5 สุดยอดสมุนไพร “บำรุงไต” โดยอภัยภูเบศร

ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตมากขึ้น ติดอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ผลที่ตามมาคือมีภาวะไตเสื่อมและไตเสื่อมเร็วขึ้น หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง

จากข้อมูลพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานยุทธศาสตร์การพัฒนาการแพทย์แผนไทยและหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เจ้าของฉายา “แม่หมอสมุนไพร” ให้ความรู้ว่า ในภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทเชื่อว่า ไตคือพลังงานของชีวิต หากไตทำงานไม่ดี ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบการทำงานของร่างกายในภาพรวม หากแต่ยังส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้ป่วยด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการแพทย์แผนปัจจุบันที่พบว่าไตเป็นอวัยวะที่มีการสร้างฮอร์โมนที่มีผลต่ออารมณ์ของคนด้วย

ทั้งนี้ มีสมุนไพรหลายชนิดที่หมอพื้นบ้านระบุว่าใช้บำรุงไต ซึ่งในมิติของคำว่าบำรุงในทางการแพทย์พื้นบ้านนั้น มีหลายความหมาย ทั้งการกำจัดของเสีย การเพิ่มการไหลเวียนเลือด การปกป้องสารพิษ ดังนั้นการจะนำองค์ความรู้ด้านสมุนไพรของบรรพบุรุษมาใช้ได้ เราต้องเข้าใจที่มาขององค์ความรู้อย่างลึกซึ้ง

ส่วนที่มีผู้เป็นห่วงว่าการรับประทานพืชสมุนไพรมากๆ จะส่งผลต่อไตหรือไม่ ภญ.สุภาภรณ์ตอบว่า สิ่งสำคัญต้องไม่เลิกกินยาแผนปัจจุบัน จริงๆ ทุกอย่างกินมาก็มีผลข้างเคียงได้ ดังนั้น ต้องกินแบบพอประมาณ และต้องอย่าทิ้งยา ทิ้งการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน โดยอย่างไรเสียต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เป็นสำคัญ

องค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพไตอย่างง่ายนั้นมี 5 กลยุทธ์ ประกอบด้วย การเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงไต การลดสารพิษเข้าสู่ไต การปกป้องไตจากอนุมูลอิสระ การเพิ่มการขับถ่ายของเสีย และการบำรุงและฟื้นฟู

โดยมีสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาในการบำรุงไต 5 ชนิด ดังนี้

กล้วยป่า ที่มีสารในกลุ่มโพลฟีนอล ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ไต จากภาวะอนุมูลอิสระเกิน

“พบข้อมูลจากประชาชนว่า มีแม่เฒ่าวัย 70 กว่าปี มีภาวะล้างไตอยู่ นำใบกล้วยป่ามาต้มกิน ซึ่งเมื่อไปตรวจหาสารในกล้วยป่าพบว่ามีสารโพลีฟีนอลที่ต้านอนุมูลอิสระ และมีการติดตามค่าไตก็พบว่าดีขึ้นจริงๆ” ภญ.สุภาภรณ์กล่าว

เจ็ดกำลังช้างสาร เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี สูงได้ถึง 1 เมตร ลำต้นมีสันตามยาวคล้ายเหลี่ยม มีใบเดี่ยวเรียงสลับแบบคู่ตรงข้าม ดอกเป็นกระจุกบริเวณยอด สีชมพูหรือม่วง มีสรรพคุณบำรุงไต ผ่านกลไกต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย คลายเส้น บำรุงเลือดลมให้ไหลเวียนดี ขับปัสสาวะ

ภาพจากสำนักข่าวไทย

ผักขมหิน จัดเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีลักษณะทอดเลื้อยขนานไปตามพื้นดินชูยอดขึ้น ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ผิวเรียบหรือมีขนบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะต้นกลมเป็นสีเขียวปนแดง ยอดอ่อนมีขน เป็นวัชพืชที่พบขึ้นทั่วไปในเขตร้อน มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดการอักเสบ

หญ้าหนวดแมว มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขับกรดยูริก และขับนิ่วขนาดเล็กๆ ได้ โดยหญ้าหนวดแมวมีเกลือโพแทสเซียม ช่วยในการขับปัสสาวะและขยายหลอดไตให้กว้าง ช่วยขับกรดยูริกเนื่องจากหญ้าหนวดแมวทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง ผู้ที่รับประทานหญ้าหนวดแมวจะมีการขับกรดยูริกออกมาทางปัสสาวะเพิ่มขึ้นและทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง ทำให้กรดยูริกตกตะกอนน้อยลงด้วย

ต้นเกล็ดปลา จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยปกคลุมดิน แตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นมีความยาวประมาณ 15-90 เซนติเมตร ตามลำต้นมีขนนุ่มสั้น ข้อที่แตกดินจะงอกรากออกมาเพื่อยึดเกาะดินเอาไว้ มีสรรพคุณขับนิ่วในไต ลดการอักเสบ