เผยแพร่ |
---|
สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ผู้แทนสมาคมและครอบครัวเกษตร 5 ล้านครอบครัว ประกาศเรียกร้องรัฐรับมือความเสียหาย 8.2 แสนล้านบาท พร้อมจ่ายค่าส่วนต่างแรงงานถางหญ้าเกษตรอุตสาหกรรม 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี เคลียร์หนี้ ธกส. ทุกครอบครัวเกษตร พร้อมสร้างหนี้ใหม่ซื้อเครื่องจักรโดยรัฐจ่ายส่วนต่างจากต้นทุนใช้สารเคมี หลังคำตัดสิน รมว. เกษตร บอกปัดหนีหน้าเกษตรกร นายสุกรรณ์ สังข์วรรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า หลังจากมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประกาศแบนสารเคมีกำจัดวัชพืช พาราควอตและไกลโฟเซต
ซึ่งเป็นปัจจัยหลักการผลิตสำคัญที่ทำให้เกษตรอุตสาหกรรมของประเทศเจริญเติบโตได้ทุกวันนี้ ภาครัฐจะต้องเตรียมรับมือกับมูลค่าความเสียหายทั้งในแง่รายได้เกษตรกร 2.5 แสนล้านบาท และมูลค่าการส่งออก 5.7 แสนล้านบาท รวมแล้วภาครัฐจะต้องสูญเสียรายได้กว่า 8.2 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน ภาคเกษตรกร จำเป็นต้องใช้สิ่งทดแทนที่ไม่ใช้สารเคมี
เนื่องจากกังวลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขอให้รัฐจ่ายเงินค่าชดเชย ส่วนต่างค่าแรงงาน 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมหาแรงงานคนมาช่วยถอนหญ้า หากหาไม่ได้ขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ มาถอนหญ้าให้เกษตรกร 60 ล้านไร่ให้เสร็จภายใน 30 วัน
รวมทั้งยกเลิกหนี้สินปัจจุบันของครอบครัวเกษตรกรทุกคนที่อยู่ในระบบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสร้างหนี้ใหม่กู้เงินมาซื้อเครื่องจักร และรัฐออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างของเครื่องจักรทั้งหมดให้เกษตรกรเมื่อเทียบกับค่าสารเคมี พาราควอต สำหรับมาตรการรองรับการแบน 3 สารดังกล่าว ยังขาดความชัดเจนในหลายด้าน เป็นเพียงนโยบายกระดาษ ขาดความสามารถในการปฏับัติจริง
ขอให้หน่วยงานภาครัฐมาทดลองสาธิตให้เห็นเป็นรูปธรรมกับพืชเศรษฐกิจที่กำลังปลูกบนพื้นที่ 500 ไร่ให้เห็นจริง เห็นผลภายการกำจัด หญ้า ภายใน 1 วัน หากทำไม่ได้ก็เป็นเพียงนโยบายน้ำลายขายฝันให้เกษตรกร และขอประกาศให้วันที่ 22 ตุลาคม เป็น วันกลียุคเกษตรกรรมไทย จารึกไว้ให้รุ่นลูกหลานรู้ไว้ถึง เกษตรกรรมไทยล้มสลายด้วยระบบการบริหารเอื้อนายทุนสารเคมีกลุ่มใหม่ ทฤษฏีสมรู้ร่วมคิดระหว่างนักการเมืองและ NGO นอกจากนี้ เกษตรกรขอประกาศแบนพรรคการเมืองสมคบคิด และขอ “เผาผี” กลุ่มบุคคลดังกล่าวที่ตั้งใจทำร้ายเกษตรกร อ้างทำเพื่อสุขภาพประชาชน และเตรียมพาพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไปเรียกร้องค่าชดเชยต่อไป