ประเทศไทย จำเป็นต้องนำบิ๊กดาต้า มาใช้วางแผนและแก้ปัญหาการเกษตร

ประเทศไทย ขาดการนำข้อมูลที่เรามีอยู่อย่างมากมาย มายำ หรือบูรณาการให้เป็นข้อมูลที่สมบูรณ์นำไปแก้ปัญหาในลักษณะขององค์รวม (Holistic View) ได้ ปัจจุบันทุกวงการนิยมใช้นิยามใหม่ว่าด้วย บิ๊กดาต้า (Big Data) โดยมีผู้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่จำนวนมาก ทั้งในรูปแบบตาราง รูปแบบแผนภาพ วีดิทัศน์ และในตำรา (Text) มาประมวลแล้ววิเคราะห์จนได้ข้อมูลที่ดี นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ผมขอนำตัวอย่างบิ๊กดาต้าทางด้านการเกษตรของไทย ดังนี้ ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ลมมรสุมพัดผ่าน จึงเหมาะสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพื้นที่ 321 ล้านไร่ ใช้ทำการเกษตรกรรม 138 ล้านไร่ คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด แบ่งเป็นพื้นที่นา 72 ล้านไร่ ในอดีตเมื่อหลายปีก่อนมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,200 มิลลเมตร ต่อปี

ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้บางส่วนฝนตกเฉลี่ย 3,300 มิลลิเมตร ต่อปี แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากเกิดสภาวะโลกร้อนขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น โดยค่าเฉลี่ยทั้งประเทศขยับขึ้นเป็น 1,570 มิลลิเมตร ต่อปี ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้ บางส่วน ขยับขึ้นเป็น 4,000 มิลลิเมตร ต่อปี คิดคำนวณแล้วปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับในอดีต อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดภาวะโลกร้อนขึ้นก็ตาม แต่รูปแบบ หรือแพทเทิร์น (Pattern) ของเอลนิโญ่ (El Niño) คือในทุกๆ 10 ปี จะเกิดภาวะแห้งแล้ง 4 ปี (แล้งไม่รุนแรง 2 ปี แล้งรุนแรง 2 ปี) น้ำท่วม 3 ปี และฝนฟ้าเป็นปกติเพียง 3 ปีเท่านั้น ความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไม่ต้องดูอื่นไกล แค่จำนวนแม่น้ำสำคัญมีมากถึง 11 สาย กระจายอยู่ทั่วประเทศ เริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำมูล และแม่น้ำตาปี มีความยาวแต่ละแม่น้ำ ดังนี้

300, 550, 200, 500, 500, 350, 200, 300 150, 400 และ 200 กิโลเมตร รวมความยาวทั้งสิ้น 4,100 กิโลเมตร แม่น้ำที่กล่าวมาทุกสายสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างมหาศาล แต่ไม่น่าเชื่อว่า ไม่เคยเห็นข่าวการขุดลอก ทำความสะอาดและบำรุงรักษาแม่น้ำเหล่านี้แม้สักครั้งเดียว ซึ่งตรงกันข้ามประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะดูแลรักษาแม่น้ำของเขาอย่างเอาจริงเอาจัง ยากที่เราจะเทียบได้

ข้อมูลในอดีตที่ไม่ควรลืม ยกตัวอย่างน้ำท่วมใหญ่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2485 และเวียนมาครบ 69 ปี ก็เกิดน้ำท่วมอย่างแสนสาหัสขึ้นอีกเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา

พายุเกย์ ปี 2532 พัดกระหน่ำจังหวัดชุมพร เสียหายมากมายและย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2505 พายุโซนร้อน แฮเรียต พัดกระหน่ำแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก และสัปดาห์ที่ผ่านมาพายุโซนร้อน โพดุล พัดกระหน่ำเข้าไทย ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้ น้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อ 17 ปีก่อน

ดังนั้น ไทยเราต้องนำข้อมูลที่มีอยู่มากมายมาหลอมรวมกลั่น แล้วกรอง กระทั่งมองเห็นภาพที่ชัดเจน ทั้งประเด็นปัญหา พร้อมวิธีการป้องกันและวิธีการฟื้นฟูความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งภาวะฝนแล้ง หรือน้ำท่วมก็ตาม อันจะเป็นการลดความเสียหายลงได้อย่างเป็นรูปธรรม สวัสดี