ขมิ้นชัน ต้านอาการอักเสบ ทางเลือกรักษา โรคข้อเข่าเสื่อม

อาการปวดเข่า เจ็บเข่า เป็นอาการที่พบได้บ่อย บ้างก็เป็นอาการปวดเมื่อยจากการใช้งานหนักทั่ว ๆ ไป แต่บ้างก็อาจจะรุนแรงกว่านั้น คือเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือกลับมาเป็นปกติได้ แต่สามารถรักษาบรรเทาอาการให้ลดน้อยลงได้ ทั้งโดยการแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์ทางเลือกอย่างการแพทย์แผนไทย และการใช้สมุนไพรต่าง ๆ

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลกคาดว่า ปี พ.ศ. 2563 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อประมาณ 570 ล้านคน สำหรับประเทศไทยจากสถิติกระทรวงสาธารณสุขปี 2558 มีอัตราการเกิดโรคข้อเสื่อม 57.10 ต่อประชาชน 1 แสนคน ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า

นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า ทางการแพทย์แผนไทยเรียกโรคข้อเข่าเสื่อมว่า “โรคลมจับโปงเข่า” แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ โรคลมจับโปงน้ำและจับโปงแห้ง ต่างกันตรงที่จับโปงน้ำจะมีอาการปวดเข่า เข่าบวม อักเสบชัดเจน มีน้ำในข้อเข่า ส่วนจับโปงแห้งจะมีอาการปวดเข่า มีเสียงกรอบแกรบในข้อเข่า ข้อเข่าฝืด สะบ้าติด แพทย์แผนไทยรักษาโรคดังกล่าวด้วยการนวดรักษาเฉพาะจุด

เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนบริเวณข้อเข่า ลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่า หลังจากนั้นก็ประคบสมุนไพรหรือใช้ยาพอกเข่า เป็นการเสริมประสิทธิภาพของการนวดในด้านการลดการอักเสบและลดอาการปวดยาสมุนไพรที่ช่วยลดการอักเสบชะลอการเสื่อมของข้อเข่า คือ ยาจากสารสกัดขมิ้นชัน ซึ่งผลวิจัยพบว่า มีสารเคอร์คูมินอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เหมือนกับยาต้านการอักเสบไดโคลฟีแนคของแผนปัจจุบัน อีกทั้งขมิ้นชันยังมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดการอักเสบ จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

นพ.ปราโมทย์ให้คำแนะนำว่า หากต้องการห่างไกลจากโรคข้อเข่าเสื่อม ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การยกของหนัก หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดต่อข้อเข่า ในขณะที่มีอาการปวดเข่าควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหน่อไม้ เครื่องในสัตว์ อาหารหมักดอง และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อและข้อบวมมากยิ่งขึ้น ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่ช่วยบำรุงข้อและกระดูก เช่น อาหารจำพวกธัญพืช ผักใบเขียว ผักตระกูลกะหล่ำ นม ปลาเล็กปลาน้อย ซึ่งมีแร่ธาตุแคลเซียมสูง และควรออกกำลังกายเป็นประจำ

สำหรับผู้มีน้ำหนักเกิน ควรออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำ การปั่นจักรยานอากาศ หรือการทำท่ากายบริหารแบบฤๅษีดัดตน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับข้อเข่า นอกจากนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง และรักษาความอบอุ่นของร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอ

ถ้าใครสนใจเกี่ยวกับการรักษาอาการปวดเข่าด้วยการแพทย์แผนไทย สามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือถ้าต้องการสอบถามเกี่ยวกับการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย สามารถสอบถามได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทรศัพท์ 0-2149-5678 หรือ www.dtam.moph.go.th

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์