32 ปี เทคโนโลยีชาวบ้าน 32 ก้าวย่าง ที่ไม่หยุดนิ่ง

นับตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา ถือว่า นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน มีอายุก้าวสู่ปีที่ 32… กว่า 30 ปี นิตยสารได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนทางด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง หากท่านที่ติดตามการทำงานของพวกเรามาโดยตลอด จะทราบระบบการผลิตสินค้าการเกษตรของไทยเป็นอย่างดี เพราะมีการรวบรวม เรียบเรียง ผู้ประสบความสำเร็จมานำเสนอ ทุกสาขาอาชีพการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นทางด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง การแปรรูปสินค้าเกษตร การตลาด การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และอื่นๆ

อาชีพเกษตรกรรมบางสาขา ได้แบ่งแยกย่อยออกไปอีก อย่างทางด้านพืช มีพืชไร่นา พืชสวน พืชสวนอุตสาหกรรม พืชสมุนไพร

ทางด้านอื่น อย่างปศุสัตว์ ก็แบ่งเป็นสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ สัตว์เลี้ยงสวยงาม แต่ทีมงานก็ตามเก็บข้อมูล เพื่อนำเสนอให้กับผู้สนใจ

กิจกรรมเสริมที่มิตรรักนักอ่านเทคโนโลยีชาวบ้านทราบกันดี ถือว่าเป็นจุดเด่นคือ เสวนาเกษตรสัญจร งานสัมมนาวิชาการที่อยู่ในความสนใจ

ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 32 ทีมงานจึงได้จัดสัมมนา “ไม้ผลพารวย ยุค 5 G” ขึ้น ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 13.00-16.00 น.

วิทยากรเริ่มจาก คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 มาบอกเล่า “ผลิตทุเรียนให้รวยอย่างยั่งยืน” คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน จาก บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด มาเล่าว่า “ส่งมะพร้าวน้ำหอมไปต่างประเทศ วันละ 1 แสนลูก ทำได้อย่างไร” คุณเสาวณี วิเลปะนะ เจ้าของแบรนด์คิง ฟรุทส์ เล่าประสบการณ์ “ส่งกล้วยหอมขึ้นห้างฯ วันละ 15 ตัน” และ ดร. วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาให้ความรู้ “เทคโนโลยี ยุค 5 G เพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร”

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6

ทุเรียน ปลูกให้รวยยั่งยืนและเป็นเศรษฐีได้ แต่ต้องเรียนรู้หลัก 4 ประการ

ผอ. ชลธี นุ่มหนู จะบอกให้รู้

ทุเรียน เป็นไม้ผลยอดฮิตในปัจจุบัน ทุกภาคสนใจปลูก แต่จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน และความเข้าใจในการดูแลรักษา

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี บอกว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถส่งออกต่างประเทศปีหนึ่งทำเงินหลายหมื่นล้านบาท เกษตรกรส่วนหนึ่งที่ปลูกทุเรียนมีรายได้ดีถึงขั้นเป็นเศรษฐี

แต่การที่จะปลูกทุเรียนแล้วขายได้ขายดี ต้องทำคุณภาพ เมื่อถึงเวลาขายต้องไม่มีแมลง โรค อยู่ที่ผล ไม่ตัดทุเรียนอ่อน หากดูภายใน ทุเรียนเนื้อไม่แกร็น ไม่ไส้ซึม และที่สำคัญมากนั้น ไม่มีสารตกค้างที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ผลผลิตทุเรียนเพื่อการส่งออก

การผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพดี มีหลัก 4 ประการ ด้วยกัน

ประการที่หนึ่ง…ต้องเข้าใจพืช โดยเฉพาะเรื่องการเจริญเติบโต มีช่วงไหนที่พืชสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค การเข้าทำลายของศัตรูพืช การออกดอก ติดผล และอื่นๆ

ประการที่สอง…ต้องเข้าใจปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมนต่างๆ หากเข้าใจจะลดต้นทุนการผลิตได้ ตรงกันข้าม หากไม่เข้าใจจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต และสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

ประการที่สาม…ต้องเข้าใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งแวดล้อมแต่ละช่วงแตกต่างกัน อย่างทุเรียนออกดอกต้องการสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะติดผลต้องการความชื้นมากน้อยขนาดไหน ทุเรียนแตกใบอ่อนขณะติดผลป้องกันและแก้ไขอย่างไร

ประการสุดท้าย…ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ทั้ง 3 ประการ ที่กล่าวมา คือเข้าใจพืช เข้าใจปัจจัยการผลิต และสิ่งแวดล้อม หากเข้าใจจะสามารถผลิตทุเรียนมีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้

การผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพนั้น ต้องมีเทคโนโลยีที่เหมาะสม กรมวิชาการเกษตร ในฐานะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วิจัยและรวบรวมข้อมูลไว้ครบถ้วน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และสถาบันวิจัยพืชสวน หน่วยงานที่กล่าวมานี้ สังกัดกรมวิชาการเกษตร

วุ้นมะพร้าวในสุญญากาศ (ซ้าย) มะพร้าวปอกเปลือก (ขวา)

ส่งมะพร้าวน้ำหอมไปต่างประเทศ วันละ 1 แสนลูก ทำได้อย่างไร

เกือบ 40 ปี ที่คลุกคลีอยู่ในวงการมะพร้าวน้ำหอม คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน ผู้ก้าวจากเกษตรกรหนุ่มทำสวนมะพร้าว บุกเบิกตลาดค้าส่งมะพร้าวน้ำหอมด้วยตนเอง จนเติบโตรุกตลาดต่างประเทศด้วยแนวคิด ต้องการความยั่งยืนจากการทำการเกษตร ด้วยการก่อตั้งบริษัท แปรรูปสินค้า สร้างแบรนด์สินค้า และส่งออกด้วยตนเอง ครบทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จนปัจจุบัน คุณณรงค์ศักดิ์ มีพนักงานบริษัทอยู่ในความดูแลถึง 400 ชีวิต ตลาดมะพร้าวน้ำหอมที่ส่งออกยังต่างประเทศมีไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิต ทั้งยังเป็นแหล่งรับซื้อมะพร้าวน้ำหอมจากลูกสวนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ด้วยการรับซื้อมะพร้าวน้ำหอมจากเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวตามราคาซื้อขายสินค้าเกษตรที่แท้จริง

ความโดดเด่นของเกษตรกรรายนี้ เพราะความเป็นลูกชาวสวน จบการศึกษาเพียงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเติบโตคู่มากับการทำการเกษตรจริงๆ นับตั้งแต่ครั้งพ่อและแม่ ที่เป็นชาวสวน มีพื้นที่เพียงเล็กน้อย ปลูกพืชผักผลไม้ไปตามฤดูกาล และมะพร้าวน้ำหอม ก็เป็นผลไม้หนึ่งที่ปลูกมาตั้งแต่ยุคแรก ต่อเมื่อพืชอื่นมีความจำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมี คุณณรงค์ศักดิ์ จึงหยุดปลูกพืชเหล่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี แล้วหันมาดูแลสวนมะพร้าวน้ำหอมเพียงชนิดเดียว

คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด

“จากเดิมเราก็ปลูกแล้วก็ขาย เหมือนสวนอื่นๆ แต่เรารู้ว่า เราไม่ควรย่ำอยู่กับที่ ควรพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ จึงพยายามเข้าตลาดค้าส่งด้วยตนเอง เข้าไปติดต่อ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในอดีต ปี 2539 ก็มีคู่ค้าที่ผูกพันกันประจำแต่ละสวน การเปิดตลาดจึงเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นความโชคดีที่ปีนั้น ตลาดไทเปิดใหม่ ผมจึงเข้าไปติดต่อค้าส่ง ก็ได้คู่ค้าที่ดี ค้าส่งกันเรื่อยมา และภายใน 1-2 ปีแรก ผมก็สามารถเปิดตลาดค้าส่งที่ตลาดโคราชได้อีกแห่ง แต่ถึงแม้จะเปิดตลาดค้าส่งได้แล้ว แต่ผมก็ยังคงเป็นเกษตรกรที่ทำหน้าที่ทุกอย่างเอง ตั้งแต่เป็นชาวสวน จนถึงขับรถหกล้อส่งมะพร้าวน้ำหอมเอง”

การพัฒนาการของการค้ามะพร้าว ไม่ได้มีแค่มะพร้าวลูกเขียว หรือมะพร้าวสด แต่เริ่มเข้าสู่ยุคของการปอกเปลือกมะพร้าวเหลือแต่ลูกกะลา แล้วนำไปต้มหรือเผา นับเป็นก้าวที่ 2 ของวงการมะพร้าวที่ไม่เฉพาะขายส่งมะพร้าวเขียว แต่เริ่มต่อยอดด้วยการแปรรูปให้เป็นผลรับประทานง่ายขึ้น

เมื่อมีโอกาสก้าวเข้าสู่ตลาดส่งออก ในปี 2544 เพราะมีเพื่อนแนะนำให้รู้จักกับลูกค้าชาวไต้หวัน และทำให้รู้จักการค้าในรูปแบบของ OEM (Original Equipment Manufacturer) หรือ รับจ้างผลิต โดยยังไม่มีแบรนด์เป็นของตนเอง และขยายฐานลูกค้าจากไต้หวันไปอีกหลายประเทศ

จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ต้องการความมั่นคงยั่งยืนในอาชีพ จึงตัดสินใจสร้างแบรนด์ของตนเอง โดยการก่อตั้ง บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด และต่อยอดการแปรรูปจากมะพร้าวน้ำหอมปอกเปลือก เป็นวุ้นมะพร้าวในห่อสุญญากาศ ถือเป็นการทำการเกษตรครบวงจร และเริ่มค้าขายกับต่างประเทศภายใต้แบรนด์ เอ็นซี โคโคนัท กับหลากประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ไต้หวัน จีน ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศในยุโรป

เปลือกมะพร้าว ที่เดิมเคยเป็นวัตถุดิบเหลือทิ้งจากสวนมะพร้าว ปัจจุบัน ถูกขายให้กับโรงงานผลิตไฟฟ้า เพราะการทิ้งเปลือกมะพร้าวเป็นต้นทุนการผลิตอย่างหนึ่ง คุณณรงค์ศักดิ์ จึงศึกษาเรื่องการนำเปลือกมะพร้าวไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าในกลุ่มชีวมวล อย่างน้อยก็ได้จัดการวัตถุดิบเหลือทิ้งจากสวนมะพร้าวเป็นเม็ดเงินกลับมา

แปรรูปมะพร้าวน้ำหอมก่อนส่งออก

คุณณรงค์ศักดิ์ บอกว่า ตลาดมะพร้าวน้ำหอมในประเทศไทย ยังไม่ดีนัก ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมีผลกระทบ แต่สำหรับตลาดมะพร้าวน้ำหอมต่างประเทศ มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งที่ผ่านมาการเติบโตของมะพร้าวน้ำหอมในต่างประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้การค้าในประเทศมีผลผลิตจาก เอ็นซี โคโคนัท เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ และส่งออกยังต่างประเทศมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ โดยในประเทศวางจำหน่ายที่ห้างโมเดิร์นเทรด เช่น โลตัส ซุปเปอร์สโตร์ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ และศูนย์การค้าสยามพารากอน เท่านั้น

ปัจจุบัน คุณณรงค์ศักดิ์ ยังคงทำสวนมะพร้าวอยู่ ขยายพื้นที่ปลูกไปหลายแปลงในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และช่วยเหลือเกษตรกรทำสวนมะพร้าวด้วยการรับซื้อมะพร้าวที่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่บริษัทกำหนด ภายใต้ราคาซื้อขายของตลาดสินค้าเกษตร ทั้งยังยืนยันด้วยว่า มะพร้าวน้ำหอม ยังเป็นสินค้าเกษตรที่มีทิศทางและการเติบโตที่ดีในต่างประเทศอีกมาก

คุณเกรียงศักดิ์ และ คุณเสาวณี วิเลปะนะ สองสามีภรรยาเจ้าของ บริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด

สูตรความสำเร็จ กล้วยหอมทองร้อยล้าน

เกษตรกรตัวจริงเสียงจริงสร้างธุรกิจเงินล้านได้ไม่ยาก แค่จับตลาดให้ถูกช่องทาง แม้ทำธุรกิจกล้วยๆ อย่าง คิงฟรุทส์ (King Fruit) ผู้ผลิตกล้วยหอมสุกพร้อมรับประทานบรรจุในถุงพลาสติกใสที่เราคุ้นตากันในร้านสะดวกซื้อ  ห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ สามารถสร้างรายได้สูงต่อปีถึง 150 ล้านบาท ทีเดียว

คุณเสาวณี วิเลปะนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทคิง ฟรุทส์ จำกัด กล่าวว่า เราเป็นเกษตรกร ผู้ปลูกกล้วยหอมที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยมานานกว่า 15 ปี มีพื้นที่การปลูกกล้วยหอมทองกว่า 3,000 ไร่ และเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 1,000 ไร่ ควบคุมดูแลการปลูกโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะภายใต้มาตรฐาน GAP ตั้งแต่การคัดเลือกหน่อพันธุ์ที่ดี จนถึงการเก็บเกี่ยว มีโรงคัดบรรจุตามระบบ GMP และ HACCP เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ภายใต้นโยบายคุณภาพ “มุ่งมั่น พัฒนา ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน เพื่อการบริโภคที่ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

คิง ฟรุทส์ ตั้งเป้าเติบโตด้วยคุณภาพ เน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายผู้ปลูกกล้วยหอมทอง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตมาตรฐาน GAP ให้ครบทุกแปลง เพื่อร่วมกันพัฒนาปรับปรุงคุณภาพกล้วยให้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างยั่งยืน เพื่อให้กล้วยหอมทองสัญชาติไทย ยี่ห้อ BANANA KING ที่รับประกันความสด รสชาติ คุณค่าสารอาหาร และความปลอดภัย จนถึงผู้บริโภค ป้อนตลาดในประเทศและวางแผนแปรรูปสินค้ากล้วยหอมทองส่งออกตลาดต่างประเทศในอนาคต

“ทุกวันนี้ คิง ฟรุทส์ เน้นเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดการสูญเสียในแปลง และการแปรรูปผลผลิตจากกล้วยเชิงอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น เราใส่ใจศึกษาข้อมูลตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์กล้วยหอมทองคุณภาพดี การปลูก การเก็บเกี่ยว การคัดบรรจุ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตกล้วยหอมทองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงของเกษตรกรเครือข่ายให้เติบโตไปพร้อมกับเรา” คุณเสาวณี กล่าว

เมืองไทยมีกล้วยหอมหลากหลายสายพันธุ์ ได้แก่ กล้วยหอมทอง กล้วยหอมส้ม กล้วยหอมค่อม กล้วยหอมกะเหรี่ยง กล้วยหอมแกรนด์เนน กล้วยหอมจันทน์ รวมทั้งกล้วยหอมคาเวนดิช หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กล้วยหอมเขียว” พืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักนัก แต่เป็นสายพันธุ์กล้วยหอมที่นิยมปลูกเชิงการค้าในเวทีตลาดโลกถึง 95%

เมื่อ 2 ปีก่อน ที่เกิดวิกฤตภัยแล้งคุกคามในพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองของคิง ฟรุทส์ ทำให้ผลผลิตลดลง คิง ฟรุทส์ซื้อกล้วยหอมคาเวนดิชส่งสายการบินแห่งหนึ่งแทน ปรากฏว่า ลูกค้าต่างชาติไม่เอากล้วยหอมคาเวนดิช ต้องการรับประทาน “กล้วยหอมทอง” ผลไม้รสอร่อย คุณภาพดี ของไทยอย่างเดียว เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คิง ฟรุทส์ตัดสินใจควักกระเป๋าลงทุนทำงานวิจัยเรื่องกล้วยหอมทองของไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกกล้วยหอมทองพันธุ์ดี การปลูกดูแลจัดการแปลงปลูก และการดูแลผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ผลผลิตคุณภาพดีตรงกับความต้องการของตลาด วางแผนเปิดตัวผลงานวิจัยดังกล่าวสู่สาธารณชนในช่วงต้นปี 2563

คิง ฟรุทส์ วางเป้าหมายเติบโตด้วยนวัตกรรม จึงทุ่มงบประมาณและบุคลากรด้านงานวิจัยแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วยหอมทอง โดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย ผลิต “ผงชงดื่มเพื่อสุขภาพจากกล้วยหอม” ที่คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพและมีมาตรฐานให้รสชาติอร่อยอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งกลิ่นและรส อันเป็นเอกลักษณ์ของกล้วยหอมทอง Banana Fiber Prebiotic Plus เสริมคุณค่าทางใยอาหาร มี Prebiotic จากธรรมชาติ ช่วยปรับสมดุลในการขับถ่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ และผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ผลงานชิ้นนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญทอง ในกลุ่มสินค้า energy drink จากงาน Silicon Valley International Invention Festival 2018 (SVIIF 2018) สหรัฐอเมริกา เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคิง ฟรุทส์ ที่ได้รับรางวัลจากงานระดับโลก

คุณเกรียงศักดิ์ วิเลปะนะ ตรวจเช็คคุณภาพสินค้าในโรงงานแพ็กกิ้ง

กล้วยหอมทองของไทย เปลือกสีเหลือง รสหวานจัด เนื้อเนียนละเอียด มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย ที่สำคัญมีคุณค่าทางอาหารสูง ที่เป็นเอกลักษณ์เด่นเฉพาะตัว ตลาดมีความต้องการบริโภคกล้วยหอมทองเพิ่มขึ้นทุกปี แต่จุดอ่อนสำคัญของกล้วยหอมทองคือ เปลือกบาง อายุเก็บรักษาสั้น ไม่ทนทานต่อการขนส่ง โดยเฉพาะตลาดไกลที่ใช้ระยะเวลาการขนส่งนาน มีผลต่อคุณภาพสินค้า จึงจำเป็นต้องแปรรูปกล้วยหอมทอง เพื่อยืดอายุการขาย รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า เป็นสินค้าทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ เพราะกล้วยหอมทองมีโปรตีนสูง มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยบำรุงระบบประสาท ช่วยลดความตึงเครียด ทำให้ร่างกายสดชื่น สามารถป้องกันโรคซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี

หากใครยังมีที่ว่างสนใจปลูกกล้วยหอมทอง คุณเสาวณีมีข้อแนะนำปลูกกล้วยหอมทองอย่างไรให้ได้ผลผลิตไร่ละ 120,000 บาท หลังหักค่าใช้จ่าย ฟันกำไรไร่ละแสน เรื่องจริงที่เกษตรกรต้นแบบของ คิง ฟรุทส์ ทำได้จริงในหลายพื้นที่ มาฟังเคล็ดลับสู่ความสำเร็จในเส้นทางอาชีพการทำสวนกล้วยหอมทองกับคุณเสาวณีได้ ในงานเสวนา “ไม้ผลพารวย ยุค 5 G” ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ประชานิเวศน์ 1 จตุจักร กทม. งานนี้ คุณเสาวณีเตรียมนำกล้วยหอมทองผลสดและกล้วยผงแปรรูปมาให้ชมและชิมรสชาติความอร่อยภายในงานกันอย่างจุใจ ห้ามพลาดเด็ดขาด

โดรนเพื่อการเกษตร

เทคโนโลยี 5 G เพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร

รัฐบาลกำหนดโมเดลการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตร มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในด้านการผลิตในภาคเกษตร ก้าวไปสู่ “เกษตรอัจฉริยะ” (Smart Agriculture) ตามยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรไทยและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะขึ้น โดยมีภารกิจจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะต้นแบบ ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด และ มะเขือเทศ (ในโรงเรือน) ให้เกษตรกรได้ศึกษาและนำไปปรับใช้ โดยคาดหวังว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จะก่อให้เกิดการผลิต-การค้าขาย ในรูปแบบระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในระยะยาว

โมเดลเกษตรอัจฉริยะการผลิตพืชกระทรวงเกษตรฯ

เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมเกษตรกรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในแปลงเพาะปลูก เพื่อให้ได้สินค้าเกษตรที่แม่นยำสูง มีระบบการบริหารจัดการฟาร์ม/แปลงที่นำชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) มาวิเคราะห์ช่วยให้เกษตรกรหาทางเลือกในการผลิตที่เหมาะสม และนำเสนอสินค้าให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ตลอดจนเข้าสู่ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ e Commerc และระบบการขนส่ง e logistics รวมทั้งการจ่ายเงิน แบบ e payments เพื่อให้เกษตรกรสามารถค้าขายและมีรายได้เพิ่มขึ้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเกษตร GovTech/Big data ดังนี้

  1. พัฒนาและจัดทำระบบรายการข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog) โดยตรวจสอบ วิเคราะห์ และกำหนดชุดข้อมูลที่มีอยู่ให้เป็นมาตรฐาน และรวบรวมเพื่อเป็น Data Catalog จากนั้นพัฒนากลไกการสืบค้นในมิติต่างๆ เพื่อให้บริการได้อย่างสะดวก รวมทั้งออกแบบเครื่องมือสำหรับการกำกับติดตามให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  2. การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตที่กระทรวงดิจิทัลได้วางระบบให้ครอบคลุม 75,000 หมู่บ้านเพื่อให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร สามารถเชื่อมโยงและสื่อสารข้อมูลขนาดใหญ่และข้อมูลสินค้าเกษตร เข้าสู่ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  3. การสื่อสารและบริการข้อมูลที่จำเป็นไปยังเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ รวมถึง Smart Farmer และ Young Smart Farmer และอาสาเกษตรกร เช่น ข้อมูลภูมิอากาศ ข้อมูลน้ำ ข้อมูลดิน เทคโนโลยีสมัยใหม่ ข้อมูลตลาดและราคาสินค้า เพื่อให้เกษตรกรใช้ตัดสินใจวางแผนการผลิต แผนการตลาด
  4. การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต เช่น การขึ้นทะเบียน การขอรับการรับรองมาตรฐานสินค้า การขอนำเข้า ส่งออก การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร เพื่อความรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างผลประกอบการที่ดีกว่าเดิม
  5. การจัดให้ภาคเกษตรได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่จัดสรรให้เพื่อการเข้าถึงข้อมูลอันจำเป็น เช่น การให้บริการคลื่นความถี่สำหรับระบบการติดตามเรือประมง (VMS) หรือเพื่อระบบฟาร์มอัจฉริยะ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการใช้บริการเครือข่ายการสื่อสารที่ลดน้อยลง และ
  6. การเชื่อมโยงสินค้าเกษตรกับแพลตฟอร์มการบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร
ดร. วราภรณ์ พรหมพจน์

ดร. วราภรณ์ พรหมพจน์ อดีตผู้ตรวจราชการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ กล่าวว่า ในปี 2563 กระทรวงเกษตรฯ วางแผนขยายแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะเพิ่มเติมในกลุ่มไม้ผลเศรษฐกิจ (ทุเรียน/ลำไย) ธุรกิจประมง (ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง/ปลา) ธุรกิจปศุสัตว์ ฯลฯ มุ่งเชื่อมโยงเทคโนโลยีจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ เป้าหมายการสร้าง GovTech/Big data ของกระทรวงเกษตรฯ โดยใช้เครื่องมือนวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับตรวจโรคพืช ธาตุอาหารในดิน คุณภาพน้ำ สภาพอากาศ ฯลฯ ข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ต่างๆ จะถูกส่งผ่านระบบคลาวด์ (Cloud) เพื่อจัดเก็บ ประมวลผล และสั่งการการทำงานของระบบด้วยการควบคุมระยะไกล ผ่านระบบ IoT (Internet of Things)

มีนักวิชาการลงพื้นที่ทำการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลควบคู่อย่างใกล้ชิด ข้อมูลต่างๆ จากแปลงไร่นาเกษตรกรจะถูกประมวลเพื่อจัดทำ Big Data และ IoT Platform ด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ รัฐบาลสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้บริหารจัดการผลผลิตและกำหนดทิศทางนโยบายด้านการเกษตรของประเทศ แก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต  

…………………………………………………………….

ฟังฟรีกันเต็มๆ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562

ลงทะเบียน 2 ช่องทาง FB:Technologychaoban-เทคโนโลยีชาวบ้าน/โทร. 02-580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342 และ 2343

ผู้ยืนยันลงทะเบียน รับฟรี พันธุ์ไม้ผล มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม กล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า ทุเรียน และขนุน (อย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านละ 1 ต้น)