ทช. ปลูก ‘ป่าชายเลน’ ในนาเกลือ ครั้งแรกในประเทศไทย 225 ไร่

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเครือข่ายประชาชน ปลูกป่าชายเลนในนาเกลือที่ยึดคืนมา ครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมตั้ง ‘ธนาคารปู’ หนุนปลูกป่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ ทำรายได้ 144 ล้าน ต่อปี

นางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทช. ร่วมกับเครือข่ายภาพภาคประชาชน จังหวัดเพชรบุรี ปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ยึดคืนบริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีสภาพเป็นนาเกลือ จำนวน 255 ไร่ นับว่าเป็นการท้าทายความสามารถงานด้านวิชาการเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่นาเกลือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ ทช. ยังสนับสนุนให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าของภาคเอกชนที่ชุมชนยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาป่าชายเลน ทั้งถูกบุกรุกทำลายสร้างความเสื่อมโทรมในพื้นที่ เนื่องจากการนำทรัพยากรป่าชายเลนมาใช้มากจนเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะผลิตขึ้นทดแทนได้ ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศป่าชายเลนโดยตรง และระบบนิเวศประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องบริเวณชายฝั่ง

อธิบดี ทช. กล่าวต่อว่า ทช. จึงได้กำหนดต้นแบบสวนป่าชายเลนภาคเอกชน หรือป่าชายเลนเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งชาวบ้านได้ปลูกสวนป่าชายเลนในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของตนด้วยการนำไม้จากป่าชายเลน โดยเฉพาะไม้โกงกางมาทำถ่าน ส่งขายทั้งในและต่างประเทศเป็นรายได้หลักจากต้นแบบสวนป่าชายเลนในชุมชนยี่สารได้ขยายการปลูกสวนป่าชายเลนสู่ตำบลข้างเคียง เช่น ตำบลคลองโคน อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม อำเภอบางตะบูน และอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี อีกด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจของ ทช. พบว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่ได้ประกอบอาชีพโดยการเผาถ่าน แบ่งเป็นการปลูกสวนป่าและมีเตาเผาถ่านเป็นของตนเอง จะมีรายได้ประมาณ 105,140 บาท ต่อไร่ แต่หากซื้อไม้โกงกางจากผู้ปลูกรายอื่น แต่มีเตาเผาถ่านเป็นของตนเองจะมีรายได้สุทธิประมาณ 75,140 บาท ต่อไร่ และถ้าต้องซื้อไม้และต้องเช่าเตาเผาถ่านจะมีรายได้สุทธิประมาณ 70,140 บาท ต่อไร่ สรุปการหมุนเวียนเงินจากการปลูกป่าชายเลนเศรษฐกิจมีมูลค่าประมาณ 144 ล้านบาท ต่อปี

“ที่สำคัญ ทช. ยังได้สนับสนุนชุมชนชายฝั่งเรื่องการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรทางทะเลผ่านโครงการธนาคารปู ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรปูทะเลให้กับทะเลไทย โดยการที่ให้ชาวประมงที่จับปูในแต่ละวันนำแม่ปูที่มีไข่แก่ติดหน้าท้องมาฝากไว้ในกระชังที่จัดทำขึ้นแบบส่วนรวม เรียกว่าธนาคารปู ซึ่งโครงการดังกล่าว ทช. ส่งเสริมให้ชุมชนชาวประมงชายฝั่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ อย่างที่ชุมชนหาดเจ้าสำราญ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ก็ได้นำปูม้าเข้ามาฝากไว้ที่ธนาคารปูแห่งนี้ทุกวัน เมื่อแม่ปูม้าเขี่ยไข่ออกจากหน้าท้องแล้ว จึงนำแม่ปูไปขาย ส่วนไข่หลังจากอนุบาลสักระยะก็ปล่อยลงสู่ทะเลให้เจริญเติบโตต่อไป” นางสาวสุทธิลักษณ์ กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน