โครงการชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กฟผ. สานปณิธานเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 มีความว่า

…สิ่งสำคัญที่เราพอกิน อุ้มชูตัวเราได้ ให้มีความพอเพียงแก่ตัวเอง พึ่งตนเองได้ หมายความว่า ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน มีความเป็นอยู่อย่างประมาณตน มีกินมีใช้ตามอัตภาพ แล้วที่เหลือจึงจะขายเป็นรายได้ต่อไป…”

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงร่วมสืบสานพระราชปณิธานด้วยการจัดตั้ง “โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในพื้นที่ป่าดงนาทามอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดอุบลราชธานี มีการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการนำจุลินทรีย์ หรือ EM มาใช้ทางด้านการเกษตรและปศุสัตว์ อาทิ การทำปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยแห้ง การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก การเพาะปลูก การเลี้ยงไก่ ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้จึงมีการขยายผลไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ วัด และชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นต่อไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวม กระทั่งในปี 2546 โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงถูกกำหนดให้เป็นโครงการสายการบังคับบัญชาของ กฟผ.

คุณสุระพงษ์ สมชื่อ หัวหน้าแผนกสร้างสร

คุณสุระพงษ์ สมชื่อ หัวหน้าแผนกสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการดังกล่าวเมื่อคราวที่ไปบรรยายพิเศษในงาน “มหัศจรรย์พันธุ์ข้าวมงคล พืชผลของพ่อ” ที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2559 ว่า

“งานชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนดำเนินการเพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการเกื้อกูลและสร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างธรรมชาติกับการดำรงชีพของมนุษย์ เป็นการสอนให้รู้จักนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นมาประยุกต์ปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบริโภค ตลอดจนทำมาหากินเลี้ยงปากท้องภายใต้หลักการสำคัญคือต้องปลอดสารพิษเท่านั้น รวมถึงต้องไม่มีการก่อหนี้สิน มีการผสมผสานหลักการทำเกษตรให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้คำนึงถึงการรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในที่สุด”

ชาวบ้านร่วมกันทำปุ๋ยชีวภาพ

คุณสุระพงษ์ ชี้ว่า แนวทางนี้ควรยึดตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ อาทิ ส่งเสริมให้วิถีชีวิตของคนไทยหารายได้แบบพอมีพอกิน พึ่งตนเองได้, ให้ความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการทำเกษตรกรรมแบบไม่พึ่งพาเคมี เพื่อป้องกันการทำลายระบบนิเวศ, เสริมสร้างจิตสำนึกให้เกิดการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลระหว่างกัน, สนับสนุนและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง, ส่งเสริมเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ฯลฯ เป็นต้น สำหรับแนวทางในการดำเนินงานครอบคลุมด้านต่างๆ ได้แก่

  1. ด้านการเกษตร ที่จะต้องแบ่งย่อยออกเป็นนาข้าว, พืชไร่, พืชสวน และพืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ
  2. ด้านประมง เป็นการจำแนกสัตว์น้ำชนิดต่างๆ การจัดเตรียมบ่อเลี้ยงปลาให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
  3. งานด้านปศุสัตว์ แบ่งออกเป็นการเลี้ยงไก่พื้นเมืองและการเลี้ยงสุกร ทั้งนี้ ต้องมีการกำหนดการใช้จุลินทรีย์ที่เหมาะสมกับสุกร เพื่อให้เกิดอัตราการแลกเนื้อสูง ทำให้เนื้อมีสีแดงปราศจากไขมัน รวมทั้งยังทำให้สุกรมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย

สำหรับ 4. ด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมที่เสียหาย ตลอดจนนำแนวทางป้องกันมิให้สิ่งแวดล้อมต่างๆ ถูกทำลาย ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ การบำบัดน้ำเสีย, การกำจัดกลิ่นเหม็น และการสร้างถังพิทักษ์โลกหรือถังใช้สำหรับบำบัดเศษอาหาร

ชุมชนต้นแบบ

คุณสุระพงษ์ กล่าวว่า ชีววิถีไม่ใช่อาชีพ แต่ต้องการผลิตอาหารเพื่อใช้เลี้ยงครอบครัวให้ได้อย่างพอเพียง แล้วพึ่งพาตัวเองได้ด้วยแนวคิดแบบง่ายๆ สามารถทำได้ในบริเวณบ้านพักตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องไปหาที่ดินผืนใหม่ จะใช้ขนาดพื้นที่เท่าไรก็ได้ตามแต่ที่ตัวเองมีอยู่แล้ว

“หรือแม้แต่ในเมืองกรุงถ้าต้องการทำก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างแนวทางที่คิดคือสิบล้อพอเพียง ที่เพียงใช้ยางล้อรถที่เสียไม่ใช้งาน แล้วให้กลับด้านในออกเพื่อให้มีพื้นที่กว้างแล้วนำดินมาใส่ปลูกพืช ต้นไม้ล้มลุกได้ทุกแห่งในบริเวณบ้าน”

ต้นกวางตุ้งปลูกแบบอินทรีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของชีววิถีนั้น คุณสุระพงษ์ บอกว่า ห้ามนำสารเคมีมาใช้เลย ไม่ว่าอะไรก็ตาม ทั้งนี้ พระเอกในกระบวนการนี้คือจุลินทรีย์เท่านั้น เพราะต้องการให้นำจุลินทรีย์ไปใช้ในการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก รดต้นพืช ป้องกันแมลงศัตรูอย่างได้ผล แล้วขณะเดียวกัน ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

คุณสุระพงษ์ เผยว่า จากเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาที่ กฟผ. เข้าไปดำเนินงานในโครงการชีววิถีในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศแล้วประมาณ 60,000 ชุมชน ขณะเดียวกัน ได้มองว่าในจำนวนกลุ่มนี้หากดำเนินกิจกรรมได้เองอย่างเข้มแข็งก็จะถูกยกระดับให้เป็นชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ. ที่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองหรือบางแห่งสามารถพัฒนาไปได้ถึงการเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ที่ถูกคัดเลือกไว้จำนวน 35 แห่งทั่วประเทศ

สิบล้อพอเพียงสามารถปลูกในบริเวณพื้นท

อย่างที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เป็นชุมชนบ้านข้าวหอม ที่ผลิตข้าวอินทรีย์ได้อย่างมีคุณภาพ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 400 ไร่ ซึ่งทาง กฟผ. ได้สนับสนุนโรงสีขนาดเล็ก พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักรบางส่วน อีกทั้งยังมีการตั้งเป้าหมายว่าในปี 2564 จะสร้างชุมชนต้นแบบให้ได้จำนวน 89 ชุมชน โดยร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายที่มีอยู่ทั้งหมด

“แนวทางชีววิถีไม่ใช่อาชีพ เพราะหากท่านมีอาชีพประจำอยู่แล้ว ก็สามารถนำแนวทางชีววิถีไปปฏิบัติภายหลังเสร็จจากงานประจำ ฝึกฝนทำให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ลึกซึ้งจนเกิดเป็นความชำนาญแล้วค่อยขยายผลออกไปทีละเล็กน้อย จนไปถึงพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น แล้วท่านจะพบว่าแนวทางเช่นนี้จะช่วยทำให้มีกินมีใช้ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก สร้างความเข้มแข็งต่อการดำรงชีพได้อย่างยั่งยืนจริง” คุณสุระพงษ์ กล่าว

หน่วยงาน สถาบัน องค์กร หรือแม้แต่บุคคลท่านใดที่สนใจต้องการทราบรายละเอียดหรือเข้าร่วมในโครงการชีววิถี สอบถามรายละเอียดได้ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ (02) 436-3432, (02) 436-4646 หรือไปดูกิจกรรมได้ที่ www.chivavithee.egat.co.th