เผยแพร่ |
---|
ปลากดเหลืองใหญ่แม่น้ำโขง เลี้ยงง่ายรายได้ดี ทั้งเลี้ยงขายเป็นลูกปลา เป็นปลาพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ และเป็นปลาที่นำไปปรุงอาหาร เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งไทยและ สปป.ลาว อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงที่นับวันที่เหลือลดน้อยลง
นายสาธิต คำกองแก้ว ข้าราชการบำนาญ ซึ่งปัจจุบันเป็นเกษตรกรเลี้ยงปลากดเหลืองใหญ่แม่น้ำโขง เจ้าของฟาร์มปลาวิภาวรรณฟาร์ม ที่บ้านหนองยางคำ หมู่ 13 ตำบลกองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เล่าในฟังถึงการเลี้ยงปลากดเหลืองใหญ่แม่น้ำโขงว่า ปัจจุบันนี้ปลาในแม่น้ำโขงเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องจากเหตุผลหลายอย่าง ทั้งการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง รวมไปถึงเหตุผลอื่นๆ
ทั้งนี้ “ปลากดเหลือง” แม่น้ำโขงถือเป็นปลาเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีรสชาติดี ปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายชนิด ตนจึงได้ไปรับซื้อปลากดเหลืองที่จะนำมาทำเป็นปลาพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์จากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหาปลาในแม่น้ำโขง โดยได้เลี้ยงปลาที่ได้มาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี จนมีความสมบูรณ์ และได้ทำการเพาะพันธุ์ซึ่งตอนแรกได้ผลในระดับหนึ่ง จากนั้นก็การเพาะพันธุ์ก็ได้ผลดีมากขึ้น จนถึงขณะนี้ก็ได้เพาะพันธุ์และเลี้ยงต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว
นายสาธิต เล่าต่อว่า เกษตรกรหรือชาวบ้านที่มาซื้อลูกปลาที่ตนเพาะพันธุ์ไปเลี้ยงต่อก็ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงเป็นอย่างดี เนื่องจากปลากดเหลืองเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย สามารถปรับให้กินเป็นอาหารเม็ดก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วปลากดเหลืองเป็นปลาที่ชอบกินอาหารตามธรรมชาติมากกว่าการกินอาหารเม็ด ซึ่งเกษตรกรที่มีความสนใจจะเลี้ยง ตนแนะนำให้เลี้ยงในบ่อขนาดเนื้อที่ 1 งาน สามารถเลี้ยงปลากดเหลืองได้ 2-3 พันตัว
โดยในระยะแรกก็ให้อาหารปลาดุกที่มีโปรตีนประมาณร้อยละ 30 หากเป็นไปได้ ให้เลี้ยงด้วยไส้เดือนตามขอบบ่อที่เลี้ยงได้ยิ่งดี ซึ่งจะใช้ไส้เดือนประมาณ 4 กิโลกรัม/วัน หรืออาหารสดอื่นๆ เช่น โครงไก่ เป็นต้น ที่ดีที่สุดคือการเลี้ยงด้วยไส้เดือน ที่จะไม่ทำให้น้ำในบ่อเน่าเสียเหมือนการเลี้ยงด้วยอาหารปลาดุก หรือโครงไก่ที่เมื่อให้มากๆ แล้วจะทำให้น้ำเสียได้ง่าย
นอกจากนี้ การเลี้ยงควรเลี้ยงในจุดที่มีน้ำไหลผ่าน เนื่องจากปลากดเหลืองเป็นปลาที่ชอบอยู่ในบริเวณที่น้ำไหลเหมือนในแม่น้ำโขง ส่วนการเตรียมบ่อที่เลี้ยงก็ทำเหมือนการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาอื่นๆ ทั่วไป ถือสูบน้ำออกจากบ่อที่จะเลี้ยง ตากบ่อ หว่านปูนขาว และนำปุ๋ยคอกลงในบ่อ ในอัตราส่วน 60-100 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อไว้สร้างแพลงตอน ไรแดง และไรขาว ที่เป็นอาหารให้กับปลาที่เลี้ยง การให้อาหารปลาที่เลี้ยงก็ให้เช้า-เย็นให้แค่พออิ่ม ไม่ให้มากเกินไป เพราะหากให้มากปลาก็จะอมอาหารไว้แล้วจะไปคายลงที่ก้นบ่อเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำในบ่อเน่าเสียเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อช่วงที่เลี้ยงก็ต้องมีบ้างให้สังเกตน้ำที่เลี้ยงเป็นประจำ
นายสาธิต เล่าต่อไปอีกว่า ปลากดที่ตนเพาะเลี้ยงอยู่ในฟาร์มนี้ เป็นปลากดพันธุ์เหลืองใหญ่ แม่น้ำโขง ซึ่งปลากดจะมีหลายชนิด เช่นปลากดขี้ลิง ปลากดหม้อ และปลากดคัง เป็นต้น ปัจจุบันนี้ปลากดเหลืองใหญ่เริ่มจะหาในธรรมชาติได้ยากขึ้น ตนทำมา 10 กว่าปีมีพ่อ-แม่พันธุ์ และเพาะพันธุ์ลูกปลามาเป็นจำนวนมากแล้ว
ซึ่งปลากดเหลืองใหญ่นี้มีจุดเด่นที่แตกต่างจากปลากดชนิดอื่นๆ คือมีสีเหลืองทองสวย ครีบหางมีลักษณะเด่น และเป็นปลาที่แปลกคือปลาเพศผู้จะมีขนาดตัวโตกว่าปลาเพศเมียและจะมีติ่งให้เป็นที่สังเกตเมื่อมีอายุพร้อมที่จะผสมพันธุ์ ปกติจะเป็นปลาที่เลี้ยงตั้งแต่ 18 เดือนขึ้นไป ถ้าเป็นปลาที่อายุน้อยกว่านี้ การผสมพันธุ์การเพาะพันธุ์ก็จะไม่ได้ผลดีและลูกปลาจะไม่แข็งแรง
สำหรับการเพาะพันธุ์ลูกปลากดตั้งแต่เริ่มต้นจากการเพาะพันธุ์ในบ่อคอนกรีตที่เป็นบ่ออนุบาลก่อน โดยเลี้ยงได้ไรแดงเป็นเวลาประมาณ 10-15 วัน จากนั้นก็นำลงบ่อดินก็จะฝึกให้กินอาหารกบหรืออาหารลูกอ๊อดที่มีการบดแล้วปั้นเป็นก้อนเล็กๆ วางในตามบ่อ หลังนำลูกปลาลงบ่อแล้วก็จะให้อาหารกบที่บดปั้นเป็นก้อนวันละ 2 ครั้ง เลี้ยงอนุบาลในบ่อดินประมาณ 15 วัน ก็จะได้ลูกปลากดขนาด 1 นิ้ว ที่สามารถขายได้ ซึ่งที่ฟาร์มของตนจะขายถูกกว่าที่อื่น เนื่องจากเพาะพันธุ์เอง คือจะคิดขนาดลูกปลา 1 นิ้ว/1 บาท ผู้ที่จะคิดจะเพาะพันธุ์ลูกปลากดเหลืองขาย ต้องมีความพร้อม เริ่มตั้งแต่บ่อเพาะ อาหารลูกปลาแรกเกิดโดยเฉพาะไรแดงที่เป็นอาหารหลักและทำให้การเพาะพันธุ์ลูกปลาได้ผลดีก็ต้องพร้อมเช่นกัน
ในส่วนของลูกค้าที่มีซื้อลูกปลากดเหลืองนั้น จะมาซื้อที่ฟาร์ม มีทั้งซื้อไปเลี้ยงและซื้อไปขายต่อ มาจากหลายจังหวัดไม่เฉพาะที่จังหวัดหนองคาย เช่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลย และจังหวัดบึงกาฬ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าจาก สปป.ลาว เป็นจำนวนมากอีกด้วย เฉพาะปีนี้ที่มีปัญหาเรื่องสภาพอากาศ และการขาดแคลนน้ำ ทำให้ตนเพาะลูกปลาได้เพียง 4 ชุด ชุดละ 6-7 หมื่นตัว รวมแล้ว ประมาณ 2-3 แสนตัว ซึ่งปกติปลาพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ หากเลี้ยงได้สมบูรณ์แล้ว จะสามารถเพาะพันธุ์ได้เดือนละ 1 ครั้ง
สำหรับเกษตรกรที่จะนำปลากดไปเลี้ยงนั้น นายสาธิตในคำแนะนำว่า ควรจะเลี้ยงในบ่อดิน หรือจะเป็นฝายก็ได้ ซึ่งหากเป็นฝายควรจะเก็บน้ำได้ตลอดปี หรืออย่างน้อยประมาณ 6 เดือน เพราะปลากดเหลืองหากเลี้ยงประมาณ 5-6 เดือน ก็จะได้ปลาที่มีขนาดน้ำหนัก 4-7 ตัว/กิโลกรัม เป็นขนาดที่นิยมของตลาด หากเลี้ยงมาขนาดใหญ่เกินไปก็จะขายยาก และขอเน้นอย่าให้อาหารมาก เพราะหากปลากินไม่หมดมีเศษอาหารเหลือก็จะทำให้น้ำเน่าเสียเร็ว ถ้าเป็นไปได้อยากให้เลี้ยงด้วยไส้เดือน การเพาะเลี้ยงไส้เดือนก็ทำได้ไม่ยาก หากเลี้ยงด้วยไส้เดือน 3-4 กิโลกรัม/วันแล้วไม่ให้อาหารเม็ดเลย ซึ่งปกติลูกปลา 1 พันตัว จะใช้อาหารในการเลี้ยงจนพร้อมขาย ประมาณ 10 กระสอบขึ้นไป
ในส่วนของตนนั้น จะมีการเลี้ยงเป็นปลาใหญ่ขายจะทำหลังจากที่มีการเพาะพันธุ์เสร็จ คือในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งฟาร์มของตนจะไม่ขายพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ แต่ปกติที่มีการซื้อขายพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์กันจะซื้ออยู่ที่ 250-300 บาท/กิโลกรัม ส่วนปลากดเหลืองที่ขายแบบปลาเนื้อทั่วไปนำไปปรุงอาหาร ที่ปากบ่อจะอยู่ที่ 110-120 บาท/กิโลกรัม
ในส่วนของโรคนั้น จากการเลี้ยงมาในฟาร์มของตนยังไม่เคยเจอ แต่มีเกษตรกรบางรายทั้งในไทยและใน สปป.ลาว ที่มีการใช้ในจากฝายหรือหนองน้ำที่น้ำมีการหมักหมมของเห็บและหนองสมอ เข้ามาในบ่อเลี้ยงโดยไม่มีการกรองหรือการฆ่าเชื้อก่อนนำลูกปลาลงเลี้ยง ก็จะทำให้ปลาป่วยเป็นตาบวม และเหงือกแดง ซึ่งตนแนะนำให้ใช้เกลือและยาฆ่าเชื้อหว่านลงในบ่อแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับปลากดเหลือง สามารถปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ต้มยำ ห่อหมก แกงส้ม นึ่งบ๊วย และปลาลวก เป็นต้น ซึ่งปลากดเหลืองเนื้อจะแน่นและรสชาติดี ผู้ที่สนใจหรือมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ฟาร์มโดยตรง หรือสอบถามทางหมายเลขโทรศัพท์ ได้ที่หมายเลข 081-965-4756
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ.2562