ม.แม่โจ้ เปิดงาน ตามรอยพ่อ “กษัตริย์เกษตร”

ม.แม่โจ้ เปิดงาน ตามรอยพ่อ “กษัตริย์เกษตร”

ให้พสกนิกรได้เรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา พร้อมประกาศเจตนารมณ์และมีส่วนร่วมสืบสานพระราชปณิธาน ตามรอยพ่อ กษัตริย์เกษตร

งานตามรอยพ่อ  “กษัตริย์เกษตร” ระหว่างวันที่  ๑๙-๒๕ กุมภาพันธ์  ๒๕๖๐      ณ  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่  งานสำคัญที่ให้พสกนิกรได้มีส่วนร่วมสืบสานพระราชปณิธาน น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อ  พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ของปวงชนชาวไทย “กษัตริย์เกษตร” ที่ทรงงานเพื่อคนไทยมาตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี   โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก หม่อมหลวงปนัดดา  ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน  เมื่อวันพุธที่ ๒๒ กุมภาพันธ์  ๒๕๖๐ ตั้งแต่ เวลา ๑๗.๐๐  น.เป็นต้นไป  ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  องค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักโดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากของพระองค์เอง อันเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในด้านทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม และพลังงาน  เพื่อประโยชน์ของภาคการเกษตรไทยซึ่งเป็นอาชีพหลักของพสกนิกรชาวไทยมาตั้งแต่ในอดีต

   มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีรากฐานทางการเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณสนองงานด้านต่าง ๆ  นับตั้งแต่ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จมายังแม่โจ้ และยังได้สนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง และโครงการในพระองค์อีกหลายโครงการ โดยเฉพาะด้านการเกษตร สืบเนื่องเรื่อยมา รวมถึงการน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาใช้ในการเรียนการสอน มีหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน ผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรอบรู้ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ  เพื่อเผยแพร่ให้สังคมเรียนรู้พระราชปรัชญา แนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน  อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวที่เปิดหลักสูตรที่น้อมนำองค์ความรู้ศาสตร์ของพระราชาอย่างเป็นรูปธรรม

หม่อมหลวงปนัดดา  ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า ๗ ทศวรรษ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดซ มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทรงสร้างผลสัมฤทธิ์ให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์กว่าสี่พันโครงการ พระองค์ทรงเห็นว่าทุกข์ของราษฎร คือทุกข์ของพระองค์ จึงทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่อาณาประชาราษฎร์ พระองค์ได้พระราชทานทฤษฎีใหม่เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ราษฎรในการจัดการพื้นที่ทำกินให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการพึ่งตนเอง และเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ และประสานงานกับแหล่งทุนในโอกาสต่อไป  การจัดงานตามรอยพ่อ “กษัตริย์เกษตร” จึงถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และจังหวัดเชียงใหม่ ข้าพเจ้าขอชื่นชมคณะกรรมการดำเนินงานทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมส่งเสริมการสืบสานพระราชปณิธานด้วยการน้อมนำ ทฤษฎีใหม่ อันเป็นศาสตร์พระราชา  ไปปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”  

Advertisement

 

นายกฤษณ์  ธนาวนิช  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า “การจัดงานตามรอยพ่อ กษัตริย์เกษตร  ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าและความหมายต่อคนไทยทุกคน เนื่องจากเป็นการจัดงานเพื่อเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั่วโลก พระองค์จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่รักยิ่งของพสกนิกร ในนามของจังหวัดเชียงใหม่ ขอเชิญทุกท่านร่วมกันปฏิบัติตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในการน้อมนำศาสตร์พระราชา  “เกษตรทฤษฎีใหม่” เป็นแนวทางสร้างชีวิตและสร้างชาติไทยของเราให้ยั่งยืน สืบไป”

Advertisement

 

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำเนียร  ยศราช  อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุชแก่อาณาประชาราษฎร์อย่างยาวนาน พระองค์ทรงตระหนักในเรื่องการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และจังหวัดเชียงใหม่ จึงจัดงาน “ตามรอยพ่อ กษัตริย์เกษตร” ทั้งในส่วนพื้นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้แห่งนี้ และในส่วนของสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน ๙๐๗  ไร่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ จัดกิจกรรมที่แสดงถึงการสืบสานพระราชปณิธาน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนรวมทั้งผู้สนใจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผล ภายในงานมีการจัดกิจกรรมสำคัญ คือ การเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  โดยได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสืบสานพระราชปณิธาน น้อมนำศาสตร์ของพระราชา มาปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน โดยมีการการจัดกิจกรรมเป็น ๕ ส่วน คือ ๑.)การร่วมกันน้อมถวายการสักการะเทิดพระเกียรติและสืบสานพระราชปณิธาน “กษัตริย์เกษตร”  ๒) นิทรรศการ ซึ่งมีทั้งส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เอง  ๔  กลุ่มนิทรรศการ และนิทรรศการจากหน่วยงานภายนอกอีก  ๖ กลุ่มนิทรรศการ  ๓.) ส่วนแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่เปิดให้ทุกท่านเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ มีวิทยากรบรรยายให้ความรู้ตลอดงาน  ๔)การเสวนาและฝึกอบรม อาทิ การเสวนาเรื่อง “สืบสานพระราชปณิธานกษัตริย์เกษตร”  ๕.)ตลาดนัดสินค้าเกษตรปลอดภัย ในชื่อ “กาดแม่โจ้ ๒๔๗๗”  ซึ่ง เป็นสินค้าที่มีความหลากหลาย  มีคุณภาพและปลอดภัย  มีการกำหนดราคาที่เป็นธรรม เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและชาวนา”

ในพิธีการประกอบพิธีเปิด ได้มีการยืนสงบนิ่งถวายความอาลัย ต่อด้วยการขับเสภาถวายความอาลัยโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้  จากนั้น หม่อมหลวงปนัดดา  ดิศกุล ประธานในพิธีได้กล่าวสดุดีถวายพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กษัตริย์เกษตร ของปวงชนชาวไทย พร้อมเปิด VTR เจ็ดทศวรรษ ใต้ร่มพระบารมีและเพลงรักพ่อไม่พอเพียง

สำหรับกิจกรรมพิเศษในพิธีเปิดงานในวันนี้ซึ่งสะกดให้ผู้ที่เข้าร่วมงานอยู่ในภวังค์ คือได้รับฟัง พระสุรเสียงและพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล ที่พระองค์ทรงประกาศทฤษฎีใหม่ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตแม่โจ้  เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์  ๒๕๓๘ ณ สถานที่แห่งนี้

 

วันนี้จึงเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่เราท่านทั้งหลายจะได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์อันมุ่งมั่น สืบสานพระราชปณิธาน ตามรอยพ่อ “กษัตริย์เกษตร” เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืนต่อไป