มกอช. รุกดันมาตรฐานและการรับรองสินค้าเกษตร “แปลงใหญ่”

มกอช. รุกดันมาตรฐานและการรับรองสินค้าเกษตร“แปลงใหญ่” เล็งไกลเพิ่มโอกาสด้านการแข่งขันรุกขยายตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ   ชูความสำเร็จแปลงใหญ่ปี 62 หนุนให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดในพื้นที่ 6 จว.ภาคอีสาน พร้อมดันทุเรียนแปลงใหญ่โซนภาคตะวันออกเข้าสู่มาตรฐาน GAP ช่วยยกระดับการผลิตและขยายช่องทางตลาดให้เกษตรกว้างขวางขึ้น

นายวิทวัสก์ สาระศาลิน รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนา เรื่อง “การส่งเสริมความรู้ด้านมาตรฐานและการรับรองสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่” ว่า สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ด้านการเกษตรได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันและมุ่งยกระดับการผลิตให้เข้าสู่คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย ประกอบกับกระทรวงเกษตรฯ ได้มีนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต การบริหารจัดการร่วมกัน และรวมกันจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยให้เกษตรกรสามารถเป็นผู้จัดการ บริหารการผลิต ผลผลิต และการตลาด เพื่อให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และลดต้นทุนการผลิต

ทั้งนี้ ในการยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพนั้น ต้องอาศัยการมีมาตรฐานและการตรวจรับรอง ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบการผลิตสินค้าในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดทั้งในประเทศ ตลอดจนการนำเข้าและส่งออกของประเทศต่างๆ มีความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความสม่ำเสมอทั้งทางด้านคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งหากสินค้าดังกล่าวมีมาตรฐานการผลิตผ่านกระบวนการรับรองที่เป็นที่ยอมรับแล้วก็จะทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันและเข้าสู่ตลาดได้กว้างขวางขึ้น

สำหรับการจัดสัมมนาสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโครงการแปลงใหญ่ เกษตรกรและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 220 คน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและการรับรอง ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทางการขับเคลื่อนมาตรฐานและการรับรองในพื้นที่แปลงใหญ่ให้เกิดประสิทธิผลเพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดการดำเนินการและยกระดับการผลิตและสินค้าของกลุ่มให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน

” มกอช. นับเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนด ตรวจสอบรับรอง ควบคุม ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารและได้ให้ความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยผลดำเนินการในปี 2562 มกอช. ประสบความสำเร็จในหลายด้าน อาทิ พัฒนาการผลิตในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ให้เข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐาน ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการถ่ายทอดความรู้การผลิตตามมาตรฐาน ตลอดจนเร่งเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างความตระหนักรู้สินค้าคุณภาพมาตรฐานให้กับผู้ผลิต/ผู้บริโภค ภายใต้กิจกรรม จำนวนทั้งสิ้น 18 โครงการ เช่น โครงการการพัฒนาความพร้อมเข้าสู่ระบบการผลิตและรับรองแบบกลุ่มตามมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP ในสินค้าข้าวโพดเมล็ดแห้งในพื้นที่จังหวัดลพบุรี โครงการการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ในพื้นที่ 6 จังหวัด ในภาคอีสาน โครงการการพัฒนาส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนโซนภาคตะวันออกเข้าสู่มาตรฐาน GAP พืชอาหารในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด เป็นต้น ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐานสู่ตลาดมากขึ้น” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว