ซีพีเอฟ ได้รับคะแนนสูงสุด ด้านสิทธิมนุษยชน และการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน จากดัชนี SSI

24 ตุลาคม 2562 – บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้รับคะแนนสูงสุดในหมวดสิทธิมนุษยชน และการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน และมีผลคะแนนรวมด้านความยั่งยืนเป็นอันดับ 3 จาก 30 บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก จากดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI)

ดัชนี SSI จัดขึ้นโดยองค์กร World Benchmark Alliance (WBA) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึง the United Nations Foundation มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอาศัยตัวชี้วัดอ้างอิงจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งซีพีเอฟ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินในปีที่ผ่านมา และนับเป็นปีแรกของ WBA ที่มีการประเมิน SSI ดังกล่าว

รายงานการประเมิน SSI ชี้ว่า ซีพีเอฟ มีความโดดเด่นในด้านความโปร่งใส มีนโยบาย และการรายงานประเด็นด้านความยั่งยืน ที่มีเป้าหมายชัดเจน และครอบคลุมหลากหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า การถูกจัดอันดับให้เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมในด้านสิทธิมนุษยชน และการบริหารห่วงโซ่อุปทาน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพดี จากแหล่งวัตถุดิบ และขั้นตอนการผลิตที่ยั่งยืน และปลอดแรงงานทาสตลอดห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ บริษัทยังกำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนต่างๆ ขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานของบริษัททั่วโลก เป็นไปในมาตรฐานและทิศทางเดียวกัน เช่น นโยบายสิทธิมนุษยชน นโยบายการจ้างงาน และการบริหารแรงงาน นโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืน และแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ รวมถึงการออกแถลงการต่อต้านการใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์ เพื่อแจ้งผลการดำเนินงานด้านการดูแลแรงงาน ทั้งในกิจการของบริษัทและในห่วงโซ่อุปทาน ให้สาธารณะชนและผู้มีส่วนได้เสียรายอื่นๆ ของบริษัททราบ

ซีพีเอฟ ได้รับการประเมินเป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมอาหารทะเลในด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เป็นผลจากการพัฒนาการดำเนินงานที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้คะแนนสูงสุดด้านสิทธิมนุษยชนและสภาพการทำงาน ซึ่งรายงาน SSI ระบุว่าบริษัทได้เปิดโอกาสให้แรงงานทั้งไทยและต่างชาติร้องเรียน และปรึกษาปัญหาผ่านสายด่วน Labour Voices ซึ่งให้บริการทั้งภาษาไทย พม่า และกัมพูชา

น.สพ.สุจินต์ กล่าวต่อไปว่า ปลาป่นทั้งหมดที่บริษัทใช้ในประเทศไทยได้รับการรับรองมาตรฐาน IFFO RS ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ของแหล่งที่มาปลาป่น ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าอาหารของซีพีเอฟ มาจากแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืนและปลอดแรงงานทาส

ทั้งนี้ บริษัทได้ต่อยอดความสำเร็จจากประเทศไทยไปยังกิจการสัตว์น้ำในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงทำงานร่วมกับคณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย (TSFR) ผ่านสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ในการร่วมมือกับ IFFO RS เพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินการบริหารจัดการประมงที่เหมาะสมกับลักษณะการประมงในภูมิภาค

“ถึงแม้ซีพีเอฟจะไม่ได้ทำธุรกิจเรือประมง อย่างไรก็ตาม บริษัท ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ของโลก มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมประมงให้เกิดความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล ต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมาย และป้องกันปัญหาแรงงานทาส แรงงานบังคับ อย่างยั่งยืน” น.สพ.สุจินต์ กล่าว

ด้วยการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ซีพีเอฟจึงได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) ประเภทตลาดเกิดใหม่ประจำปี 2562 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน รวมถึงดัชนี FTSE 4 Good Emerging Index เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน