ชาญ บัววิเชียร กับอาชีพเพาะเลี้ยงลูกปลาช่อนจำหน่าย ที่สองพี่น้อง

ปลาช่อน เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่ตลาดมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงที่โรคไข้หวัดนกเข้ามาระบาดในสัตว์ปีก อย่างเช่น  ไก่ เป็ด ส่งผลทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจบริโภคเนื้อปลาน้ำจืดแทนสัตว์อื่นๆ กันมากขึ้น ส่งผลทำให้ปัจจุบันราคาซื้อขายปลาในท้องตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะปลาช่อนปลาน้ำจืดที่อยู่คู่กับแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทย

กระชังอนุบาลลูกปลาช่อน

ถึงแม้ว่าในธรรมชาติตามหนอง คลอง บึง จะมีปลาชนิดนี้มาก แต่การล่าหรือจับเพื่อการค้านั้นค่อนข้างลำบาก เพราะว่าเป็นปลาที่มุดโคลนเก่ง แต่อย่างไรก็ตามด้วยความต้องการของมนุษย์และสิ่งมีชีวิติที่กินเนื้อเป็นอาหารจะใช้กลยุทธต่างๆ ทำให้ได้มาซึ่งปลาช่อนที่ได้ชื่อว่าเป็นปลาที่จับได้ยาก ไม่เว้นแม้กระทั้งในช่วงฤดูกาลที่ปลาวางไข่ ส่งผลทำให้ปริมาณและผลผลิตในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เกษตรกรหันมาประกอบอาชีพเลี้ยงปลาช่อนในเชิงพาณิชย์ มีการบริหารจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงที่มีคุณภาพแทนการไปจับจากธรรมชาติ ดังเช่นคุณชาญ บัววิเชียร เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาช่อน ตำบลบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีที่มีการบริหารจัดการตั้งแต่การนำลูกปลาจากธรรมชาติมาอนุบาลจนมีความแข็งแรงก่อนที่จะส่งจำหน่ายต่อไปยังเกษตรกรที่มีความสนใจ

คุณชาญ เดิมมีอาชีพเป็นช่างตัดผม อยู่แถวมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เบื่อความจำเจ ประกอบกับที่ต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ จึงกลับมาอยู่บ้านเกิดและหันมายึดอาชีพเป็นลูกจ้างเลี้ยงปลาช่อน ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

ปลาช่อนที่เลี้ยงในฟาร์ม

การทำงานเป็นลูกจ้างคุณชาญทำให้มีโอกาสสร้างธุรกิจเล็กเป็นของตัวเอง โดยการนำลูกปลาช่อนที่ชาวบ้านจับมาจากธรรมชาติส่วนที่เกินปริมาณการสั่งชื้อของนายจ้างมาเลี้ยงในกระชังควบคู่กับการเป็นลูกจ้าง ซึ่งในแรกๆ ยังไม่มีเงินทุน การเพาะเลี้ยงจึงเริ่มต้น 4 กระชัง โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นหลักยึดกระชังให้ลอยอยู่ในน้ำ

หลังจากที่คุณชาญเพาะเลี้ยงลูกปลาช่อนควบคู่กับการเป็นลูกจ้างมาระยะหนึ่ง ธุรกิจของนายจ้างต้องหยุดกิจการลงเนื่องเกิดปัญญา ลูกน้องแยกย้ายไปหาอาชีพอื่นๆทำกันหมด เหลือเพียงคุณชาญที่ยังให้ความสนใจถึงแม้ธุระกิจของนายจ้างจะหยุดลงแต่เขายังคงสานต่ออาชีพนี้ทำเป็นธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว

คุณชาญเริ่มจากทดลองอนุบาลลูกปลาธรรมชาติที่ชาวบ้านจับมา อนุบาลส่งขายให้กับผู้เลี้ยงรายใหญ่

คุณชาญ บัววิเชียร (เสื้อขาว)

“ตอนที่เป็นลูกจ้าง ได้เรียนรู้และหาประสบการณ์การเพาะเลี้ยงมานานพอสมควร อีกทั้งยังมีโอกาสทำเป็นของตัวเองการหันมาทำเองจึงไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่ด้วยไม่ค่อยมีทุนจึงเริ่มเลี้ยงจำนวนน้อยๆ อนุบาลจนครบ 2 เดือนหรือมีความยาวได้ประมาณ 3-4 นิ้ว ก็ส่งขายต่อให้ผู้เลี้ยงรายใหญ่”

การเพาะเลี้ยงลูกปลาช่อนของคุณชาญจะมีลักษณะเหมือนกับการอนุบาลลูกปลาโดยทั่วไป ซึ่งฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาช่อนอยู่ติดกับแม่น้ำสองพี่น้องดังนั้นการอนุบาลลูกปลาทั้งหมดจะอยู่ในรูปของกระชังที่มีขนาดความกว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 1.50 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ง่ายต่อการจัดการ

“แต่ละกระชังจะปล่อยลงไปประมาณ 50,000-60,000 ตัว ต่อกระชัง ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่แน่นหนามากนัก เมื่อตัวใหญ่หากมีกระชังว่างเราก็แยกไปปล่อยเลี้ยง แต่ถ้าไม่ว่างก็สามารถปล่อยไว้อย่างนั้น เพียงแต่ให้อาหารกินอย่างเพียงพอลูกปลาก็อาศัยอยู่ได้แล้ว”

การบรรจุส่งจำหน่าย

ลูกปลาช่อนจากธรรมชาติที่ชาวบ้านนำมาขายมีหลายขนาด มีทั้ง 3,000 ตัว ต่อกิโลกรัม 1,400 ตัว ต่อกิโลกรัมและ 800 ตัว ต่อกิโลกรัม เมื่อปลาถึงเราจะคัดเลือกขนาด เพื่อป้องกันการแยกอาหารกัน และต้องการให้แต่ละกระชังมีลูกปลาเจริญเติบโตเท่าๆ กัน ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการจัดการอื่นๆ ด้วย

“แต่หากลูกปลาที่ซื้อเป็นตัวใหญ่หรือขนาด 800 ตัว ต่อกิโลกรัม จะหัดให้กินอาหารปลาทะเลและอาหารเม็ด เพียงระยะเวลา 10 วัน เท่านั้น ก็สามารถจับขายได้แล้ว ส่วนปลาอายุประมาณ 15 วัน ปลาพวกนี้ต้องอนุบาลครบ 40 วัน จึงจับจำหน่ายให้กับลูกค้าที่สนใจ ขนาด 2-3 นิ้ว ราคา 1 บาท และขนาด 3-4 นิ้ว ราคา 1.50 บาท 4-5 นิ้ว ราคา 2 บาท”

การอนุบาลหรือเลี้ยงลูกปลาช่อนให้ประสบความสำเร็จ คุณชาญบอกว่าไม่ใช่สิ่งที่ยากนัก แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับมือใหม่ๆ เนื่องจากเป็นปลากินเนื้อที่มีความต้องการอาหารคุณภาพสูง แคลเซียมและวิตามิน เพื่อสร้างกระดูกและเกล็ด ดังนั้น ในการอนุบาลลูกปลานั้น เราเน้นเรื่องอาหารและอาหารเสริมเป็นพิเศษ

คัดแยกลูกปลาที่ได้ก่อนนำลงเพาะเลี้ยงต่อในกระชัง

“จะอนุบาลลูกปลาให้รอดนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่เลี้ยงให้โตให้อ้วนสมบูรณ์นั้นเป็นเรื่องยาก หากสูตรอาหารไม่ดีจริงๆ ปลาก็เล็กไปเลย  ดังนั้น อาหารที่ใช้อนุบาลลูกปลาครั้งแรกจะผลิตขึ้นมาเอง โดยใช้สูตร คือ เนื้อปลาทะเล 1 กิโลกรัม นมผงเด็ก 3 ช้อน แคลเซียล 1 ช้อนกาแฟ วิตามินซี 1 ช้อนกาแฟ และไข่ 1 ฟอง บดผสมกันให้ละเอียด แล้วนำไปหยดตามข้างๆ กระชัง เพื่อเป็นการฝึกให้กินอาหารครั้งแรก นอกจากนี้ในการอนุบาลลูกปลาช่อนไม่เพียงให้กินอาหารทุกวันเท่านั้น ต้องให้ยาถ่ายพยาธิมาผสมกับอาหาร เพื่อให้ปลากินอีกด้วย โดยจะถ่ายพยาธิ 3 ครั้ง คือ หลังจากเลี้ยง 3 วัน 7 วัน และ 15 วัน  นอกจากนี้ การบริหารจัดการน้ำที่ใช้เพาะเลี้ยง ฤดูกาล อากาศก็มีส่วนสำคัญ”

อย่างไรก็ตามต้องฝึกลูกปลาให้กินได้ทั้งอาหารเม็ดและปลาทะเลสลับกับสูตรอาหารดังกล่าว เพราะว่าผู้ซื้อหรือลูกค้ามีทั้งอยู่ใกล้และไกลทะเล บางคนไม่สะดวกซื้อปลาทะเล ก็สามารถใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปของปลาดุกหรือพวกไฮเกรดได้

ลูกปลาช่อนแต่ละขนาดที่พร้อมจำหน่าย

“การเลี้ยงปลาช่อนทั่วๆ ไป จะซื้อปลาทะเล พวกปลาข้างเหลือง หรือปลาเป็ดมาบดให้ปลาช่อนกินเป็นอาหาร ซึ่งมีข้อเสียหลายอย่างคือ ทำให้น้ำในบ่อเลี้ยงคุณภาพไม่ดี และต้นทุนการเลี้ยงค่อนข้างสูง อีกทั้งการจัดการลำบาก นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงที่อยู่ห่างไกลจากทะเลไม่สามารถหาซื้ออาหารมาเลี้ยงปลาได้อีกด้วย”

“ด้วยข้อกำจัดดังกล่าว ผมจึงฝึกให้ลูกปลาที่เลี้ยงไว้หัดกินอาหารเม็ดได้อย่างสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นลูกปลาจากธรรมชาติหรือจากการผสมพันธุ์เอง” คุณชาญ กล่าวทิ้งท้าย

การฝึกให้กินอาหารเม็ดนั้น จะต้องค่อยๆ ลดอาหารบดหรือปลาบด แล้วก็ใส่อาหารเม็ดไปแทนที่

ลูกปลาช่อนที่ได้จากธรรมชาติ นำมาอนุบาลให้มีความแข็งแรง

จากคนที่ไม่มีอะไรเลย ทั้งเงินและความรู้ แต่ความชอบและต้องการต่อสู้กับความยากจน ทำให้คุณชาญมีวันนี้  20 กว่าปี ที่คุณชาญได้สะสมประสบการณ์และเงินทำให้ปัจจุบันเขากลายเป็นเจ้าของฟาร์มเพาะขยายพันธุ์เลี้ยงปลาช่อนที่โด่งดังในเขตอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

เกษตรกรท่านใดให้ความสนใจ ที่ฟาร์ม “ชาญพันธุ์ปลาช่อน”แห่งนี้พร้อมส่งมอบความรู้แบบไม่มีกั๊ก สามารถสอบถามข้อมูล ขอคำปรึกษาแนะนำ ได้ที่ คุณชาญ บัววิเชียร บ้านเลขที่ 150 หมู่ที่ 1 ตำบลบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โทรศัพท์ (081)-9813292


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่