มกอช. ดันมาตรฐานผ่าทางออกวิกฤติเกลือทะเลไทย

ปัจจุบันเกลือทะเลหรือเกลือสมุทรนับเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญ สร้างรายได้ให้เกษตรกรนาเกลือได้ปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ประเทศไทยทำนาเกลือเป็นอาชีพดั้งเดิมมีตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันมีเกษตรกร 1,200 ครัวเรือน มีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมดประมาณ 84,485 ไร่ โดยแบ่งแหล่งผลิตที่สำคัญ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีการผลิตมาก ประมาณร้อยละ 90.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 3 จังหวัดภาคกลาง คือ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม

และกลุ่มที่มีการผลิตเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 10.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 4 จังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ คือ จังหวัดชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี โดยในแต่ละปีจะมีผลผลิตเกลือทะเลทั่วประเทศประมาณเกือบ 1 ล้านตัน ดังนั้น เมื่อ 1 มีนาคม 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้เกลือทะเลเป็นสินค้าเกษตรกรรมขั้นต้น ทำให้การทำนาเกลือเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพเกษตรกรรม

 

อาชีพการทำนาเกลือ

ด้าน น.ส.เกตุแก้ว สำเภาทอง เกษตรกรนาเกลือทะเลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเข้าเกลือจากประเทศอินเดียจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาเกลือทะเลที่เกษตรกรชาวนาเกลือผลิตภายในประเทศมีราคาตกต่ำอย่างหนัก จากต้นปีราคาเกลือทะเลราคากิโลกรัมละ 2.00-3.00 บาท เหลือราคากิโลกรัมละไม่ถึง 1.00 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิต จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลืออย่างหนัก เนื่องจากขาดทุนสะสม จนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้าเกลือจากอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่าปี 2560 มีการนำเข้าเกลือ 151,480 ตัน 216 ล้านบาทเศษ ปี 2561 มีการนำเข้าเกลือ 332,389,589 ตัน 437 ล้านบาทเศษ ปี 2562 (เดือนมีนาคม) มีการนำเข้าเกลือ 100,819 ตัน 120 ล้านบาทเศษ และรหัสพิกัดการนำเข้าอยู่ที่หมวด 25 ซึ่งเป็นหมวดของการนำเข้าสินแร่

ทุกวันนี้ อาชีพการทำนาเกลือเผชิญปัญหาอุปสรรคหลัก 3 อย่าง คือ 1. ฟ้าฝน 2. สภาพอากาศ 3. คุณภาพสินค้า ที่ผ่านมาการทำนาเกลือทะเลยังขาดมาตรฐานควบคุมคุณภาพการผลิต ถ้ามีการจัดการที่ดีทำให้แก้ปัญหาได้ และเกลือที่ผ่านมาไม่มีมาตรฐาน ส่งผลให้กระทบต่อการทำตลาดในอุตสาหกรรมอาหาร 

ผู้บริหาร มกอช. เยี่ยมชมนาเกลือทะเลบ้านแหลม

ขั้นตอนการทำนาเกลือ

ที่นา 1 ไร่ จะได้ผลผลิตเกลือทะเล 10 เกวียน (1 เกวียน เท่ากับ 1,600 กิโลกรัม) แต่หากปีไหนฤดูกาลอากาศเหมาะสมก็จะผลิตได้ 16 ตัน ต่อไร่ โดยเกษตรกรจะจำหน่ายให้กับสหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด

สำหรับฤดูการผลิตเกลือทะเล การทำนาเกลือในภาคกลางจะเริ่มในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ระยะเวลาประมาณ 6-7 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เนื่องจากการทำนาเกลือไม่สามารถจะทำได้ในช่วงฤดูฝน และจะเริ่มเก็บผลผลิตเกลือได้ประมาณกลางเดือนมกราคม เป็นต้นไป

ด้านตลาดในประเทศ เกลือทะเลที่ผลิตในรูป “เกลือเม็ด” จะถูกรวบรวมโดยพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น โดยพ่อค้าคนกลางจะไปรับซื้อถึงฟาร์มของเกษตรกรทั้งทางบกและทางน้ำ ในบางท้องที่เกษตรกรจะขายเกลือผ่านสหกรณ์การเกษตรที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ จากนั้นสินค้าเกลือทะเลจะไหลเวียนไปยังแหล่งต่างๆ ได้แก่ โรงโม่เกลือ โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

เกษตรกรเก็บผลผลิตนาเกลือ

มกอช. สร้างมาตรฐานเกลือทะเล

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ตามที่ยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย พ.ศ. 2560-2564 ได้กำหนดให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานเกลือทะเลเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพื่อให้เกลือทะเลมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาเกษตรกรเกลือทะเล เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเกลือทะเลไทยเพื่อให้เกลือทะเลมีช่องทางการตลาดที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อยกระดับราคาเกลือทะเลให้มีเสถียรภาพ รวมทั้งให้มีการบริหารจัดการระบบนิเวศเพื่อการทำนาเกลือมีพื้นที่อย่างเหมาะสม และมีการบริหารจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์

จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว มกอช.ได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับเกลือทะเลขึ้นมา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ เกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ.8402-2562) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือ (มกษ. 9055-2562) รวมทั้งได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการตรวจประเมินตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) ขึ้น เพื่ออบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ผู้ตรวจประเมินให้มีทักษะและศักยภาพด้านการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐาน สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สินค้าเกลือทะเลของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการยกระดับศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ

ด้าน นางสาวนลินทิพย์ เพณี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช.กล่าวเพิ่มเติมว่า เกลือทะเลเป็นอาหารธรรมชาติ ที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์จำเป็นต้องใช้เกลือเพื่อการบริโภคและอุปโภค ปรุงอาหาร ถนอมอาหาร และใช้เป็นยารักษาโรค แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรนาเกลือทะเลประสบปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะคุณภาพการผลิตส่งผลให้ราคามีความผันผวนเป็นประจำทุกปี

มกอช.จึงต้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบ GAP เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานเกลือไทยสู่ระบบสากลให้เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมอาหารและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศในอนาคต ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรไทยมีคู่แข่งคือประเทศอินเดีย ดังนั้น มกอช.จึงต้องเร่งผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพื่อการันตีให้ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารในประเทศมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรไทยและลดการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศไปในตัว

ทั้งนี้ มกอช.วางแผนเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรนาเกลือเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP ในทุกจังหวัด เมื่อเริ่มมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของเกลือ ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบรับรอง เพราะสินค้าเกลือทะเลแตกต่างจากสินค้าเกษตรอื่นๆ เนื่องจากมีถึง 3 หน่วยงานคอยดูแล ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ รวมทั้งผู้ตรวจรับรองเอกชน จึงต้องมีมาตรฐานกลางให้ 4 หน่วยงานปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม