ระวัง!กินฝรั่งดองแช่บ๊วยอาจถึงตาย

เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยสยาม ได้เก็บตัวอย่างผลไม้รถเข็นจากแหล่งจำหน่าย 38 แหล่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อทดสอบการปนเปื้อนในอาหาร (test kit) ของกรม วิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 รายการ ได้แก่ ชุดทดสอบหายาฆ่าแมลงในอาหาร ชุดทดสอบกรดซาลิซิลิคในอาหาร (สารกันรา) ชุดทดสอบสีสังเคราะห์ในอาหาร และชุดทดสอบโคลิฟอร์มในอาหาร (เชื้อจุลินทรีย์)

 

พบ ผลไม้ 153 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของแบคทีเรียโคลิฟอร์มเกินกว่ามาตรฐานกำหนดถึงร้อยละ 67.3 พบการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ในตัวอย่างผลไม้ 161 ตัวอย่างร้อยละ 16.2 และพบการปนเปื้อนของสารกันรา ร้อยละ 40.7 โดยไม่พบการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในผลไม้สด

 

ส่วน ผลไม้แปรรูปมีการปนเปื้อนหรือเจือปนของสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายถึงร้อยละ 64.2 ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งดองบ๊วยที่มีสีเขียวเข้มและสีแดงเข้มจนม่วง แบ่งเป็นการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ ร้อยละ 32.1 และปนเปื้อนสารกันรา ร้อยละ 32.1 การใช้สารหรือวัตถุเคมีเจือปนในผลไม้รถเข็น ถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายฯ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบ ผู้ประกอบการและผู้จำหน่ายต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความไม่ปลอดภัยใน “ผลไม้รถเข็น” ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทดสอบหาสารปนเปื้อนในผลไม้รถเข็นด้วยการสาธิต “การทดสอบสารปนเปื้อนในผลไม้รถเข็น” โดยใช้ชุดทดสอบอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กับผลไม้ตัวอย่างจากแหล่ง ต่างๆ จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ทดสอบสารกันราในผลไม้ดอง ทดสอบสีสังเคราะห์ฝรั่งแช่บ๊วย และทำสอบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในอาหาร เพื่อให้ประชาชนที่บริโภคผลไม้รถเข็นได้รับการคุ้มครองและปลอดภัยจากสารปน เปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งเป็นการป้องกันการใช้วัตถุดิบที่ไม่เหมาะสมในการจำหน่ายผลไม้รถเข็น

 

ประชาชนที่บริโภคผลไม้และอาหารที่มีสีสันสวยงามจากการปนเปื้อนสารเคมี อาทิ สารกันรา สีสังเคราะห์ อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ มีไข้ หายใจขัด อาจก่อให้เกิดมะเร็ง รวมทั้งร่างกายอ่อนแอ ขาดความต้านทานโรค และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้บริโภคควรเลือกรับประทานผลไม้โดยพิจารณาจากสีและรูปลักษณะภายนอก ที่เป็นธรรมชาติ ไม่มีสารเจือปน เลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ พร้อมทั้งพิจารณาจากความสะอาดของตู้ อุปกรณ์ที่ใช้ในการจำหน่ายผลไม้ การแต่งกายของผู้ค้าควรสวมถุงมือ ผ้ากันเปื้อน และหมวกคลุมผมที่สะอาด ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกวิธีเตรียมผลไม้รับประทานเอง

ข้อมูลจาก : กรมแพทย์

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.thaihealth.or.th/files/u1490/1_154.jpg