วช. หนุนใช้ “นวัตกรรมอบแห้งด้วยแสงอาทิตย์” แก้วิกฤต ผลไม้ล้นตลาด-ราคาตกต่ำ

เมืองไทย นับเป็นสวรรค์สำหรับคนรักผลไม้ เพราะมีผลไม้เมืองร้อนและเมืองหนาวนานาชนิดให้เลือกรับประทานตลอดทั้งปี หลายคนรู้ดีว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ของทุกปี จะมีผลไม้เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งลำไยสดหวานอร่อยจากภาคเหนือ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง จากภาคใต้ให้เลือกซื้อหากันอย่างจุใจ  

ในแต่ละปี มักมีผลไม้เข้าตลาดเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ เกษตรกรชาวสวนผลไม้จำเป็นต้องขายผลผลิตในราคาถูก ให้มีรายได้หมุนเวียนเพื่อความอยู่รอด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณก้อนโต เพื่อดำเนินมาตรการต่างๆ แก้ไขปัญหาผลไม้ล้นตลาด เช่น ส่งเสริมการแปรรูปผลไม้ เร่งกระจายสินค้าออกจากแหล่งผลิตไปยังผู้ซื้อทั่วประเทศและตลาดส่งออก ฯลฯ

แปลงปลูกมะเขือเทศราชินี

วช. หนุนแปรรูปผลไม้ สร้างมูลค่าเพิ่ม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เล็งเห็นปัญหาผลไม้ล้นตลาดที่เกิดซ้ำซากเป็นประจำทุกปี จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุศราภรณ์ มหาโยธี ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ศึกษาวิจัยแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ ภายใต้ชื่อ “โครงการขับเคลื่อนผู้ผลิตผลไม้อบแห้งพรีเมี่ยมรายย่อย รักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยองค์ความรู้ การใช้พลังงานทางเลือกเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน”

ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก (พาราโบล่าโดม) เป็นระบบอบแห้งที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติ สามารถผลิตสินค้าอบแห้งได้หลากหลายชนิด และเป็นระบบปิดที่ป้องกันฝุ่นละอองและสัตว์พาหะที่ปนเปื้อนกับผลิตภัณฑ์ได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรมีความมั่นใจในการใช้งานเพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ทั้งนี้ เกษตรกรหรือแม้แต่วิสาหกิจชุมชนซึ่งมีความพร้อมในด้านการพาะปลูกและวัตถุดิบ แต่ยังขาดทักษะการผลิตอาหารตามมาตรฐน GMP ตลอดจนการพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

มะเขือเทศราชินีผลสด

ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมความรู้และศักยภาพแก่เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน นักวิจัยจึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ  ตั้งแต่การใช้งานพาราโบล่าโดมอย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพตามมาตรฐน GMP การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลอดจนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สามารกผลักดันสินค้าสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูม อบแห้งมะเขือเทศราชินีในพาราโบล่าโดม

จุดเด่นของเทคโนโลยี “พาราโบล่าโดม”

  1. ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก (พาราโบล่าโดม) มีโครงสร้างแบบเรือนกระจก (green house) ปิดคลุมด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนตที่ใส ไม่มีสี เมื่อรังสีดวงอาทิตย์ส่งผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนตที่ใสไปยังผลิตภัณฑ์ (ผลไม้ พืช ผัก สมุนไพร) ที่อยู่ในชั้นวาง บางส่วนจะตกกระทบพื้นของระบบฯ ทำให้ภายในระบบฯ มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้น้ำในผลิตภัณฑ์ระเหยออกมา และถูกพัดลมดูดอากาศด้านหลังของระบบอบแห้ง ดูดออกไปภายนอก ความชื้นของผลิตภัณฑ์จึงค่อยๆ ลดลง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ได้รับพลังงานทั้งจากรังสีดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบโดยตรง และจากอากาศร้อนในส่วนอบแห้ง ทำให้ผลิตภัณฑ์แห้งเร็วกว่าการตากแดดตามธรรมชาติ
  2. กระบวนการแปรรูปผลไม้ด้วยวิธีการแช่อิ่มสูตรหวานน้อย เป็นการเพิ่มมูลค่าผลไม้แช่อิ่มอบแห้งด้วยการลดปริมาณการใช้น้ำตาล ได้แก่ สับปะรด มะเขือเทศแช่อิ่มอบแห้ง และการแปรรูปในรูปมะเขือเทศแบบผง ทำให้ได้สินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพ และการบริโภคสารที่มีฟังก์ชั่นที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ไลโคปีน ในมะเขือเทศผง
สินค้าแม่ฉุย-มะเขือเทศเรดฮันนีผลสด ขายดีไม่แพ้ผลไม้แปรรูป
สินค้าแม่ฉุย-มะเขือเทศราชินีอบแห้ง

ประโยชน์ต่อชุมชน

วิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูม อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มีรายได้หลักจากการปลูกมะเขือเทศราชินี และไม้ผลต่างๆ ในอดีตเคยประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดและมีราคาตกต่ำจนต้องแก้ปัญหาด้วยการแปรรูปมะเขือเทศราชินีและผลไม้ในรูปแบบต่างๆ เช่น มะเขือเทศผง สับปะรดแช่อิ่มอบแห้ง แก้วมังกรสีแดงอบแห้ง มะม่วงกวน ฯลฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จนกลายเป็นสินค้าโอท็อป 5 ดาว ชื่อดังของจังหวัดนครปฐม ที่รู้จักกันดี ในชื่อ “แม่ฉุย-มะเขือเทศราชินีสดและอบแห้ง” ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศและผลไม้ในชุมชนแห่งนี้มีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน

ที่ผ่านมา นักวิจัยได้ร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูม ผู้ผลิตมะเขือเทศราชินีแช่อิ่มโดยใช้พาราโบล่าโดม ผลการวิจัยพบว่า ทางกลุ่มฯ สามารถรับซื้อมะเขือเทศราชินีจากสมาชิกผู้ปลูกเพิ่มขึ้น เฉลี่ยวันละ 1 ตัน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลสดให้แก่ทางกลุ่มฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายมะเขือเทศผง มะเขือเทศแช่อิ่มสูตรหวานน้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20

สับปะรด แก้วมังกร และมะม่วงอบแห้ง ของวิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูม

ขณะเดียวกัน นักวิจัยยังได้ขยายผลการทดลองใช้พาราโบล่าโดม ในพื้นที่อื่นๆ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจินตชาติบ้านสวนผักผลไม้อินทรีย์แปรรูป ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกปลูกผลไม้โดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และรับซื้อผลผลิตป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ทำให้พื้นที่ปลูกและสมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ขยายผลโครงการไปยังกลุ่มผู้ผลิตผลไม้อบแห้ง สวนสระแก้ว ที่ติดตั้ง พาราโบล่าโดม ใกล้กับแหล่งปลูกมะม่วง และผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ที่ใกล้ชุมชน ส่งผลให้เกิดการจ้างงานกับสมาชิกในชุมชนและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ที่ตกเกรดจากการจำหน่ายผลสด

ถ่ายทอดนวัตกรรมแปรรูปสู่ชุมชน

เนื่องจากปัญหาปากท้องและความสุขของคนไทย เกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการทำหน้าที่ ป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงเพื่อประโยชน์ของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) “คืนความสุขให้คนไทย” โดยร่วมกันนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ขยายผลเสริมฐานชีวิต สร้างอาชีพ ให้คนไทยไร้หนี้ มีกินมีใช้ มีสินค้าผลิตออกขายตลอดทั้งปี ซึ่งนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศชาติ

พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง กอ.รมน. กับ วช.

ซึ่งนวัตกรรมการอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก (พาราโบล่าโดม) เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ วช. และ กอ.รมน. จะนำไปใช้เผยแพร่สู่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะเป็นระบบอบแห้งที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติ สามารถผลิตสินค้าอบแห้งได้หลากหลายชนิด ช่วยพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้ประชาชน เพื่อสร้างความสุข ตามแผน “ยุทธศาสตร์ชาติ” นำประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”