แนวทางพิจารณาแก้ไขเร่งด่วน ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ประธานอนุกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง สั่งลุยทันที!!

แนวทางพิจารณาแก้ไขเร่งด่วน ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ มันสำปะหลัง ข้าวโพดประธานอนุกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง สั่งลุยทันที!!

ตอน หารือหน่วยงานร่วมแก้ปัญหาพื้นฐาน

ประชุมครั้งแรกของอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาเรื่องข้าวโพดและมันสำปะหลัง ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐบาล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 19 กรกฎาคม 2562 ณ อาคารรัฐบาลใหม่ เกียกกาย ชั้น 4

ก่อนอื่น ต้องขออนุญาตผู้อ่านถึงความเป็นมาของปัญหาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำมาหลายปี สร้างความเดือดร้อนของบรรดาพี่น้องที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมไปทุกหย่อมหญ้า ว่ากันอย่างนั้น พลอยทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลงตามๆ กัน

ตลอดระยะเวลา 5 ปีเศษ ที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การเข้าถึงของเกษตรกรไปสู่ผู้แทนนั้น ต้องทิ้งช่วงไปของการขอความช่วยเหลือเป็นตัวแทนความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นได้เพื่อลดบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง เกษตรกรเข้าใจที่พวกเขาขาดที่พึ่งไป

ครั้นเมื่อผ่านพ้นการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรไปแล้ว ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเป็นรูปธรรมขึ้นมานั้น เป็นประชาธิปไตยแล้ว

และสิ่งแรกที่รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาเร่งด่วน!! ให้นำไปพิจารณาแก้ไขของปัญหานั้นก็คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ แม้ว่ารัฐบาลเก่า หรือ คสช.เคยแก้ไขมาบ้าง แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำ ว่างั้นเถอะ

การกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่อีกครั้ง ย่อมเข้าใจถึงปัญหาเก่าที่ตกค้างมา ภายหลังได้แบ่งเป็นคณะกรรมาธิการออกมาเป็น 35 คณะ แล้วรัฐบาลไม่รอช้า เพราะความเดือดร้อนและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องมีการเยียวยาทันที!

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็น 1 ใน 35 คณะกรรมาธิการที่ผ่านการแต่งตั้งมานั้น โดยมี ส.ส.วีระกร คำประกอบ จากจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้

โดยแบ่งเป็นอนุกรรมาธิการออกมาเป็นหกอนุกรรมาธิการ เพื่อแก้ไขปัญหาพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่กำลังเดือดร้อน เพราะเป็นอาชีพที่มีความสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติและครอบครัว

การผลิตมันสำปะหลังไทย

พืชเศรษฐกิจดังกล่าวที่ต้องเร่งแก้ปัญหาด่วน ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว อ้อย ผัก ผลไม้ มะพร้าว สับปะรด มันสำปะหลัง และข้าวโพด ประธานอนุกรรมาธิการได้รับมอบหมายจากประธานให้เร่งดำเนินการโดยด่วน ข่าวว่าต้องแล้วเสร็จภายใน 60 วัน เร็วทันใจ ที่เป็นความหวังของเกษตรกรถ้วนหน้า ที่รอคอยมาช้านาน เหมือนข้าวรอฝน ทำนองนั้น

ด้วยเวลาที่จำกัด บวกกับความกระตือรือร้นของบรรดาผู้แทนราษฎร ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ที่ไฟแรง มุ่งมั่น ที่เคยได้สัญญิงสัญญากับเกษตรกร ในช่วงเวลาหาเสียงการเลือกตั้ง เมื่อได้เป็นผู้แทนแล้วต่างจับจองพืชท้องถิ่นที่เป็นพืชเศรษฐกิจของบ้านผู้แทน มีหรือจะไม่รีบคว้าโอกาสทองได้เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรของบ้านตัวเอง หรือจังหวัดที่ตนเองสังกัด

ดังนั้น เพื่อเป็นการการันตีว่า จะมาแก้ไขปัญหาให้ราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้น ว่ากันอย่างนั้น รับปากแล้วต้องเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องอย่างเฉียบพลัน!!

กลับมากล่าวถึงอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาเรื่องข้าวโพดและมันสำปะหลัง ประธานอนุกรรมาธิการ ได้แก่

ส.ส.อนันต์ ผลอำนวย ประธานอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาเรื่องข้าวโพดและมันสำปะหลัง

ส.ส.อนันต์ ผลอำนวย จากกำแพงเพชร มาเป็นประธาน ประกอบด้วย รองประธาน อนุกรรมาธิการ โฆษก และที่ปรึกษา รวมแล้ว 27 คน ประกอบด้วย ผู้แทนราษฎรที่มาจากจังหวัดที่ปลูกพืชดังกล่าว ที่คุ้นเคยพื้นที่ของตัวเองเป็นอย่างดี คณะที่ปรึกษาล้วนมาหลากหลายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดและมันสำปะหลังเป็นส่วนใหญ่ ทั้งความรู้ด้านโรงงาน แปรรูป การส่งออกพืชผลที่ได้คัดเลือกจากผู้มีประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด ว่ากันอย่างนั้น เพราะมีจุดประสงค์เดียวกัน

การประชุมนัดแรกของคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาเรื่องข้าวโพดและมันสำปะหลัง ที่อาคารรัฐสภาใหม่ เกียกกาย ชั้น 4 ห้อง 415 ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น

โดยมีประธานอนันต์ ผลอำนวย ประกอบด้วย คณะทำงานเป็นทีม เพื่อเข้าร่วมประชุมทั้งภาคเช้าและบ่าย

ส่วนผู้รับเชิญเข้ามาให้ข้อมูล มีทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และเกษตรกร เข้ามาร่วมด้วย ที่มีฐานเข้ามาเกี่ยวข้องกับพืชดังกล่าว ล้วนมีประสบการณ์เช่นกัน

หน้าที่หลักของงานที่เกี่ยวข้องที่เชิญมาให้ข้อมูลนั้น ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ นอกนั้นเป็นภาคเอกชน เกษตรกรที่ปลูกพืช

ประธานกล่าวเปิดประชุม เวลา 09.00 น. ทันที ก่อนเวลานัดหมายเล็กน้อย เกรงว่าจะยืดเยื้อ เป็นผู้แทนราษฎรมานานหลายสมัย กล่าวถึง

“พืชผลทางการเกษตร มีปัญหาเกิดขึ้นสะสมมาช้านาน เมื่อมีผู้แทนราษฎรที่เข้ามาต้องทำงานกันอย่างเร่งด่วน แก้ไขปัญหาให้เกษตรกร โดยผ่านการแก้ปัญหาและข้อเสนอแนะ ที่ข้าราชการเป็นเครื่องมือกลไกของรัฐบาล จะแก้ไขอย่างไร ได้เชิญเกษตรจังหวัดในท้องถิ่นปลูกพืชมาด้วย ให้ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ได้ข้อมูลเพิ่มสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วน”

ต่อจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่วาระการประชุม โดยมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงมาให้ข้อมูลด้วย คือกรมส่งเสริมการเกษตร

เช้านี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรและทีมงานมาร่วมให้ข้อมูล รายแรกพอสรุปได้ดังนี้

“อธิบดีได้กล่าวถึงหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด เริ่มจาก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก่อนว่า มีพื้นที่ปลูก 8.4 ล้านไร่ รวมพื้นที่ป่าสงวนฯ ด้วย ได้ผลผลิต 5 ล้านตัน ปัญหาข้าวโพดที่ปลูกบุกรุกป่า มักจะถูกกดราคารับซื้อ ข้าวโพดอาศัยน้ำฝนทั้งนั้น มีปัญหาเชื้อรากระจายการผลิต และปลูกข้าวโพดหลังนามา 3 ปี หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ราวเดือนธันวาคมเพื่อปลูกแทนข้าวนาปรังในเขตชลประทาน หรือมีบ่อบาดาล ลดการเสี่ยง ทำเอ็มโอยู ข้อตกลงกับสมาคมพ่อค้าข้าวโพด ผ่านมา 3 ปี ลดพื้นที่บุกรุกป่าลงได้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ขายได้กิโลกรัมละ 7 บาท ต่อกิโลกรัม ความชื้น 14.5% ส่งเสริมที่ผ่านมา

ปัญหาถัดมา เรื่องหนอนกระทู้ระบาด ใช้วิธีกำจัดโดยธรรมชาติ ตัวห้ำ ตัวเบียน ลดการระบาดได้ 10-15% ก่อนใช้สารเคมี ปัญหาฝนทิ้งช่วงปีนี้ 2 ล้านไร่ แพร่ และพะเยา เป็นพื้นที่ระบาดหนอนกระทู้ และปัญหาศัตรูพืช ทำให้เพิ่มต้นทุน ราคาขาย 7 บาท ไม่มีปัญหา

พืชเศรษฐกิจถัดมา ได้แก่ มันสำปะหลัง อธิบดีได้มีการปลูก 8 ล้านไร่ เป็นพืชไร่ ไม่ประณีต อาศัยน้ำฝน ต้นทุนน้อย ใช้เครื่องจักรน้อย ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพ ปลายปีที่แล้วมีโรคระบาด โรคใบด่างระบาด 9 จังหวัด ท่อนพันธุ์ติดเชื้อมา ควบคุมยาก ในการข้ามเขต รณรงค์ให้ใช้ท่อนพันธุ์สะอาด” จบรายงานจากอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ประธานเสริมถึงปัญหา กล่าวว่า ปริมาณเรื่องน้ำ ที่ดิน พันธุ์ และตลาด จะไปขายที่ไหน สรุปต้องบูรณาการน้ำหยดกับกรมพัฒนาที่ดิน

หลังจบชี้แจงของอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว ถัดมาเป็นคิวสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่มีบทบาทเรื่องข้อมูลการเกษตร มีหน้าที่โดยตรง มีเขตเศรษฐกิจการเกษตรอยู่ทั่วประเทศ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

รองเลขาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มาชี้แจงข้อมูลถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไว้ว่า

“การผลิตข้าวโพด 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มพื้นที่ปลูกหลังนา จาก 4 ล้านไร่ เป็น 5 ล้านไร่ แทนข้าวนาปรัง กล่าวถึง สถานการณ์โลกลดลง ความต้องการใช้มากขึ้น ไทยมีความหวังสูงมาก ตลาดต้องการ 8 ล้านตัน ต้องส่งเสริมให้มากขึ้นถึง 2 ล้านไร่ แต่ทำได้ 7 แสนไร่

ปัญหา บางช่วงราคาตกต่ำ สิงหาคม-กันยายน และพฤศจิกายน ราคาดิ่งลง เพื่อนบ้านผลิต แล้วลักลอบข้ามมาขาย ช่วงฝนความชื้นขึ้นสูง ปัจจัยราคา คุณภาพ เก็บเกี่ยวฤดูฝน ถูกกดราคา 5 ปีที่ผ่านมา 6 บาท ต่อกิโลกรัม และขึ้นมา 7 บาท ต่อกิโลกรัมเศษ

กล่าวถึงเรื่องมันสำปะหลัง รองเลขาฯ กล่าวถึงผลผลิตลดลง จากปีที่แล้ว 31 ล้านตัน ปี 2563 จะเพิ่มเป็น 32 ล้านตัน พื้นที่เก็บเกี่ยวลดลง ต้นทุนแนวโน้มลดลง ผลผลิต 3.4 ตัน ต่อไร่ เพิ่มเป็น 3.6 ตัน ต่อไร่ สถานการณ์โรคระบาดใบด่าง ผลผลิตลดลงใน 7 จังหวัด

ปัญหาที่เกิดขึ้น จีนลดการนำเข้ามันเส้น ตลาดใหญ่อยู่ที่จีน ลูกค้ารายใหญ่ ราคามันเส้นลดลง แต่ราคาแป้งมันดีขึ้นนิดหน่อย

เรื่องความสะอาดของมันเส้นไทยยังไม่มีมาตรฐาน เครื่องจักรทำมันเส้นยังไม่สะอาดพอ และคุณภาพต้องปรับปรุง ส่วนระบบทำน้ำหยดในแปลงมันสำปะหลังยังมีปัญหา ท่อนมันเล็ก การลักลอบเพื่อนบ้านนำเข้ามาลดลง เพราะถูกโรคระบาดใบด่าง มาตรฐานต้องให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดคุณภาพ”

ประธานเสริมถึงรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติปี 2560 ให้นักการเมืองและข้าราชการทำด้วย เรื่องบริหารจัดการผลดี ยุทธศาสตร์ มีผลกระทบกับหน่วยงานไหน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ลำดับถึง กรมวิชาการเกษตร ที่ผ่านมา โดยรองอธิบดีได้ชี้แจง

“สถานการณ์โรคแมลงที่เกิดขึ้นใหม่ ระบาด หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ปี 2559 มาจากแดนไกล จากทวีปแอฟริกา มาถึงเอเชีย อินเดีย แมลงบินไกลระบาดหนัก ในปี 2561 รวดเร็วถึงพม่า ไทย ลาว มาเลเซีย เวียดนาม

การควบคุมป้องกันใช้ยาคลุกเมล็ดข้าวโพด การพ่นสารเคมี 1-2 ครั้ง ช่วงสุดท้าย 46 วัน ถึงเก็บเกี่ยว พ่นยาให้มีประสิทธิภาพ

เรื่องมันสำปะหลัง โรคใบด่าง ไวรัสทำให้ผลผลิตเสียหาย 20-100% อายุ 1-4 เดือน ปี 2558 ระบาดในกัมพูชา ติดพรมแดนไทย ที่สุรินทร์ ศรีสะเกษ ปี 2561 ทำลาย ฝังต้นมัน สัก 3 เมตร มีคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายท่อนมัน ให้ความรู้ คู่มือแก่เกษตรกร ต้องใช้มาตรการในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ แผนปลอดภัยบรรลุเอาไว้”

ประธาน ให้ดูแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้าราชการไปดูเป็นคัมภีร์ให้เตรียมงานวิจัย เพื่อตอบกระทู้ในสภาขอความร่วมมือ อธิบดี เพื่อเจาะถึงเกษตรกร มีเกษตรจังหวัดเป็นตัวเชื่อมแก้พื้นฐานไว้ก่อน ให้รอดไว้ก่อน ถ้ารัฐบาลไม่รอด ข้าราชการไม่รอดเช่นกัน

กรมพัฒนาที่ดิน รองอธิบดีได้กล่าวถึง เป็นฐานชี้เป้า ข้อมูล พื้นฐาน ที่มีดินทั่วประเทศ ให้หมอดินอาสามีแผนที่การใช้ที่ดิน โซนนิ่ง สภาพที่ดิน เหมาะกับการเพาะปลูก แบ่งเป็นชั้นของดิน พื้นที่เหมาะสม พื้นที่เหมาะสมปานกลาง พื้นที่เหมาะสมเล็กน้อย และพื้นที่ไม่เหมาะสม

มันสำปะหลัง พื้นที่เหมาะสม 8 แสนไร่ ป่าสงวนฯ 2 ล้านไร่ วางแผนแก้ปัญหาปลูกพืชอาหารหน้าดินเพื่อแก้ปัญหา ใส่ปุ๋ย การวิเคราะห์ดิน ลดต้นทุนการผลิต ลดความเสื่อมโทรมดินตามยุทธศาสตร์ชาติ

ประธานเสริม “กรมพัฒนาที่ดินที่ต้องติดตามดูผลงาน แม้กรมชลประทานยังไม่สามารถตอบได้ว่า น้ำจะพอเพียง ยังมีปัญหา ติดตามดูบ่อจิ๋วของกำแพงเพชร เสนอในสภายังแก้ไขไม่ได้ บ่อจิ๋วใช้โซลาร์เซลล์ให้มีน้ำใช้กับพืชระยะสั้น มันสำปะหลัง ขุดมา 60 ครั้ง ต่ออายุขัยของคนปลูก มันสำปะหลังอายุ 1 ปีเศษ ถ้าไม่มีบ่อจิ๋ว ไม่มีอะไรเติมน้ำให้มัน เท่ากับเป็นหลุมหลบภัย

 

กรมการค้าภายใน กล่าวถึง มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลาดมันสำปะหลังไม่พอกับความต้องการ ข้าวโพดผลผลิตตกต่ำ กระจุกตัว ต้นทุนสูง

อัตราการผลิตมันเส้น กับมันอัดเม็ด 36% รองมาเป็นแป้งมันและเอทานอล 6% พาณิชย์ให้เงินสนับสนุนแปรรูปมันเส้น ให้สินเชื่อเกษตรกรมันสำปะหลัง รัฐบาลช่วยดอกเบี้ย เพิ่มประสิทธิภาพทำน้ำหยด

การแก้ไขปัญหาช่วยเหลืออายุมันสำปะหลัง ใบด่าง หมดอายุรัฐบาลไปก่อน ปัญหาการนำเข้าเอกชนอาหารสัตว์ ที่เอาข้าวสาลีเข้ามาต้องเป็นปัญหา 3 : 1 ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรในประเทศ การงดซื้อข้าวโพดที่ปลูกพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ มันสำปะหลังต้องมีความสะอาด ในการทำมันเส้นส่งออกจีนลดเปอร์เซ็นต์ทรายให้น้อยลง

กรมการค้าต่างประเทศ นำเข้าส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผูกพันกับองค์การการค้าโลก เกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้าในกรอบ WTO มันสำปะหลัง ส่งออกมันเส้น ต้องขออนุญาตก่อน ตลาดต่างประเทศ มันเส้น มัดอัดเม็ด ตลาดจีนป็นตลาดใหญ่ รองมาตุรกี ยุโรป จะขยายเปิดตลาด แป้งมันส่งออกญี่ปุ่น

ผู้อำนวยการคลังสินค้า เครื่องมือแทรกแซงสินค้าเกษตร 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีโครงการรับจำนำ ข้าวโพด มันสำปะหลัง สต๊อก ดูแลรักษา มีมติให้ระบายสินค้าดังกล่าว เพื่อระบายออกไป

กรมศุลกากร ทำยุทธศาสตร์มาใช้การลักลอบสินค้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เอกชนนำเข้า จับได้ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม ปี 2562 จับได้มากกว่าปี 2561 จุดลักลอบข้าวโพดตามชายแดนกัมพูชา อรัญประเทศ จันทบุรี ตราด แม่สอด

ประธาน ปัญหากรมศุลกากรเกี่ยวกับอัตรากำลังจุดไหนเป็นจุดล่อแหลม คับแคบ เข้าออกง่าย กำลังเจ้าหน้าที่น้อย อุปสรรคอยากให้รัฐบาลดูแลอย่างไร

เกษตรกรจังหวัด ปัญหาจังหวัดที่ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร นครราชสีมา ชัยภูมิ สระแก้ว เพชรบูรณ์ มีปัญหาคล้ายกันกล่าวคือ ที่ดิน น้ำ ฝนทิ้งช่วง และโรคระบาด หนอนกระทู้ข้าวโพด โรคใบด่างมันสำปะหลัง

คุณรังษี ไผ่สอาด ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการ ไปดูการระบาดโรคใบด่างไวรัสของเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว

นอกจากนี้แล้ว ยังมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรให้ความเห็นในเรื่องงานวิจัยพันธุ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ภูมิศาสตร์ สารสนเทศ โซนนิ่ง การสนับสนุนให้ปลูกพืชตามความเหมาะสมของดิน อบรมให้ความรู้

หลังพักเที่ยงแล้ว เริ่มภาคบ่าย ให้เกษตรกร เจ้าของโรงงาน แปรรูป และการผลิตเอทานอลที่ยังค้างคาปัญหาต่างๆ ที่จะสอบถาม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อคลายปมปัญหาสินค้าส่งออกเป็นมันเส้น มีทรายปนมาก จะแก้ไขอย่างไร เมื่อลูกค้าจากจีนซื้อไป มีทรายปนปลอมในสินค้า ปัญหาใบด่าง ให้อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรแก้ไขปัญหามันสำปะหลัง และการระบาดโรคพืชตามชายแดน การลักลอบสินค้าเข้ามา เป็นต้น

การประชุมครั้งนี้ มีความพร้อมทั้งอนุกรรมาธิการ และหน่วยงานราชการ ขอรับผิดชอบ ภาคเอกชน เกษตรกร ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมเพรียงข้อมูลที่นำเสนออย่างครบครัน

เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้แทนราษฎรที่มีใจจดจ่อมุ่งมั่น อยากช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นที่มีความหวังรอคอยความช่วยเหลือจากพวกท่านเช่นกัน อีกไม่นานเกินรอ รัฐบาลคงรู้แนวทางช่วยเหลือจากข้อมูลที่มาจากพวกท่านที่มาให้ข้อมูลนี่แหละ ที่จะนำพาแก้ไขได้ฉับพลัน