ทำฟาร์มด้วยใจ ตาคลีใหญ่พันธุ์ปลา

ระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี จากการเริ่มต้นขุดบ่อดินเลี้ยงปลาด้วยเงินเพียง 30,000 บาท บนพื้นที่ 3 ไร่ แต่ปัจจุบันกิจการทำฟาร์มปลาขยายพื้นที่มากเกือบ 20 ไร่ มีบ่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ บ่ออนุบาลลูกปลา เป็นเจ้าของฟาร์มปลาที่มีลูกค้าในวงแคบ (พื้นที่ไม่ไกลจากฟาร์ม) แต่มูลค่าการสั่งซื้อสูง ทั้งยังเปิดตลาดค้าส่งลูกปลานิลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ถึงกระนั้น จำนวนลูกปลาที่ผลิตส่งให้กับเกษตรกรและเอเย่นต์ขายปลาแต่ละเดือน ไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการ

คุณเศวตฉัตร สมสวย ปราชญ์ปลานิล

ปราชญ์ปลานิล แห่งจังหวัดนครสวรรค์ คุณเศวตฉัตร สมสวย ประสบความสำเร็จการทำฟาร์มปลา เพาะพันธุ์ปลานิลและปลาทับทิม ได้รับการยอมรับว่าเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาที่มีระบบการจัดการภายในฟาร์มที่ดี เป็นต้นแบบและครบวงจร

ที่ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ปลานิล แห่งจังหวัดนครสวรรค์ เพราะเป็นบุคคลที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงและแนวคิดในการทำฟาร์มให้ประสบความสำเร็จ ให้กับผู้สนใจและเกษตรกรทุกรายที่ก้าวเข้ามา

คุณเศวตฉัตร มีความรู้พื้นฐานด้านการทำฟาร์มมาก่อน แต่เป็นฟาร์มสุกร ซึ่งร่ำเรียนมาเฉพาะทาง ไม่เกี่ยวข้องกับการทำประมง ดังนั้น พื้นฐานความรู้ในการทำประมงจึงเริ่มต้นจากศูนย์

เป็นความโชคดีเมื่อได้ก้าวเข้าสู่การทำงานในศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ประสบการณ์รอบตัวขณะนั้นส่งให้คุณเศวตฉัตรเก็บสะสม ฝึกปรือ และมองเห็นช่องทางทางการตลาดสัตว์น้ำของไทยที่ตลาดยังคงมีความต้องการพันธุ์ปลาสูง ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบความตั้งใจการทำฟาร์มสุกรตามที่ศึกษามากับการทำฟาร์มปลาแล้ว พบว่าการลงทุนในระยะเริ่มต้นต่างกัน ระยะเวลาที่ให้ผลตอบแทนต่างกัน รวมทั้งการดูแลและรายละเอียดการเพาะพันธุ์นั้น การทำประมงน้อยกว่าสัตว์บกมาก

เมื่อไม่ได้เรียนมา แต่ได้ประสบการณ์จากการทำงาน ก็ไม่ใช่ทั้งหมด จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมจากตำรา และการลงมือปฏิบัติจริงจะบอกได้ว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่าง คืออะไร

Advertisement
บ่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

“ผมมีพื้นที่น้อย ทดลองทำไปก่อน เพราะเห็นว่า ตลาดปลายังไปได้อีกไกล ยังมีความต้องการมาก แต่ครั้งที่เริ่มต้น ผมเริ่มจากปลาหลายชนิด ได้แก่ ปลานิล ปลาทับทิม ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาไน แม้ว่าจะมีปลาหลายสายพันธุ์เพื่อคว้ากลุ่มลูกค้าได้หลายกลุ่มนั้นเป็นแนวทางที่ผิด เพราะการบริหารจัดการจะเกิดความยุ่งยากมาก ทำให้ในที่สุดผมต้องลดสายพันธุ์ปลาลงให้เหลือเพียงปลานิล และปลาทับทิม หลังจากคลุกคลีกับวงการประมง ทำให้ทราบว่า ความต้องการพันธุ์ปลาที่ดีในกลุ่มของปลานิล และปลาทับทิมมีสูง จึงตัดสินใจคัดไว้เฉพาะพันธุ์ปลานิลและปลาทับทิมเท่านั้น”

คุณเศวตฉัตร เริ่มจริงจังกับการเพาะพันธุ์ปลาในปี 2547 หลังจากลาออกจากงานในหน้าที่ของกรมประมง เพราะต้องการทุ่มเทให้กับฟาร์มปลาให้มากที่สุด และพบว่า พื้นที่ตั้งฟาร์มเป็นทำเลที่ดี อยู่ใกล้แม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง ซึ่งต้องมีเกษตรกรผู้สนใจการทำประมง โดยเฉพาะปลากระชัง

Advertisement

ในระยะแรกที่เริ่มเพาะพันธุ์ปลาขาย เก็บไข่ได้ 1 ถาด ใช้ระบบเพาะฟักเป็นระบบถาด เพาะพันธุ์แต่ละครั้งได้ลูกปลาประมาณ 3,000 ตัว เมื่อเริ่มจริงจังมากขึ้น ทำให้จำนวนลูกปลาที่เพาะได้มากขึ้น ถึงปัจจุบันนี้สามารถเพาะลูกปลาได้เดือนละประมาณ 3 ล้านตัว แต่สูญเสียไปในระบบร้อยละ 50 ทำให้ขายปลาได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

เปอร์เซ็นต์รอดของลูกปลาในฟาร์มของคุณเศวตฉัตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม เพราะอัตรารอดอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ประการสำคัญของการเพาะพันธุ์ปลาขายของคุณเศวตฉัตร ไม่ได้อยู่ที่การทำให้อัตราการรอดจากฟาร์มสูง แต่กลับให้ความสำคัญไปที่ความแข็งแรงของลูกปลาที่ต้องอยู่รอดได้ เพื่อให้เกษตรกรที่ซื้อปลาจากฟาร์มนำไปเลี้ยงแล้วขายได้กำไรให้มากที่สุด

บรรจุถุง เตรียมส่งให้กับลูกค้า

“ลูกค้าของผมส่วนใหญ่เลี้ยงปลากระชัง ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการเลี้ยงปลากระชังคือ คุณภาพน้ำ หากน้ำมีปัญหาซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะทำให้ปลาตาย ดังนั้น หากปลามีความแข็งแรงมากพอ ไม่เกิดการสูญเสียระหว่างเลี้ยง เมื่อโตเกษตรกรจับขายได้ เกษตรกรก็จะไม่ขาดทุน ทำให้โจทย์ของการเพาะพันธุ์ปลาของผมอยู่ที่ การแก้ปัญหาให้เกษตรกร เมื่อเราแก้ปัญหาหรือควบคุมปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความสูญเสียไม่ได้ เราก็ต้องทำให้ลูกปลาที่ออกจากฟาร์มเราไปแข็งแรงไว้ก่อน”

คุณเศวตฉัตร บอกว่า ลูกปลาที่ดีจะต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่พันธุ์ที่ดี จึงเริ่มเก็บพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาจากแหล่งที่ดีที่สุด ซึ่งได้มาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดอุตรดิตถ์ แหล่งที่ได้ชื่อว่าพัฒนาพันธุ์ปลาเยี่ยมแห่งหนึ่งของประเทศ จากนั้นเมื่อนำมาเพาะพันธุ์ก็ต้องทำให้ลูกปลาแข็งแรงที่สุด โดยคัดไซซ์ให้ได้ตามไซซ์จริงๆ ไม่โกง ไม่ปน ลูกปลาได้กินอาหารที่ดี ทำให้สุขภาพปลาแข็งแรง เมื่อออกสู่ระบบการเลี้ยงแบบเปิด (กระชังปลา) ก็จะสามารถปรับตัวได้และเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

วิธีที่ทำให้เกษตรกรไม่ขาดทุนจากการสูญเสียปลาระหว่างเลี้ยง คุณเศวตฉัตร นักพบปะกับเกษตรกรหรือลูกค้าทุกเดือน โดยเชิญมารับประทานอาหารที่บ้าน พร้อมกับสอบถามถึงการเลี้ยงปลา ปัญหาในการเลี้ยง สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญเสียลูกปลาระหว่างเลี้ยง เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลเก็บเป็นสถิติ หาวิธีแก้ปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเกิดการสูญเสียลูกปลา ฟาร์มจะชดเชยคืนให้ 100 เปอร์เซ็นต์

“มีคนหาว่าผมบ้า ที่ชดเชยให้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เพราะผมเห็นว่า ผมจะช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้ มีรายได้ไม่ขาดทุน และเป็นลูกค้าต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อถัวเฉลี่ยแล้วฟาร์มของผมก็สามารถอยู่ได้ สิ่งที่ผมได้มากกว่าได้ลูกค้าคือ การได้ข้อมูลนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุหลักและแนวทางการแก้ปัญหา ให้ลูกปลารอดมากที่สุด ถือว่าวินวินด้วยกันทั้งสองฝ่าย”

สิ่งที่คุณเศวตฉัตร คำนึงอยู่เสมอ คือการซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และการเปิดประสบการณ์การทำฟาร์มปลาอย่างไรให้มีอัตรารอดสูงให้กับเกษตรกรโดยไม่คิดมูลค่า เพราะเชื่อว่า เมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาอยู่รอด ผลที่สืบเนื่องตามมา คือ ผู้เพาะพันธุ์ปลาเช่นตัวเขาเองก็อยู่รอดได้เช่นกัน

“ปัจจุบัน กำลังผลิตลูกปลาส่งขายจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 10 ล้านตัวต่อเดือน แต่ก็ถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปลานิล เป็นปลาที่ไปได้ดีในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะสาธาณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่สั่งซื้อลูกปลาจากฟาร์มไม่อั้น แต่ความสามารถในการผลิตของฟาร์มเราส่งให้กับสปป.ลาว ปัจจุบันมีเพียง 500,000 ตัวต่อเดือนเท่านั้น”

คุณเศวตฉัตร มองตัวเองว่า เป็นทั้งปราชญ์ปลานิล ที่กรมประมงให้เกียรติ แต่ก็ยังมองว่าตนเองเป็นนักธุรกิจ ที่ควรเผยแพร่ให้ความรู้กับเกษตรกรและการดูแลลูกค้าให้ได้สินค้าที่ดี เพื่อดำเนินธุรกิจให้ได้รับการยอมรับ และแม้ว่าปัจจุบันได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณเศวตฉัตรหยุดการพัฒนาพันธุ์ปลา

“ตาคลีใหญ่พันธุ์ปลา” ฟาร์มแห่งนี้ จึงเป็นสถานที่จำหน่ายพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิม และสถานที่เผยแพร่ความรู้ให้กับผู้สนใจทำประมง โดยคุณเศวตฉัตร ยินดีต้อนรับ ยกหูสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (081) 596-8869 หรือขอเข้าชมฟาร์มได้ที่ ตาคลีใหญ่พันธุ์ปลา เลขที่ 70 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองหม้อ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์