พบเสือกระต่าย รอบ 40 ปี กรมอุทยานฯ เฮหนักมาก

ทีมงานวิจัยสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวสุดตื่นเต้น ถ่ายรูป ‘เสือกระต่าย’ หรือ ‘แมวป่า’ ทั้งตัวผู้ตัวเมีย ได้ครั้งแรกในรอบ 40 ปี ชี้ระบบลาดตระเวนป่าอมก๋อยเข้มแข็ง เตรียมสำรวจประชากรจริงจัง

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งข่าวดีจาก นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักสัตว์ป่า ว่า ผู้ช่วยนักวิจัยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานว่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยนั้น พบเสือกระต่ายหรือแมวป่า โดยทีมงานวิจัยสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว นายจิรัชย์ คำอ้าย ผู้ช่วยนักวิจัย โดยที่ นายปริญญา ผดุงถิ่น ช่างภาพอิสระ สามารถถ่ายรูปได้ พบทั้งตัวผู้และตัวเมีย

“ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและน่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะประมาณ 40 กว่าปีแล้ว ที่เราไม่มีข่าวคราวของสัตว์ชนิดนี้ออกมา เวลานี้สามารถยืนยันได้แล้วว่า เสือกระต่ายไม่ได้หมดไปแล้วจากป่าไทยแน่นอน โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2519 ในรายงานสัตว์ป่าเมืองไทย ของ นพ. บุญส่ง เลขะกุล ผู้บุกเบิกงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่าของไทย ว่า เสือกระต่ายหรือแมวป่านั้นกระจายพันธุ์อยู่ในป่าผลัดใบตั้งแต่พื้นที่ภาคกลางขึ้นไปทางตอนเหนือ แต่หลังจากนั้นไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่ามีใครเจอสัตว์ชนิดนี้อีกเลย มีแต่พูดกัน แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ครั้งนี้มีหลักฐานยืนยันจริงๆ” นายธัญญา กล่าว

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า การเจอเสือกระต่ายครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ และระบบการลาดตระเวนป่ามีความเข้มข้น โดยหลังจากนี้ ได้วางแผนขั้นต่อไปสำหรับการดูแลเสือกระต่ายในพื้นที่ดังกล่าว คือการสำรวจจำนวนประชากรว่ามีมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนพื้นที่ดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีข่าวดีกว่านี้ คือ มีจำนวนเสือกระต่ายมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

นายศักดิ์สิทธิ์ กล่ววว่า เสือกระต่ายเป็นสัตว์ในตระกูลแมว อาศัยอยู่ในป่าผลัดใบ เป็นสัตว์ป่าปราดเปรียว ทั้งตัวผู้และตัวเมีย น้ำหนัก 4-6 กิโลกรัม ปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครในเมืองไทยศึกษาสัตว์ชนิดนี้อย่างจริงจัง จึงไม่มีข้อมูลทางวิชาการมากนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าที่มีการเรียกชื่อว่าเสือกระต่ายนั้นเป็นเพราะมันมีใบหูค่อนข้างใหญ่คล้ายกระต่ายป่า หรืออาศัยอยู่ในป่า ที่มักจะมีเหยื่อคือกระต่ายค่อนข้างชุกชุม

“ผมไม่ได้ยินเรื่องราวของเสือกระต่ายมานานมากแล้ว เกือบจะคิดว่ามันสูญพันธุ์ไปจากป่าเมืองไทยด้วยซ้ำไป เพราะสัตว์ชนิดนี้พบเฉพาะในป่าของประเทศอินเดียเท่านั้น ส่วนที่ประเทศไทยมีแต่พูดถึงว่าเห็นตรงนั้นตรงนี้ แต่ไม่มีภาพถ่ายยืนยัน จนกระทั่งเจอล่าสุดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ที่นายปริญญาถ่ายภาพออกมาชัดเจนมาก” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน