ครบ 3 ปี โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ กษ. ลุยต่อยอดโครงการ สร้างคุณภาพชีวิตเกษตรกร

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ (5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง) เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปีงบประมาณ 2560 และดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปีงบประมาณ 2562 เป็นเวลา 3 ปี การดำเนินงานต่างๆ ได้เน้นสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ตามวาระของประเทศ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจ น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้อันเกิดจากการพัฒนาศักยภาพ ของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยการสร้างอาชีพอย่างเหมาะสมกับทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการร่วมกัน 5 ภาคส่วน ได้แก่ เกษตรกร ภาครัฐ ภาคประชาสังคม (ปราชญ์เกษตร/เกษตรกรต้นแบบ/ประธาน ศพก.) ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา กำหนดเป้าหมายรับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ปีละ 70,000 ราย พื้นที่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด รวม 882 อำเภอ

จากการติดตามประเมินผลโครงการฯ เกษตรกรตัวอย่าง 2,211 ราย ในพื้นที่ 77 จังหวัด พบว่า เกษตรกรได้ปรับสัดส่วนการใช้พื้นที่แหล่งน้ำเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีสัดส่วนการใช้พื้นที่เพื่อปลูกข้าว : ปลูกพืช : ที่อยู่อาศัย และเลี้ยงสัตว์ : แหล่งน้ำ คิดเป็นสัดส่วน 51 : 32 : 7 : 10 และเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองจากการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 2,814 บาท/ไร่ แบ่งเป็นลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยการบริโภคผลผลิตของตนเอง 1,487 บาท และลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปัจจัยการผลิตของตนเอง 1,327 บาท/ไร่ อีกทั้งยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลงได้ เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่ม ชูกำลัง สุรา เบียร์ และ บุหรี่ ได้ประมาณ 411 บาท/เดือน/ครัวเรือน โดยเกษตรกร  มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต 7,153 บาท/ไร่ (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13)

ด้าน นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า สำหรับด้านความยั่งยืนของโครงการ เกษตรกรสามารถพัฒนาเป็นเกษตรกรต้นแบบ ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น เป็นการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน หลักสำคัญคือการลดค่าใช้จ่าย โดยการสร้างสิ่งอุปโภคบริโภคให้เพียงพอในที่ดินของตนเอง เหลือจากบริโภคก็นำไปจำหน่ายและปฏิบัติตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 2 ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เป็นการรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ในด้านต่างๆ เช่น การผลิต การตลาด เมื่อดำเนินการผ่านขั้นที่ 2 แล้ว เกษตรกรพัฒนาไปสู่ ขั้นที่ 3 เป็นการประสานงานเพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงิน สร้างเครือข่าย กลุ่มอาชีพ ขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หลากหลายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เกษตรกร ร้อยละ 60 ของตัวอย่าง ยังได้ขยายผลการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ไปสู่เกษตรกรรายอื่นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในปี 2563 กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะหน่วยงานหลัก ร่วมกับคณะกรรมการบริหารโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ พิจารณากำหนดเกษตรกรเป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานโครงการให้มีความเหมาะสม ชัดเจน เป็นไปตามศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของเกษตรกร สนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรต้องตรงตามความต้องการและทันต่อฤดูการเพาะปลูกให้ความสำคัญกับการประสานระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะภาคเอกชน ภาคการศึกษา และปราชญ์เกษตรกร ตลอดจนจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจบทบาทที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนโครงการอย่างแท้จริง โดย สศก. จะทำหน้าที่ในการติดตามและประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป