เทคโนโลยี 5 G เพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร

รัฐบาลกำหนดโมเดลการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตร มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในด้านการผลิตในภาคเกษตร ก้าวไปสู่ “ เกษตรอัจฉริยะ” (Smart Agriculture) ตามยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรไทยและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะขึ้น โดยมีภารกิจจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะต้นแบบ ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด และมะเขือเทศ (ในโรงเรือน)  ให้เกษตรกรได้ศึกษาและนำไปปรับใช้ โดยคาดหวังว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จะก่อให้เกิดการผลิต-การค้าขายในรูปแบบระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในระยะยาว

ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์

เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมเกษตรกรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในแปลงเพาะปลูกเพื่อให้ได้สินค้าเกษตรที่แม่นยำสูง มีระบบการบริหารจัดการฟาร์ม/แปลงที่นำชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) มาวิเคราะห์ช่วยให้เกษตรกรหาทางเลือกในการผลิตที่เหมาะสม และนำเสนอสินค้าให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ตลอดจนเข้าสู่ตลาดพาณิชย์อิเลคทรอนิก์ e Commerc และระบบการขนส่ง e logistics รวมทั้งการจ่ายเงินแบบ e payments เพื่อให้เกษตรกรสามารถค้าขายและมีรายได้เพิ่มขึ้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเกษตร GovTech/Big data ดังนี้ 1. พัฒนาและจัดทำระบบรายการข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog) โดยตรวจสอบ วิเคราะห์และกำหนดชุดข้อมูลที่มีอยู่ให้เป็นมาตรฐาน และรวบรวมเพื่อเป็น Data Catalog จากนั้นพัฒนากลไกการสืบค้นในมิติต่าง ๆ เพื่อให้บริการได้อย่างสะดวก รวมทั้งออกแบบเครื่องมือสำหรับการกำกับติดตามให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตที่กระทรวงดิจิทัลได้วางระบบให้ครอบคลุม 75,000 หมู่บ้านเพื่อให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร สามารถเชื่อมโยงและสื่อสารข้อมูลขนาดใหญ่และข้อมูลสินค้าเกษตร เข้าสู่ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 3. การสื่อสารและบริการข้อมูลที่จำเป็นไปยังเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ รวมถึง Smart Farmer และ Young Smart Farmer และอาสาเกษตรกร เช่น ข้อมูลภูมิอากาศ ข้อมูลน้ำ ข้อมูลดิน เทคโนโลยีสมัยใหม่ ข้อมูลตลาดและราคาสินค้า เพื่อให้เกษตรกรใช้ตัดสินใจวางแผนการผลิต แผนการตลาด

    โมเดลเกษตรอัจฉริยะการผลิตพืชกระทรวงเกษตรฯ

4.การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต เช่น การขึ้นทะเบียน การขอรับการรับรองมาตรฐานสินค้า การขอนำเข้า ส่งออก การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร เพื่อความรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างผลประกอบการที่ดีกว่าเดิม 5.การจัดให้ภาคเกษตรได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่จัดสรรให้เพื่อการเข้าถึงข้อมูลอันจำเป็น เช่น การให้บริการคลื่นความถี่สำหรับระบบการติดตามเรือประมง (VMS) หรือ เพื่อระบบฟาร์มอัจฉริยะ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการใช้บริการเครือข่ายการสื่อสารที่ลดน้อยลง และ 6. การเชื่อมโยงสินค้าเกษตรกับแพลตฟอร์มการบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร

ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ กล่าวว่า  ในปี 2563 กระทรวงเกษตรฯ วางแผนขยายแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะเพิ่มเติมในกลุ่มไม้ผลเศรษฐกิจ ( ทุเรียน / ลำไย )  ธุรกิจประมง (ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง/ปลา) ธุรกิจปศุสัตว์ ฯลฯ  มุ่งเชื่อมโยงเทคโนโลยีจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ เป้าหมายการสร้าง GovTech/Big data ของกระทรวงเกษตรฯ โดยใช้เครื่องมือนวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับตรวจโรคพืช ธาตุอาหารในดิน คุณภาพน้ำ สภาพอากาศ ฯลฯ ข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์ต่างๆ จะถูกส่งผ่านระบบคลาวน์ (Cloud) เพื่อจัดเก็บ ประมวลผล และสั่งการการทำงานของระบบด้วยการควบคุมระยะไกล ผ่านระบบ IoT (Internet of Things)  มีนักวิชาการลงพื้นทำการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลควบคู่อย่างใกล้ชิด   ข้อมูลต่างๆ จากแปลงไร่นาเกษตรกรจะถูกประมวลเพื่อจัดทำ Big Data และ IoT Platform ด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ รัฐบาลสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้บริหารจัดการผลผลิตและกำหนดทิศทางนโยบายด้านการเกษตรของประเทศ แก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

โดรนเพื่อการเกษตร

เกษตรกรตัวจริง …ห้ามพลาดเกาะติดนโยบายเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปีหน้าว่า จะเข้มข้น น่าสนใจมากแค่ไหน ต้องไปฟังกัน ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ พูดคุยเจาะลึกเรื่องเกษตรอัจริยะ  และมาพูดคุยต่อกับคุณประพันธ์ จิวะพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ภายในงาน เสวนา “ไม้ผลพารวยยุค 5 G “ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ประชานิเวศน์ 1 จตุจักร กทม.