สกสว. จับมือกระทรวงพาณิชย์ ดันงานวิจัยข้าม “หุบเหวมรณะ”

สกสว. พร้อมจับมือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เป็นสะพานเชื่อมงานวิจัยก้าวข้ามหุบเหวมรณะไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศและสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยภาครัฐจะต้องช่วยออกแบบงานวิจัยตั้งแต่ต้นทาง

29 ตุลาคม 2562 – โครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยภาคนโยบาย ฝ่ายบริหาร ภายใต้ภารกิจส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ (สนค.) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การเชื่อมโยงการวิจัยและนโยบายสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อส่งผ่านงานวิจัยไปสู่ฝ่ายนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ณ ห้องประชุม สกสว. โดยนำเสนองานวิจัยที่มีศักยภาพโดดเด่นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงการนำไปใช้โดยภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ อีกทั้งนำความรู้ไปพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและผู้ผลิตเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลกภายใต้พลวัต ว่าการค้าและเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ประเทศกำลังพัฒนามีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งเอเชียที่อยู่ท่ามกลางศักยภาพทางเศรษฐกิจและสงครามการค้าโลก เราต้องยืดหยัดได้ด้วยตัวเอง ปัจจุบัน สนค.ได้ตกผลึกมาระยะหนึ่งแล้วว่าแนวโน้มหลักในอนาคตจะประกอบด้วย (1) การเปลี่ยนขั้วทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย (2) แนวโน้มนวัตกรรม ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ได้แก่ ABCDE (AI, Blockchain, Cloud, Data, E-business) รวมถึง IoT และ E-commerce (3) โครงสร้างสังคมเมือง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ สังคมสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงสังคมเมือง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทักษะที่มีอยู่ยังไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ ภัยแล้ง การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะส่งผลต่อฝนฟ้าอากาศและผลผลิตทางการเกษตร

“งานวิจัยจะต้องใช้งานง่าย เข้าใจง่าย จับต้องได้ ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องช่วยออกแบบงานวิจัยเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง เทคโนโลยีสมัยใหม่มีผลกระทบกับการค้าทุกด้าน นโยบายภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนจากการอุดหนุนมาเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความปลอดภัยอาหาร ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้แรงงานทาส” ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

ขณะที่ รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวระหว่างการนำเสนอภาพรวมแนวทางการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบายของกระทรวงพาณิชย์โดยงานวิจัย ว่างานวิจัยเชิงนโยบายนำมาใช้ประโยชน์ได้ 2 ประเภท คือ เอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย นำเสนอข้อมูลสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย ซึ่งขณะนี้กำลังหารือเรื่องการจัดทำชุดความรู้เพื่อให้คณะกรรมาธิการต่างๆ กำหนดเป็นนโยบายที่ถูกต้อง โดยจะต้องมีทางเลือกในการออกนโยบาย ชี้ผลดีและผลเสียให้ผู้กำหนดนโยบายได้เห็น ขณะที่งานวิจัยที่มีศักยภาพแต่ขายไม่ออก หากผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายช่วยผลักดันก็จะทำให้ขายได้

“งานวิจัยที่ขายได้มักจะทำมาอย่างต่อเนื่องจากงานวิจัยพื้นฐาน แต่สิ่งที่ยากคือ เมื่อมีต้นแบบแล้วจะต้องลงทุนวิจัยเพื่อให้ก้าวข้ามหุบเหวมรณะ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นสะพานเชื่อมงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สิ่งสำคัญคือ ต้นทางจะต้องตั้งโจทย์และเลือกประเด็นวิจัยโดยผู้ใช้ประโยชน์ ส่วนปลายทางต้องมีการผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ถ้าต้นทางไม่ชัด ปลายทางก็จะเป๋ไปหมด ดังนั้น จึงต้องวิเคราะห์ให้ชัดว่า “ใคร” คือผู้เกี่ยวข้อง ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงและโดยอ้อม ผู้ปฏิบัติ ใช้กระบวนการให้ทุกคนมีส่วนร่วม และใช้ข้อมูลความรู้ในพื้นที่และสภาพแวดล้อมภายนอกให้เป็นประโยชน์”

Advertisement

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว.มีนวัตกรรมจากงานวิจัยในระดับต่างๆ จำนวนมากและพร้อมจะออกสู่ตลาด แต่พบว่ายังมีอุปสรรคไม่น้อย จึงอยากจะทำความร่วมมือและทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อผลักดันงานวิจัยให้ใช้ประโยชน์ได้จริง โดยงานวิจัยพื้นฐานที่มีศักยภาพสามารถขยายผลต่อยอดกับภาคเอกชนผ่านทุนวิจัยของฝ่ายอุตสาหกรรม และขึ้นบัญชีนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนสู่การใช้งานจริงในอนาคต