ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ชาวสวน-โรงคัดบรรจุลำไยภาคตะวันออกตื่นตัว เข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP และ GMP ด้าน สวพ.6 ระดมเจ้าหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจรับรองแปลง GAP พืช และโรงคัดบรรจุ GMP ให้ทันต่อฤดูกาลส่งออกลำไยไปจีน พร้อมเร่งอบรมให้ความรู้การใช้สารรมชัลเฟอร์ไดออกไชด์ ล่าสุดผ่านการรับรองรอแปลง GAP แล้วจำนวน 2,998 แปลง ส่วนโรงคัดบรรจุผ่านการรับรอง GMP จำนวน 65 โรง พร้อมคาดปีนี้จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 4 แสนตัน
นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันปัญหาด้านการส่งออกผลผลิตลำไยนอกฤดูพื้นที่ภาคตะวันออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 62 เป็นต้นมา สวพ.6 ได้ระดมเจ้าหน้าที่อย่างเต็มกำลังพร้อมกำหนดกลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจรับรองแปลง GAP พืช และโรงคัดบรรจุ GMP ให้ทันต่อความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการที่จะต้องใช้ใบรับรองในการจำหน่ายผลผลิตเพื่อการส่งออกไปจีน
อาทิ สนับสนุนให้โรงคัดบรรจุรับซื้อผลผลิตจากสวนที่เป็นลูกค้าของโรงคัดบรรจุเองและเป็นสวนที่ได้รับการรับรองแปลง GAP ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เป็นรายตำบล บูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่และหน่วยงานอื่นๆ พร้อมฝึกอบรมแบบเข้มข้นให้กับเกษตรกรที่มีศักยภาพและมีความตั้งใจผลิตผลไม้ให้มีคุณภาพกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการรับรองฯเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาออกใบรับรองให้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งจัดทีมอาสาสมัคร GAP ประจำพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตรวจรับรองในการให้คำแนะนำการปฏิบัติตามขั้นตอนและบันทึกข้อมูล เพื่อการตรวจรับรองที่รวดเร็วและคงไว้ซึ่งมาตรฐานทำให้เกษตรกรสามารถใช้ใบรับรองประกอบการจำหน่ายผลผลิตได้ทันเวลาในฤดูกาลนี้
นายชลธี กล่าวถึงสถานการณ์ฤดูกาลผลผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคตะวันออกในขณะนี้ด้วยว่า ผลผลิตจะเริ่มทยอยออกตั้งแต่เดือนปลายเดือนกันยายน 62-พฤษภาคม 63 โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกที่ให้ผลผลิตรวมประมาณ 200,000 ไร่ คาดว่าผลผลิตจะออกประมาณ 400,000 ตัน หรือให้ผลผลิตประมาณ 1,900-2,000 กก./ไร่ และมีเกษตรกรผู้ปลูกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรอยู่จำนวน 7,000 ราย
ส่วนความคืบหน้าในการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชลำไยพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว ขณะนี้มีเกษตรกรมาจดทะเบียนแล้ว จำนวน 3,435 แปลง 3,175 ราย คิดเป็นพื้นที่ 72,575.78 ไร่ ในจำนวนดังกล่าว ผ่านการรับรอง Q แล้ว จำนวน 2,998 แปลง เกษตรกร 2,575 ราย คิดเป็นพื้นที่ 58,432.18 ไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจ จำนวน 437 แปลง เกษตรกร 600 ราย คิดเป็นพื้นที่ 14,143.60 ไร่
โดยจันทบุรีมีเกษตรกรมาจดทะเบียนมากที่สุด จำนวน 3,003 แปลง เกษตรกร 2,762 ราย คิดเป็นพื้นที่ 66,351.10 ไร่ ผ่านการรับรอง Q แล้ว จำนวน 2,660 แปลง เกษตรกร 2,248 ราย คิดเป็นพื้นที่ 53,608.50 ไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจ จำนวน 343 แปลง เกษตรกร 513 ราย คิดเป็นพื้นที่ 12,742.60 ไร่ ส่วนผลดำเนินการตรวจรับรองโรงคัดบรรจุ ได้รับการรับรอง GMP ลำไยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 65 โรง แบ่งเป็นจันทบุรี 59 โรง อยู่ระหว่างตรวจ 4 โรง ระยอง 1 โรง สระแก้ว 1 โรง
นายชลธี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ภาคตะวันออกมีความตื่นตัวในการเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP และ GMP มากขึ้น เนื่องจากมองว่าจีนเป็นตลาดส่งออกที่มีอนาคตที่จะช่วยยกระดับราคาลำไยและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร โดยปัจจุบันผลผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคตะวันออกเกือบ 100% ส่งออกไปจีน แทบจะไม่ได้ขายในประเทศเลย ทางโรงคัดบรรจุจะซื้อหมดทุกเกรด ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญในการศึกษาเรียนรู้กระบวนการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐานและการส่งออกตามข้อกำหนด ไทย-จีน ที่จะต้องแจ้งข้อมูลแปลงและโรงคัดบรรจุผลไม้ 5 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง และของจีน 5 ชนิด คือ แอปเปิ้ล สาลี่ ส้ม พุทรา องุ่น ตามพิธีสารที่ได้กำหนดจะต้องผ่านการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช และรับรองโรงคัดบรรจุ GMP เท่านั้น ถึงจะส่งออกได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเร่งรับการตรวจมาตรฐานการผลิตพืช GAP และ GMP แล้ว สวพ.6 ยังได้ร่วมกับสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี และสมาคมชาวสวนลำไยจัดประชุมชี้แจงและให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดตามหลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยชัลเฟอร์ไดออกไซด์และมาตรฐานโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือก เพื่อการผลิตและการส่งออกลำไยให้ได้คุณภาพให้แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุและโรงรมชัลเฟอร์ไดออกไชด์ผู้ส่งออกลำไย ตลอดจนเกษตรกรชาวสวนลำไยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเตรียมจัดงาน “รวมพลังชาวสวนภาคตะวันออก เข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP” ขึ้นในวันที่ 11 ต.ค. 62 นี้ ณ ลานขนถ่ายสินค้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงความสำคัญในการสู่การรับรองมาตรฐาน GMP และ GAP