จำปาขาว ตำนานพระร่วง ยืนยาวกว่า 700 ปี

ชื่อสามัญ จำปาขาว

วงศ์ MAGNOLIACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ Magnolia champaca

จำปาขาวในตำนาน

“พอเข้าป่า พาใจชื่น                   หอมรื่นดอกดวง พวงบุปผา

สาวหยุดพุดจีบ ปีบ…จำปา         กรรณิการ์ มหาหงส์ ชงโค”

                                        (อิเหนา)

 สิงหาคม 2562 ผู้เขียนได้ไปประชุมการป่าไม้แห่งชาติ ประจำปี 2562 ซึ่งจัดที่ลำปาง ตั้งใจจะไปอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นดินแดนที่เจ้าคุณวินิจพบเจอ ต้นมะพลับเจ้าคุณเป็นครั้งแรก การไปครั้งนั้นทำให้ได้พบเจอกับสิ่งที่มีคุณค่า นั้นก็คือ ต้นยางนายักษ์ใหญ่อายุพันปี และต้นจำปาขาว อายุ 700 ปี รุกขมรดกโลก ของดีที่ควรจะอนุรักษ์ไว้สืบไป

ดอกจำปาขาว..ตำนานพระร่วง

จำปา เป็นดอกไม้ในวรรณคดีที่บรรดากวีไทยท่านได้พรรณนาไว้เป็นบทร้อยกรองอย่างไพเราะ เช่น รามเกียรติ์ อิเหนา และเงาะป่า โดยทั่วไปดอกจำปามีสีเหลือง แต่จำปาที่ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังนี่...ออกดอกเป็นสีขาว และมีอายุมากถึง 700 ปี แต่ ณ วันนี้ ทรุดโทรมลงไปมาก เห็นแล้วน่าใจหาย

ดอกตูมจำปาขาว

ลักษณะทั่วไปของจำปาก็คล้ายกับจำปี มีต่างกันเล็กน้อย เช่น ใบจำปีจะเขียวเข้ม และเป็นมันกว่าใบจำปา ดอกจำปามีกลีบใหญ่และยาว แต่บางกว่ากลีบดอกจำปี สีกลีบดอกจำปามีสีเหลืองอมส้ม คนไทยเรียกสีนี้ว่า “สีดอกจำปา” เช่นเดียวกับที่เรียก “สีดอกบวบ” (เหลือง) และ “สีดอกเซ่ง” (แดง) สียวงขนุนบางพันธุ์มีสีเหลืองอมส้ม ก็เรียกว่า “ขนุนจำปา”

ต้นจำปาขาว อยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia champaca มีถิ่นกำเนิดในจีน อินเดีย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แหล่งที่พบ ในป่าดิบ ทั่วทุกภาคของประเทศ

ดอกจำปาขาวเริ่มแย้ม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลาง ลำต้นกลม สูงประมาณ 20 ฟุต มีสีน้ำตาลปนขาวเล็กน้อย กิ่งเปราะ เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง ยอดอ่อนมีหูใบหุ้ม ลำต้นและกิ่งมีเส้นควั่นเป็นรอย และมีตุ่มเล็กๆ

ดอกจำปาทั่วไป

ใบ ใบสีเขียว ใหญ่เป็นมัน เดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน ถึงรูปใบหอก กว้าง 4-10 เซนติเมตร ยาว 5-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ใบกว้างประมาณ 5 นิ้ว ยาวประมาณ 10 นิ้ว โคนใบกลม มน หรือสอบ เส้นแขนงใบ 16-20 คู่ ก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร ใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ท้องใบมีขนอ่อนด้านล่าง

ดอก ดอกเป็นดอกเดียว มีขนาดใหญ่กว่าดอกจำปี มีสีเหลืองอมส้ม ออกตามง่ามใบ กลีบดอกยาว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกรวมกัน 12-15 กลีบ กลีบด้านนอกรูปหอกกลับ ยาว 4-4.5 เซนติเมตร กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม กลีบดอกชั้นในสั้นและแคบกว่าชั้นนอก

เกสรของดอกจำปาขาว

เกสรเพศผู้ มีจำนวนมาก มีขนาดใหญ่กว่าดอกจำปี มีสีเหลืองอมส้ม เกสรเพศเมีย รังไข่รวมกันเป็นแท่งสีเขียวอ่อน ยอดแหลมคล้ายฝักข้าวโพดเล็กๆ ก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร เวลาบานกลีบใหญ่โค้งงอเข้าภายในดอก ไม่บานกระจายแบบดอกจำปี

ฝัก/ผล รูปรี หรือรูปไข่ เปลือกแข็ง ขนาดยาว 1-2 เซนติเมตร ออกเป็นกลุ่ม เปลือกผลมีจุดสีขาวขรุขระโดยรอบ ผลแก่สีน้ำตาล แตกด้านข้าง

ผลจำปาทั่วไป

เมล็ด เมล็ดสีดำ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม เริ่มติดดอกเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เริ่มติดผล เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์

การดูแลรักษา เป็นไม้กลางแจ้ง ต้องการน้ำปานกลาง ควรเป็นดินร่วน โปร่ง อุดมสมบูรณ์

การใช้ประโยชน์ ไม้ประดับ แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ใช้ร้อยมาลัย

เนื้อไม้ ต้นจำปามีเนื้อไม้สีเหลือง ถึงน้ำตาลอ่อน เหนียว เป็นมัน ทนปลวก เลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย นำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น สร้างบ้าน ต่อเรือ ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ หีบ เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ของเล่นเด็ก ฯลฯ จะเห็นว่าจำปาเป็นไม้มีค่าในการใช้สอยเช่นเดียวกับไม้มีค่าชนิดอื่นๆ

ผลแห้งจำปาขาวที่เลยระยะสุกแก่

สรรพคุณทางยา

เปลือกต้น ฝาดสมาน แก้ไข้ เป็นยาถ่าย

รากแห้ง และเปลือกหุ้มราก ผสมกับนมสำหรับบ่มฝี

ดอก ขับลม ขับปัสสาวะ ใช้แก้วิงเวียน อ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย โรคเรื้อน

ใบ แก้โรคประสาท แก้ป่วง เนื้อไม้ บำรุงประจำเดือนสตรี

ผล บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน แก้ไข้ ขับปัสสาวะ แก้แผลที่เท้าและเท้าแตก

เมล็ด บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียนอาเจียน ขับปัสสาวะ แก้แผลที่เท้าและเท้าแตก

ยาง แก้ริดสีดวง

ลำต้นจำปาขาวที่ผุพัง

แต่จำปาขาวต้นนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของชาวขอมโบราณอย่างมาก ว่ากันว่า “พ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง ทรงปลูกไว้เป็นอนุสรณ์คู่เมืองของเมืองนครบางยาง (นครไทย) ที่วัดแห่งหนึ่ง ปัจจุบันก็คือ “วัดกลางศรีพุทธาราม” ดังนั้น จึงประมาณได้ว่า ต้นจำปาขาว ปลูกก่อนปี พ.ศ. 1806

หากมองย้อนให้ลึกลงไปอีก…ว่ากันว่าเมื่อสมัยเกือบจะ 800 ปีมาแล้ว “พ่อขุนบางกลางหาว” กับ “พ่อขุนผาเมือง” เจ้าเมืองลาด (เพชรบูรณ์) ยกทัพไปตีเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัยจากขอม โดยตั้งสัตยาธิษฐานว่า“ถ้าตีเมืองสุโขทัยสำเร็จ ขอให้ต้นจำปาขาวไม่ตาย และให้ออกดอกเป็นสีขาว” ซึ่งก็เป็นตามดั่งคำอธิษฐาน จากนั้นสถาปนาเป็น “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์ ราชวงศ์พระร่วง แห่งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น

ใบที่ปกคลุมล้ำต้นจำปาขาว

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดอกจำปา ถูกยกย่องเป็น “พระยาแห่งดอกไม้” ดังมีเนื้อเพลงที่ ส.พลายน้อย กล่าวไว้ในหนังสือ “พืชพรรณไม้มงคล” ว่า

“เจ้าเอยจำปา   เรียกว่าพระยาดอกไม้
หอมฟุ้งจรุงใจ               พี่เก็บมาให้เจ้าเอย”

       (ส.พลายน้อย)

มีหลายหน่วยงานทดลองขยายพันธุ์จำปาขาวต้นนี้ในวิธีการต่างๆ ทั้งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหวังจะปลูกเพื่ออนุรักษ์ แต่ไม่สำเร็จ แม้แต่ขยายด้วยผลก็ได้เพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และในการเพาะต้องใช้ระยะเวลาตั้ง 2 เดือน กว่าจะงอก และต้องเลี้ยงไว้อีก 1 ปี ซึ่งเจ้าคณะตำบล หรือเจ้าอาวาสวัดกลางฯ ว่า ก็ได้บอกไว้เช่นกันว่า ถ้านำกล้าจำปาขาวไปปลูกที่อื่นก็จะมีดอกเป็นสีเหลืองเหมือนดอกจำปาทั่วไป

จากนั้นไม่นานหน่วยงานของกรมป่าไม้ก็ได้เป็นธุระดูแล รักษา และอนุรักษ์ต้นจำปาขาวไว้ ทำให้ปัจจุบัน ต้นจำปาขาว ที่วัดกลางศรีพุทธาราม มีขนาดใหญ่ ขนาดลำต้นวัดโดยรอบ ประมาณ 3 เมตรเศษ สูงประมาณ 9-10 เมตร แต่ลำต้นบางส่วนเป็นโพรง ผุกร่อน จึงต้องใช้ไม้ค้ำลำต้น

ดอกและผลจำปาทั่วไป

ในวันนี้ ต้นจำปาขาว ที่ได้พบเห็นมีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา จากนี้ไปอาจจะล้มตายจากไปตามอายุขัยในวันใดวันหนึ่ง ซึ่งคงจะไม่มีสิ่งมีชีวิตใดรอดพ้นเงื้อมมือมัจจุราชนี้ไปได้ หากทว่าพวกเราได้ซึมซับความรู้สึก และตระหนักถึงบทบาทของต้นไม้ต้นนี้ ที่ได้ทำหน้าที่ปกปักษ์รักษา ปกป้องลมหายใจให้กับสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยบนโลกใบนี้มาอย่างยาวนานหลายร้อยปี หากจะให้ประเมินคุณค่าของจำปาขาวต้นนี้ คงหามีใครคนใดจะประมาณค่าได้ไม่

ก่อนจบเรื่องราวในอดีตที่ผ่านต้นจำปาขาวต้นนี้ ผู้เขียนได้อธิษฐานต่ออนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าวด้วยนะ หากใครต้องการศึกษาเพิ่มเติม หรือต้องการไปเยี่ยมชมต้นไม้ในประวัติศาสตร์ต้นนี้ ก็ไปได้เลย ที่ วัดกลางนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก จะรู้จักเมืองบางยางหรือนครไทยมากขึ้นอย่างผู้เขียน…สวัสดี

 

 

เอกสารอ้างอิง

ศักดิ์นิคม ขุนกำแหง. 2543. จำปาขาว. ฝ่ายข้อมูลฯ สำนักงานจังหวัดพิษณุโลก 1 ธันวาคม พ.ศ. 2543

ที่มา https://www.phitsanulokhotnews.com/2016/03/11/82585

ลักษณะพฤกษศาสตร์ของจำปา

จำปา : พระยาแห่งดอกไม้ของคนไทยสมัยก่อน. 2543. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 251 (มีนาคม) คอลัมน์ : พืช-ผัก-ผลไม้

ที่มา https://www.doctor.or.th/article/detail/2463