อ.จุฬาฯ ร่อน จม. ถึง ‘อนุทิน’ ชี้ ขาดความรู้ปมแบน “พาราควอต” จับแพะชนแกะ “ยาฆ่าแมลง-ฆ่าหญ้า”

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

(วันที่ 10 ต.ค.) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ “จดหมายเปิดผนึก” บนเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยตั้งค่าสาธารณะ ถึงนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรณีการยกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

“ขออนุญาตพูดแบบตรงไปตรงมา ไม่เป็นทางการนะครับ ผมว่าคุณอนุทิน และรัฐมนตรีในสังกัด โดนหลอกให้เป็นเครื่องมือในการแบนสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดนี้ โดยที่คุณอนุทินได้รับข้อมูลความรู้ที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง

สังเกตได้จากการให้คำสัมภาษณ์ของแต่ละท่าน ที่เห็นได้ชัดว่ายังมีความไม่เข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับเรื่องของสารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้ โดยเฉพาะในการมองว่า สารทั้ง 3 ตัว เป็นสารพิษอันตรายเหมือนกันหมด ต้องแบนให้ได้โดยเร็วเหมือนกันหมด ทั้งๆ ที่ จริงๆ แล้ว สารทั้ง 3 ตัว เป็นสารคนละประเภทกัน ระดับความเป็นพิษก็แตกต่างกัน และวิธีการใช้ให้เหมาะสมนั้น ก็คนละเรื่องกันด้วย

อย่างตัวแรกคือ “คลอร์ไพรีฟอส” ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลง ที่มีระดับความเป็นพิษปานกลาง และถ้าใช้ไม่เหมาะสม ก็อาจจะมาถึงผู้บริโภคภายหลังได้ อันนี้อยากแบน ก็แบนได้เลยไม่มีใครบ่น ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งของเกษตรกรหรือแม้แต่ผู้ประกอบการค้าสารเคมี เพราะเขาก็ยังมียาฆ่าแมลงอีกเป็นร้อยๆ ชนิดให้ใช้ ประเด็นคือ เราต้องพยายามทำให้เกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงด้วยวิธีที่เหมาะสมถูกต้องปลอดภัย

แต่การที่ท่านถูกปลูกฝังให้เอาอันตรายของยาฆ่าแมลง มาผสมเป็นเรื่องเดียวกันกับยาฆ่าหญ้าอย่างพาราควอตและไกลโฟเสตนั้นกลายเป็นเรื่องจับแพะชนแกะ สร้างความหวาดกลัวให้กับสังคมเกินเหตุ และผิดจากความเป็นจริงในการใช้งานของมัน

ยาฆ่าหญ้าที่มีประสิทธิภาพดีและราคาถูกอย่าง “พาราควอต” ซึ่งมีประเทศที่ใช้อยู่ทั่วโลกกว่า 80 ประเทศนั้น ปัญหาใหญ่ของมันไม่ใช่เรื่องของการที่จะตกค้างมาสู่ผู้บริโภค แต่เป็นเรื่องของการที่มีผู้นำไปใช้กินฆ่าตัวตาย หรือเกษตรกรใช้ผิดวิธี ไม่ป้องกันตนเองให้เหมาะสมจนเกิดอันตรายขึ้นได้ จากฤทธิ์ที่เฉียบพลันรุนแรงของมัน

ดังนั้น การแบนพาราควอตจึงกลายเป็นการทำร้ายเกษตรกรที่ใช้สารอย่างถูกต้องอยู่แล้ว สิ่งที่คุณอนุทินและรัฐมนตรีในสังกัดควรจะทำ จึงเป็นเรื่องการกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัย ให้ใช้สารได้เฉพาะเกษตรกรมืออาชีพที่ผ่านการอบรม รวมทั้งมีระเบียบการเก็บรักษาไม่ให้เสี่ยงเป็นอันตราย เหมือนอย่างในนานาอารยประเทศที่เจริญแล้วเขาใช้กัน (ดู Environmental Protection Agency ของสหรัฐ
https://www.epa.gov/…/paraquat-dichloride-training-certifie… )

ที่สำคัญคือ ยาฆ่าหญ้าอีกตัว ซึ่งก็คือ “ไกลโฟเซต” นั้น ไม่มีเหตุผลสมควรอะไรเลยที่จะต้องไปแบน เพราะเป็นสารที่มีระดับความเป็นพิษต่ำมาก องค์การอนามัยโลก WHO และองค์การอาหารโลก FAO จัดว่ามันเป็นสารที่ใช้ได้โดยไม่ก่อให้อันตรายต่อสุขภาพ ( จาก
https://www.who.int/foodsafety/jmprsummary2016.pdf) องค์กรทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลกแทบทุกองค์กร ก็ยืนยันว่ามันไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง แทบไม่มีประเทศใดเลยที่แบนสารตัวนี้ และมักจะนิยมใช้เป็นทางออกเป็นสารทดแทนเสียด้วยซ้ำ ในกรณีที่จะแบนพาราควอต (แม้ว่าจะประสิทธิภาพไม่ดีเท่าเทียมก็ตาม) แล้วจะไปตีขลุมแบนมันไปด้วยทำไม

สิ่งที่ผมเรียกร้องจากคุณอนุทินและรัฐมนตรีในสังกัดก็คือ ควรจะเปิดรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน (ให้ผมไปเล่าแบบสรุปย่อๆ ง่ายๆ ให้ฟังก็ได้ แป๊บเดียวก็เข้าใจ) ไม่ใช่แค่จากคนใกล้ตัวที่ให้ข้อมูลด้านเดียว แล้วทำให้พวกท่านถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางที่ผิดได้ ซึ่งสุดท้าย เผือกร้อนนี้ก็จะตกอยู่บนตัวของพวกท่าน และเป็นตราบาปของพรรคของท่านในสายตาของเกษตรกรไทยไปอีกยาวนาน