้นกัญชามาจิ้มน้ำพริก หรือหากจะแกงไก่สักหม้อ ก็เด็ดใบกัญชาใส่ลงไปสักใบสองใบ ช่วยเพิ่มรสชาติอาหาร สมัยก่อนเรียกยาหมูอ้วน ซึ่งคำว่าหมูอ้วนในตอนนั้น ไม่ได้หมายความว่า อ้วนไขมันเยอะเป็นโรคเหมือนในปัจจุบัน แต่หมายถึงความแข็งแรง

“ถามว่า ใส่ใบกัญชาลงไปในแกงหรือจิ้มกินกับน้ำพริกแล้ว จะมึนเมา นั่งหัวเราะทั้งวันหรือเปล่า ตอบเลยว่ามีน้อยมากเลยนะคะที่จะเป็นแบบนั้น อย่างที่บอกว่า คนใช้เขาทราบว่าควรจะใช้มากน้อยแค่ไหนถึงจะเกิดคุณ เกิดโทษ” ภญ.สุภาภรณ์ยืนยัน

ภญ.สุภาภรณ์ยังเสริมว่า สรรพคุณทางยาของต้นกัญชาที่ทราบกันดีก็คือ เป็นยาแก้ปวด แก้กระษัย รักษาอาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลียเรื้อรัง ช่วยเจริญอาหาร การนำกัญชามาปรุงเป็นยาในสมัยก่อนนั้น มีทั้งเอาไปต้ม อบ อังไฟ ส่วนการเด็ดยอดมากินนั้นก็เป็นเหมือนการกินสมุนไพร หรือพืชผักจิ้มน้ำพริกทั่วไป ไม่โดนความร้อนสรรพคุณทางยาจะไม่ค่อยปรากฏ

หากรู้สึกปวดเมื่อย ปวดตามเนื้อตัว หรือกระทั่งปวดฟัน การเอาใบกัญชามาต้มตามสัดส่วนสูตรปรุงยาก็จะสามารถบรรเทาอาการได้ โดยเวลานี้ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ระหว่างการรวบรวมตำรับยาแผนโบราณที่ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมอยู่ คาดว่ามีประมาณ 100 กว่าตำรับทีเดียว

สังคมทั่วไปเหมือนถูกตัดขาดจากกัญชาไปพักใหญ่ เมื่อมีกฎหมายออกมาระบุว่า กัญชาคือยาเสพติด การครอบครอง การปลูก หรือทำอะไรก็แล้วแต่กับพืชชนิดนี้ถือว่าผิดกฎหมาย จนกระทั่งมาในปัจจุบันกัญชากลับมาในสังคมไทยแบบเปิดอีกครั้ง ดูเหมือนจะกลายเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ ที่เข้าใจกันว่ารักษาได้สารพัดโรค ซึ่งความจริงแล้วถือว่า ยังมีอีกมากมายเกี่ยวกับเรื่องกัญชาที่เรายังไม่รู้ ทั้งเรื่องคุณและโทษ

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

“ที่ชัดๆ คือ สมัยก่อนเราไม่เคยมีน้ำมันกัญชา ไม่เคยเอาน้ำมันกัญชามาหยอดเพื่อรักษาโรคกัน แต่ตอนนี้มีการทำกัน ที่น่าเป็นห่วงก็คือ หลายคนทำไปแบบไม่รู้ ซึ่งมีผลกระทบตามมาก็ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครปฏิเสธว่าลึกๆ แล้ว สังคมไทยยังโหยหากัญชาอยู่ ในแง่ของการเป็นพืชความหวังที่สามารถรักษาโรคร้ายต่างๆ ได้ ซึ่งความหวังนั้น ก็ใช่จะเป็นการหวังลมๆ แล้งๆ แต่มีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง” ภญ.สุภาภรณ์ ระบุถึงคุณและโทษของกัญชา

“เป็นความพยายามของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่เห็นความสำคัญของกัญชาในฐานะเป็นเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่มีความสามารถในการสร้างสารเคมี ซึ่งเป็นสารสำคัญให้แก่เราได้เก่งมาก มีข้อดีมากและมีข้อจำกัด เราจึงจะต้องมีการออกแบบโรงเรือนตามหลักแบบวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้กัญชาที่มีสารเคมีปริมาณสูง ในการที่จะเอามาใช้ประโยชน์ ตั้งแต่การวางระบบ นับจากการปลูก โดยอิงตามหลักแบบวิทยาศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร ว่าการปลูกไม่ใช้ดินอย่างไร กัญชาเป็นพืชที่ช่วงชีวิตกัญชามีวงจรอย่างไร และช่วงไหนที่มีการสร้างสารสำคัญสูงสุด และมีปัจจัยอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้สู่สังคมต่อไป” ภญ.สุภาภรณ์ สรุปถึงแนวทางการนำประโยชน์จากกัญชามาใช้ทางการแพทย์

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 26 กันยายน พ.ศ.2562