เกษตรร่วมแก้ไขสถานการณ์หมอกควันต่อเนื่อง รณรงค์เกษตรกรใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้จากไร่นา ฟื้นฟูดิน ช่วยสร้างมูลค่า ลดมลพิษ

ปัญหาหมอกควันปกคลุมและเกิดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี สาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่งทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง ทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรจะต้องใช้ปุ๋ยมากขึ้นในการบำรุงต้นพืช ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ในขณะที่ได้ผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผา รวมทั้งสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรในระยะต่อไป

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังเข้าร่วมการประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 ในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กรมส่งเสริมการเกษตรตระหนักและห่วงใยสุขภาพของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาหมอกควัน จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยเน้นกิจกรรมถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ส่งเสริมให้มีจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผาทำลาย เช่น การใช้เครื่องสับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นวัสดุคลุมหน้าดิน การทำปุ๋ยหมักน้ำหมักเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน การไถกลบตอซัง การจัดเก็บเศษวัสดุฟางข้าวมาเพาะเห็ดฟาง การอัดฟางก้อน การหมักฟางเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากเดิมมุ่งสู่การทำการเกษตรปลอดการเผาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถเป็นวิทยากรด้านการทำการเกษตรปลอดการเผา และส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา การจัดกิจกรรมนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเพื่อแก้ปัญหาการเผาบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในการดำเนินการร่วมกันของเกษตรกร และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรในช่วงวิกฤตหมอกควัน

โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือที่มีปัญหารุนแรง ประกอบด้วย จังหวัดน่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และจังหวัดอุตรดิตถ์ และยังได้ขยายพื้นที่ดำเนินการไปยังอีก 16 จังหวัด ที่มีพื้นที่การเผาสูง ประกอบด้วย กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และจังหวัดอุดรธานี  กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย การสร้างวิทยากรเกษตรปลอดการเผา การสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา การสร้างสัตยาบันปลอดการเผาของชุมชน – สร้างจิตสำนึก การสร้างระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเหตุไฟไหม้ การจัดระเบียบการเผาในพื้นที่ช่วงวิกฤติหมอกควัน ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ภายใต้มาตรการ 60/100 วัน ห้ามเผา

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานภาพรวมของโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ตั้งแต่ปี 2557-2562 มีการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรเพื่อเป็นเกษตรกรปลอดการเผา ในพื้นที่รวม 1,374 ตำบล เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้ รวม 64,250 ราย สร้างวิทยากรเกษตรปลอดการเผา รวม 7,710 ราย พื้นที่เกษตรปลอดการเผา รวม 1,374,000 ไร่ และจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ที่เป็นพื้นที่เกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มโครงการจาก จำนวน 614 จุด ในปี 2557 เหลือ 313 จุด ในปี 2562 สำหรับตัวอย่างพื้นที่นำร่องชุมชนเกษตรปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตรอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และน่าน จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ 1) ชุมชนต้นแบบปลอดการเผา ตำบลสะเมิงเหนือ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ลดการเผาด้วยการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาผลิตปุ๋ยหมัก ปริมาณ 350 ตัน ราคาขายกิโลกรัมละ 3 บาท รายได้ 1,050,000 บาท 2) ชุมชนต้นแบบปลอดการเผา ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด ปริมาณ 150 ตัน ราคาขายกิโลกรัมละ 20 บาท รายได้ 3,000,000 บาท 3) ชุมชนต้นแบบปลอดการเผา ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน เพาะเห็ดโคนน้อยจากฟางข้าว จำนวน 3 โรงเรือน ใช้ฟางข้าว 4,000 กิโลกรัม ต่อปี ผลิตเห็ดได้ 750 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 160 บาท รายได้ 120,000 บาท และ 4) ชุมชนต้นแบบปลอดการเผา ตำบลทุ่งศรีทอง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ผลิตฟางอัดก้อนจำหน่าย (ได้รับการสนับสนุนเครื่องอัดฟางจากภาครัฐ) ปริมาณ 20,000 ก้อน ราคาขายก้อนละ 30 บาท เมื่อหักต้นทุนแล้ว มีรายได้ 150,000 บาท และผลิตปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพด ปริมาณ 25,000 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 5 บาท มีรายได้ 125,000 บาท รวมทั้ง 2 กิจกรรม มีรายได้รวม 275,000 บาท

โดยในปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร มีแผนการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ภายใต้แผนงานบูรณาการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีเป้าหมายจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร จำนวน 16,800 ราย สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาเพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร 210 ชุมชน ประกอบด้วย 130 ตำบล ใน 10 จังหวัดภาคเหนือที่มีประสบปัญหารุนแรง 68 ศพก. ในพื้นที่ 26 จังหวัด ที่มีพื้นที่การเผาสูง และ 12 ศพก. ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ใหม่)