เห็ดเผาะ-ใบหมากเม่า อาหารเด็ด เป็นยาดียกกำลังสอง

มีหลายคนที่รู้จัก รัก ชอบ ให้ความสนใจ กิน “เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” ซึ่งเป็นเห็ดดี มีราคา ชาวบ้านเข้าป่าหาเห็ดเผาะ ทำรายได้ดีมาก เป็นผลได้ที่งดงาม ปีใดที่มีเห็ดออกมาก ก็หาเห็ดหาเงินได้มาก ปีที่เห็ดออกน้อย หาเห็ดได้น้อย แต่ราคาเป็นใจ ทำให้ได้รายได้งามเช่นกัน เคยราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 600 บาท ทะนานลิตรใหญ่ 2 ทะนาน ทะนานละครึ่งกิโล 300 บาท

ปีนี้แล้งนาน ฝนตกมาก มีลูกเห็บตกบ้างบางพื้นที่ มีเผาเศษใบไม้ใบหญ้าบ้าง ซึ่งเขาว่าเป็นสาเหตุทำให้เห็ดเผาะออกมาก จริงเท็จแค่ไหนไม่รับรอง แต่ก็ยังยกระดับอัพเดตราคาเห็ดเผาะ อยู่ที่กิโลละ 320-400 บาท

เห็ดเผาะ ต้องปรุงต้มแกงคู่กับ “ใบหมากเม่า” หรือ มะเม่า หรือ ต้นเม่า บ่าเหม้า หมากเม่าหลวง      เม่าเสี้ยน หรือ มัดเซ มีเรียกกันหลายอย่างตามพื้นที่ ตามถิ่นต่างๆ

มะเม่า เป็นไม้ในวงศ์ EUPHORBIACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesmathnaitesianum Muell.Arg

เป็นไม้พุ่มใหญ่พื้นเมือง ต้นสูง 5-10 เมตร ไม้เนื้อแข็ง แตกกิ่งเป็นพุ่มกลม ใบประเภทใบเดี่ยว ปลายและโคนใบมนกลม ถึงหยักเว้า ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบทั้ง 2 ด้าน แผ่นใบกว้าง 3.5-4 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร แผ่นใบบาง มักออกใบหนาแน่น เป็นร่มเงาได้ดีมาก ยอดใบอ่อน เป็นผักกินได้ โดยเฉพาะเป็นผักปรุงรส ต้มหรือแกงเห็ดเผาะ รสชาติเหมาะเจาะเข้ากันดีมากๆ

หมากเม่าออกดอกเป็นช่อคล้ายพริกไทย ดอกเล็กๆ สีขาวอมเหลือง จะออกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ออกดอกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ปลายยอด แยกเพศกันคนละต้น ช่อดอกยาว 1-2 เซนติเมตร

Advertisement

ผลมีขนาดเล็ก 1 ผล มีเมล็ด 1 เมล็ด ออกเป็นช่อหรือพวงคล้ายพริกไทย ผลดิบสีเขียวอ่อน หรือเขียวเข้ม มีรสเปรี้ยว ผลสุกสีแดง ถึงม่วงอมดำ มีรสเปรี้ยวอมฝาด จะสุกแก่เดือนสิงหาคม-กันยายน

Advertisement

หมากเม่า เป็นไม้ป่าที่พบขึ้นในป่าทุกภาคของไทย ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง พบมากที่เทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ตามหัวไร่ปลายนา หรือบางที่ชาวบ้านนำมาปลูกในบ้านในสวน

หมากเม่าขยายพันธุ์ได้ง่าย โดยการตอนกิ่ง ปักชำ หมากเม่า มี 2 ชนิด เท่าที่รู้ ชนิดใบ ก้านมีขน ปลายใบแหลม พุ่มใหญ่ไม่สูงมาก นิยมนำมาประกอบอาหาร และเคี้ยวอมเล่นกันมากกว่าอีกชนิดที่มีใบเรียบ นิยมปลูกเอาร่มเงา บางคนนำมาจัดสวนหย่อมที่พักผ่อนก็มี ใบมีรสเปรี้ยวอมฝาด โคนใบและปลายใบจะหยักเว้า ใบแก่จะมีลักษณะเหมือนกัน และมีลักษณะดอกและผลเหมือนกันทั้ง 2 ชนิด

คุณค่าที่พบจากใบอ่อนหมากเม่า 100 กรัม พบว่ามีความชื้น 92.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5.99 กรัม ไขมัน 0.77 กรัม โปรตีน 0.19 กรัม เส้นใยอาหาร หรือไฟเบอร์ 0.02 กรัม แคลเซียม 126.35 มิลลิกรัม เหล็ก 0.70 มิลลิกรัม วิตามีนบีหนึ่ง 0.221 มิลลิกรัม วิตามีนบีสอง 0.113 มิลลิกรัม วิตามีนอี 0.13 มิลลิกรัม ในน้ำหมากเม่า 100 กรัม มีสารแอนโธไซยานิน 299.9 มิลลิกรัม สารโพลิฟินอล 566 มิลลิกรัม

ตัวสารสำคัญต่างๆ ที่พบในหมากเม่า ช่วยในการขจัดพิษออกจากร่างกาย ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองอุดตัน ยับยั้งความเสื่อมการเปราะหักของหลอดเลือด ในตำรายาแผนไทย นำใบมาต้มน้ำอาบแก้โรคโลหิตจาง ตัวซีดเหลือง ขยี้ หรือตำใบ ทาแก้ปวดหัว เป็นโรคผิวหนัง หรือเอาใบย่างไฟใช้ประคบแก้ฟกช้ำดำเขียว ต้นและรากนำมาต้ม เป็นยาแก้กษัย บำรุงไต ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย แก้สตรีระดูตกขาว ผลผสมน้ำอาบแก้ไข้ตัวร้อน แก้ปวดหัว แก้ช่องท้องบวม ที่โดดเด่นมากที่สุดต้องที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปเป็นน้ำหมากเม่าพร้อมดื่ม และไวน์หมากเม่า สำหรับคอเมาอ่อนๆ ตามสมัยนิยม

หมากเม่า มะเม่า จึงเป็นยาดีอีกชนิดหนึ่ง เมื่อเริ่มเข้าฝน แตกใบอ่อน ให้เราเด็ดมาเป็นผักได้ พอดีกับปีนี้เป็นปีทองของนักล่าเห็ดเผาะ ทางเหนือไล่ลงมาเกือบทุกจังหวัด คนหาเห็ดยิ้มระรื่น คนชื่นชมกลืนกินเต็มคาบอร่อยลิ้น แม้จะแพงมากไปหน่อย แต่เทียบความอยากของคนกิน กับความยากของคนหา คุ้มค่ากับวันที่รอคอย เปิดกระป๋องทะนานลิตรแรกปีนี้ ที่ 200 บาท ชั่งหนัก 500 กรัม หรือครึ่งกิโล คิดได้ง่ายๆ คือ กิโลกรัมละ 400 บาท ตอนปลายฤดูก็ยังกิโลละ 240-300 บาท อยู่อย่างนั้นเอง

“เห็ดเผาะ” หรือ เห็ดถอบ หรือ เห็ดเหียง หรือ เห็ดหนัง หรือ เห็ดดอกดิน หรือ Puff Ball Mushroom ชื่อสามัญ Hygroscopic earthstar ชื่อวิทยาศาสตร์ Astraeas Hygrometricus เป็นพืชชั้นต่ำตระกูลเห็ดรา วงศ์ Diplocystaceae เป็นเห็ดรา ที่ลักษณะรูปร่างคล้ายเหมือนประเภทเอ็คโตไมโคไรซ่า

ลักษณะดอกเห็ดจะกลมๆ สีดำหม่น ข้างในเป็นถุงเนื้อคล้ายวุ้นสีขาวขุ่น คืออาหารเลี้ยงดอกเห็ด เปลือกนอกที่กลมๆ เป็นคล้ายลูกบอล ถ้ายังอ่อนจะนุ่มนิ่มไม่แข็งกระด้าง ส่วนนี้แหละอร่อยมากๆ

เมื่อเห็ดแก่ตัวขึ้นเนื้อในจะแห้งเป็นผงสปอร์สีดำ และเปลือกนอกจะแข็งและแตกออกเป็นรูปดาว 6-8 แฉก สปอร์ที่เป็นผงสีดำก็จะปลิวออกมา ไปติดตามพื้นดิน อาศัยยังชีพกับรากต้นไม้ เกาะอาศัยอยู่กับรากพืชพรรณไม้ป่า พวกตระกูลยางนา เช่น ต้นพลวง ต้นเหียง ต้นมะค่า เต็ง รัง ยาง และไม้สน แบบพึ่งพาเกื้อกูลกันกับต้นไม้ อาศัยช่วยย่อยอาหารให้รากไม้ โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัส ทำให้รากพืชแข็งแรง ไม่มีโรคศัตรูรบกวน พืชโตเร็ว

เชื้อราเห็ดเผาะจะบ่มฟักตัวที่ปลายรากไม้ จนผ่านแล้ง ผ่านร้อนมามากพอ แล้วเจอฝนตกห่าใหญ่ๆ ก็จะเจริญเติบโตเป็นลูกเห็ดกลมๆ เล็กๆ ให้คนไปคุ้ยหาเก็บมากินมาขายในปีถัดไปนั่นเอง

เห็ดเผาะที่พบเห็นเก็บกิน เสาะหามาขายกันอยู่ทุกวันนี้ เหมือนว่าจะแบ่งตามลักษณะภายนอกได้ 3 อย่าง ได้แก่ เห็ดเผาะที่นิยมกิน กล่าวขานชื่นชมกันว่าอร่อยนัก คือ “เห็ดเผาะหนัง” เป็นประเภทเม็ดหรือลูกกลมๆ มีเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง จับบีบดูเบาๆ จะคล้ายลูกบอลยาง หรือคล้ายลูกชิ้นเด้ง ถ้ายังนุ่มๆ ผ่าดูจะพบเนื้อคล้ายเนยสีขาวๆ แสดงว่ายังเป็นเห็ดที่อ่อน หวาน หอม เปลือกหนังกรุบกรอบแบบนุ่มอร่อยยิ่งนัก

อีกหนึ่งประเภทคือ “เห็ดเผาะขน” มักมีดอกเห็ดเป็นเม็ดโตโต ผิวขรุขระบ้างเล็กน้อย มีรากหรือขนยาวติดรอบเม็ด ต้องขัดออก เพราะมีดิน ทราย เกาะติดมาก อร่อยเช่นกัน

อีกอย่างคือ “เห็ดเผาะฝ้าย” หรือเห็ดเผาะกรอบ คุ้ยหาเจอมาจะสังเกตเห็นเม็ดเห็ดกลมๆ มีทั้งเม็ดเล็กและใหญ่ สีออกขาว หรือเทา เปลือกนอกไม่นุ่มเท่าใดนัก เมื่อบีบดูถ้ายังอ่อนจะเปราะแตกง่าย ต้มสุกแล้วสีจะออกคล้ำ รสชาติอร่อยพอใช้ได้เหมือนกัน

เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ นอกจากจะนำมาต้ม แกง กินได้อร่อยลิ้นแล้ว ยังมีคุณประโยชน์ทางยาสมุนไพร ตำรายาแผนไทยระบุว่า เห็ดมีรสเย็นหวาน รับประทานเป็นยาบำรุงสมรรถนะร่างกาย ยาชูกำลัง บำรุงไขข้อ เส้นเอ็น ประสาท บำรุงกำหนัด และแก้ช้ำในได้ดีมาก

ว่ากันว่าเห็ดเผาะมีสารต้านมะเร็ง ต้านอาการอักเสบได้ หมอจีนใช้สปอร์เห็ดเผาะเป็นยารักษาบาดแผล หยุดการไหลของเลือด ลดภาวะมือและเท้าอักเสบ ชนเผ่าอินเดีย ใช้สปอร์เห็ดเผาะผสมน้ำมันเมล็ดมัสตาร์ด เป็นขี้ผึ้งรักษาแผลไฟไหม้ ชาวเผ่า Black foot อเมริกาเหนือ เรียกเห็ดถอบเผาะ ว่า “Fallen Stars” เพราะเชื่อว่าเป็นดาวตกมาจากฟ้า ระหว่างเกิดเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ

การจะเลือกเห็ดเผาะที่ยังอ่อน หรือยังไม่เฒ่า (แก่) ให้จับเม็ด หรือลูก หรือดอกเห็ด บีบดูถ้าไม่แข็งกระด้างแสดงว่าอ่อน แต่ถ้าแข็งมากๆ เชื่อได้ว่าเนื้อในดำจนถึงดำเป็นผง หมดความอร่อย ถ้าพบเจอเห็ดที่มีคนเก็บมาวางขาย ดูว่าอ่อน ซื้อไปแล้วรีบแช่น้ำเปล่าเพื่อให้เศษดินเศษทรายหลุดออก ขัดล้างทำความสะอาดแล้วรีบ “น็อก” โดยการต้มในน้ำเดือดสัก 10 นาที

หรือจะใช้วิธีนึ่งไอน้ำก็ได้ หรือถ้าจะทำกินเลยก็เติมเครื่องปรุง เช่น แกงใส่หมู ใส่ไก่ ใส่หน่อไม้ดอง แกงเปรอะหน่อไม้สด ควรผ่าทุกเม็ด เพื่อให้น้ำแกงเข้าทั่วถึง หรือจะนำมาผัด ถ้าหั่นหรือซอย ผัดพริกอร่อยมาก และยิ่งกว่านั้น แกง หรือต้มเห็ดเผาะ ใส่ใบหมากเม่าเป็นว่าสุดยอด “หมากเม่า” เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยามากมาย

เมื่อฤดูกาลพัดผ่าน นำพาให้มาพบเจอกันเข้ากับ “เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” สรรพคุณจึงเกิดยกกำลังสอง ทั้งความลงตัว อร่อย เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะพอดี ผู้รับประโยชน์เต็มๆ ก็คือ คนเรานักบริโภคนั่นแหละ เมื่อ 2 สหายมาเจอกันในหม้อแกง กลายเป็นอาหารเลิศรส สรรพคุณล้นหม้อ รสชาติเหนือคำบรรยาย

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354