แนะเกษตรกรปรับตัว กำจัดวัชพืชแบบผสมผสานวิธี หลังรัฐแบนการใช้สารเคมี เผยรัฐเตรียมงบก้อนใหญ่ จ่ายชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการแบนการใช้สารเคมี 3 ชนิด

เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2562 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักงานบริการวิชาการ ร่วมกับคณะเกษตร ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ถ้าแบน 3 สาร อะไรจะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรมไทย” ณ ห้องประชุมอาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการ ตัวแทนเกษตรกร ผู้แทนภาครัฐ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการ จากกรณีรัฐบาลสั่งแบนการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิดประกอบด้วยพาราควอต ไกลโฟเยตและคลอร์ไพริฟอส ในช่วงปลายปี 2562 นี้ โดย ประกาศห้ามครอบครอง ห้ามจำหน่ายห้ามนำเข้า ห้ามผลิตการใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตรกรรมเพราะเป็นสารอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงจัดเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างวิทยากร กับผู้เข้าร่วมเสวนาฯ เพื่อหาข้อสรุปประเด็นสำคัญต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีอันตรายในภาคเกษตรกรรม 3 ชนิด รวมทั้งสารเคมีทางการเกษตรอื่นๆ เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสุขภาพประชาชนคนไทย

ผศ.ดร.สราวุธ รุ่งเมฆารัตน์ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า สารป้องกันกำจัดวัชพืช (Herbicide)ที่ใช้กันทั่วไปแบ่งประเภทของการใช้เป็น 2 ชนิดคือ สารที่ใช้แบบก่อนงอกหรือใช้ทางดิน (preemergence herbicides) และสารที่ใช้แบบหลังงอก (Postemergence herbicides) สาเหตุที่เกษตรกรนิยมใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชเพราะมีราคาถูกเมื่อเปรียบกับค่าแรงในการกำจัดวัชพืชด้วยมือหรือไถ นอกจากนี้ สารป้องกันกำจัดวัชพืช ควบคุมวัชพืชได้สมบูรณ์ ในช่วงระยะเวลา และมีความเป็นพิษต่อพืชปลูกต่ำ และวิธีที่ใช้ในการพ่นสารไม่ซับซ้อน สารป้องกันกำจัดวัชพืชไม่มีผลกระทบต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม เมื่อพ่นสารตามวิธีการและอัตราที่แนะนำ ที่สำคัญใช้งานสะดวกและใช้ระยะเวลาน้อยกว่าวิธีการควบคุมวัชพืชด้วยวิธีอื่น ๆ

หากรัฐบาลแบนการใช้ พาราควอตและไกลโฟเยตในช่วงปลายปีนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องการบริหารจัดการวัชพืช คือ อย่ารอให้วัชพืชใหญ่จนถึงออกดอก ควรมีการใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชแบบคุมก่อนวัชพืชงอก ควรมีการใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชแบบคุมหลังวัชพืชงอก ไม่เกินระยะการทำลายของสารนั้น นอกจากนี้ ควรเน้นจัดการวัชพืชแบบผสมผสาน ใช้สารร่วมกับเครื่องจักร เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นในการป้องกันกำจัดวัชพืชอย่างเป็นระบบ

แพทย์หญิงชุลีกร ธนธิติกร แพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีต่อสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคลินิกเกษตร ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ที่ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยให้คำแนะนำการดูแล สุขภาพให้ปลอดภัยจากปัญหาสารเคมีตกค้าง ตั้งแต่ปี 2554-2562 กระทรวงสาธารณสุขได้สุ่มตรวจหาสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ พบว่าตรวจเจอทุกครั้งและมีสารเคมีตกค้างสูงกว่าปริมาณที่กำหนด นอกจากนี้ สารพิษในกระแสเลือดของเกษตรกรก็ไม่ปรับลดลงเลย แสดงให้เห็นว่า การใช้สารเคมีทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีจริง

การทำเกษตรอินทรีย์ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ทุกวันนี้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ กว่า 80% ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เลือกซื้อข้าว พืชผักผลไม้ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์และผ่านการรับรองมาตรฐาจีเอพี สำหรับใช้เป็นอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน อสม. แต่ละตำบลได้ทำหน้าที่เฝ้าระวังสุขภาพของเกษตรกรในชุมชน ว่าเพาะปลูกพืชโดยใช้สารเคมีอย่างไร มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการประเมินปัญหาสารเคมีตกค้างต่อสุขภาพคนไทยในอนาคตต่อไป

ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตพืชพลังงานทดแทน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผมทำอาชีพสวนปาล์มน้ำมันโดยใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมาตลอด 50 ปี โดยทั่วไป สารเคมีกำจัดวัชพืช ที่เกษตรกรนิยมใช้ในแปลงปาล์มน้ำมันและยางพารา ได้แก่ 1. สารกำจัดวัชพืชก่อนงอก 2. สารกำจัดวัชพืชหลังงอก แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทเลือกทำลายวัชพืช และประเภทไม่เลือกทำลายวัชพืช สำหรับสารเคมีชนิดสัมผัสแล้วทำลายใบและลำต้นที่มีสีเขียว ได้แก่ พาราควอต ส่วนสารเคมีชนิดกึ่งดูดซึมกึ่งสัมผัสเช่น กลูโฟสิเนต ส่วนสารเคมีชนิดดูดซึม เช่น ไกลโฟเสท

สำหรับแปลงปลูกต้นปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตเต็มที่ ต้องกำจัดวัชพืชพร้อมใส่ปุ๋ยบำรุงต้นเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมกำจัดวัชพืชในแปลงสวนปาล์มโดยใช้แรงงานและเครื่องตัดหญ้า รวมทั้งใช้สารเคมีพาราควอต และกลูโฟสิเนต

หากภาครัฐแบนการใช้สารเคมี 3 ชนิดเพราะเชื่อว่า สารเคมีดังกล่าวมีผลกระทบต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ผมเชื่อว่า ภาคอุตสาหกรรมเกษตรจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะทุกวันนี้ ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมากถึงปีละ 3 ล้านตัน จากแหล่งปลูกที่ใช้เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ที่ปรุงแต่งพันธุกรรมให้ทนต่อสารไกลโฟเสกที่ฉีดพ่นทับลงบนต้นถั่วเพื่อกำจัดวัชพืช นอกจากนี้ ไทยยังนำเข้ากากถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ไม่น้อยกว่าล้านต้นสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมน้ำมันพืช และใช้ถั่วเหลืองนำเข้าเป็นวัตถุดิบแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การผลิตเต้าหู้ นมถั่วเหลืองและโปรตีนจากถั่วเหลือง หากรัฐแบนการใช้สารเคมีดังกล่าวเท่ากับต้องยุติการนำเข้าถั่วเหลืองจีเอ็มโอเหล่านั้น เข้าประเทศไทยโดยเด็ดขาดเช่นกัน

ทั้งนี้หากรัฐบาลประกาศแบนการใช้สารเคมี 3 ชนิด ในช่วงปลายปีนี้ เกษตรกรคงต้องปรับตัวรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช คือ กลูโฟสิเนตที่มีราคาค่อนข้างสูง ทดแทนสารเคมีที่ถูกยกเลิกไป ทำให้เกษตรกรต้องแบกต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ประการต่อมา เกษตรกรชาวสวนปาล์มต้องปรับตัวหันมาใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ในระยะที่วัชพืชยังไม่โตเต็มที่เพื่อลดความหนาแน่นของวัชพืชและฉีดพ่นสารเคมีให้ครอบคลุมทั่วต้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสารกำจัดวัชพืช นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่ใช้ในการผสมสารเคมีต่อไร่ไม่ควรมากกว่า 80 -100 ลิตรต่อไร่ ขณะเดียวกัน อุปกรณ์เครื่องพ่นสารละลายต้องปรับอัตราการไหลของน้ำยาให้ตรง หรือใกล้เคียงกับปริมาณสารละลายต่อไร่พื้นที่ ระมัดระวังการฉีดพ่นสารละลายไม่ให้โดนส่วนของพืชประธาน

” ผมอยากเรียกร้องให้ ผู้ผลิตสารกูลโฟสิเนตควรเพิ่มประสิทธิภาพความเข้มข้นของสารเคมี จากเดิม 15%เป็น 25%และเพิ่มสารจับใบเพื่อให้สารเคมีทนทานต่อการชะล้างของน้ำฝน และอยากเรียกร้องให้ผู้ผลิตสารกูลโฟสิเนต ปรับราคาให้ถูกลงเทียบเท่ากับราคาสารคมีกำจัดวัชพืชตัวเดิมที่ถูกยกเลิกไปเพื่อช่วยลดต้นทุนการใช้สารกำจัดวัชพืชของเกษตรกร วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในสินค้า กูลโฟสิเนต ซึ่งปัจจุบันเป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดเดียวที่หลงเหลืออยู่ ” ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล กล่าวในที่สุด

ด้านนายศรัณย์ วัธนธาดา นักวิชาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า มาตรการแบนการใช้สารเคมี 3 ชนิด ทำให้การครอบครองสารชนิดดังกล่าว เป็นสิ่งผิดกฎหมาย สร้างผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้นำเข้าและผู้ค้าสารเคมี ดังนั้น รัฐบาลต้องเตรียมเงินก้อนใหญ่ เพื่อจ่ายชดเชยเยียวยาผู้ท่ี่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเพราะผู้นำเข้า  ร้านค้า เกษตรกรที่ครอบครองสารเคมีทั้งสามชนิด จะต้องส่งมอบสารเคมีที่เหลืออยู่ให้กระทรวงเกษตรฯ นำไปจัดเก็บและทำลายในอนาคต

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าว จาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์