เกษตรกรอเมริกัน ลำบาก แต่หลังไม่เปียก

ฉบับก่อนพูดเรื่องเกษตรกรในอเมริกา มีคนถามมาว่า เกษตรกรของอเมริกาทำงานหนักเหมือนเกษตรกรไทยไหม ประเภทหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินเหมือนกันไหม

ฉันว่าเขาก็ทำงานหนักนะ แต่มันหนักคนละอย่าง เกษตรกรของอเมริกามีเครื่องไม้เครื่องมือช่วยในการทำงานมาก เขาใช้เครื่องจักรในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว นั่นเพราะวิทยาการเขาก้าวหน้าไป ค่าแรงเขาแพง และภาครัฐช่วยเหลือเขาในเรื่องเงินทุนสนับสนุนและสารพัดวิธี

มองอย่างเป็นธรรม รัฐบาลไทยเองก็ไม่ได้ละทิ้งเกษตรกร เพียงแต่ความช่วยเหลือของรัฐไทยมักไม่ใช่วิธีการถาวร ต่อเนื่องและยั่งยืน แต่เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น รับซื้อผลผลิตราคาสูงกว่าท้องตลาด แต่กระบวนการผลิตไม่ได้รับความช่วยเหลือ เราเอาความช่วยเหลือไปผูกกับวัตถุประสงค์ทางการเมืองระยะสั้น (อเมริกาก็ผูกกับการเมือง แต่เขามองยาวกว่าการเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่งเท่านั้น) ชาวนาไทยจึงยังคงอยู่กับวิธีการดั้งเดิม ผลผลิตต่อไร่แบบเดิมๆ ขณะที่ประเทศอื่นเขาก้าวข้ามไปหมดแล้ว กระทั่งเวียดนามที่ไม่กี่ปีก่อนยังไล่หลังไทยอยู่ห่าง

กลับมาเรื่องเกษตรกรของอเมริกาลำบากไหม ฉันยืนยันว่า ลำบากมาก ยกตัวอย่างอีกทีคือ รัฐวิสคอนซิน ซึ่งฉันอยู่ มันเป็นเมืองหนาว คือหน้าหนาวยาวนานเกือบครึ่งปี และหน้าหนาวของเขาคือ หนาวมาก อุณหภูมิติดลบอย่างน้อย 20 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้นการเกษตรและปศุสัตว์ที่เป็นกระดูกสันหลังของรัฐก็ทำไม่ได้

หนาวขนาดนั้น ไม่ว่า ผัก ผลไม้ วัว ควาย ล้วนล้มตายแน่นอน ผลผลิตเรียกได้ว่าต้องเป็นศูนย์

แล้วเขายอมจำนนไหม?
เขาไม่ยอม

เราจะเห็นการต่อกรอย่างสู้ตายกับอากาศที่หนาวอย่างเกรี้ยวกราด

เกษตรกรที่ทำฟาร์มปศุสัตว์จะใช้เครื่องทำความร้อนทำความอบอุ่นให้สัตว์ โรงเรือนต้องทำเป็นระบบปิด แล้วปรับอุณหภูมิเพื่อให้ปศุสัตว์อยู่รอด ลองนึกภาพฟาร์มที่มีวัวหลายพันตัว แล้วต้องทำอย่างนี้ตลอดเวลาหลายเดือน มันคือต้นทุนมหาศาล แต่เขาเลือกที่จะสู้ แทนการปิดบ้านนอนรอแสงแดด

คนรู้จักฉันคนหนึ่งทำฟาร์มปลาเทราท์ กับปลาแซลมอน ก็ต้องปรับอุณหภูมิน้ำให้อุ่น ไม่ให้ปลาตาย ทำเช่นนี้ตลอดฤดูหนาวอันยาวนานกว่า 4 เดือน

ทุกอย่างใช้ใจ ใช้เงินทุน ใช้การดูแลอย่างระมัดระวัง และต้นทุนในการขนส่งที่สูงขึ้นหลายเท่า เพราะถนนหนทางเต็มไปด้วยหิมะ รถที่จะวิ่งได้จะต้องแข็งแรงเป็นพิเศษ ล้อยางแบบลุยหิมะได้ และบางคราวต้องพันโซ่เพื่อให้ล้อเคลื่อนที่บนหิมะหนาและลื่นจนอันตราย

นี่ยืนยันว่า เขาไม่ได้สบายไปกว่าเกษตรกรบ้านอื่นเมืองอื่น

นี่ยังไม่นับว่ารัฐแถบนี้เป็นพื้นที่ที่มีพายุทอร์นาโดอาละวาดทุกปี ปีละหลายครั้ง มันมาทีไร มันก็กวาดไร่นาฟาร์มเสียหายหนัก เกษตรกรเขาต้องรับมือกับเรื่องล้มแล้วลุกแบบนี้เป็นปกติ

นอกจากนั้น ผู้คนที่อาศัยในรัฐที่มีอากาศหนาวอย่างนี้ ก็ต้องปรับตัวที่จะอยู่ง่ายกินง่ายตลอดหน้าหนาว ผักสด ผลไม้สดในช่วงนี้ต้องเว้นไปก่อน ผักส่วนใหญ่ที่กินคือ เป็นผักแช่แข็ง อาหารแช่แข็ง หรือไม่ก็อาหารกระป๋อง

ดังนั้น อาหารพวกนี้มีที่มาที่ไป ไม่ใช่จู่ๆ ก็พรวดพราดมาเป็นอาหารแช่แข็งหรืออาหารกระป๋อง ที่พวกรักษาสุขภาพทำท่าอี๊อ๊าเข้าใส่

เกษตรกรกลุ่มหนึ่งในอเมริกาที่ฉันว่าเขาทรหดมาก คือชาวม้งที่อพยพไปจากทางตอนเหนือของลาว เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว รัฐบาลอเมริกาจัดให้คนกลุ่มนี้ตั้งหลักแหล่งในรัฐทางตอนบน ทั้งวิสคอนซิน มินิโซตา ซึ่งล้วนเป็นรัฐที่มีอากาศหนาวเย็น ม้งจะได้รับที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำกิน ซึ่งก็เป็นที่ดินนอกเมือง เหมือนนิคมสร้างตนเองของเมืองไทย การหนีตายจากสงครามทำให้พวกเขาเลือกไม่ได้

จากนั้น 30 ปี ม้งทางตอนเหนือของอเมริกา ทำมาหากินอย่างแข็งขัน ฝ่าฟันอุปสรรคทางด้านภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิต ไปจนถึงอากาศ ลองนึกถึงคนที่ไปจากเมืองร้อน แล้วต้องไปทำมาหากิน ไม่ใช่แค่อยู่เฉยๆ ในภูมิอากาศแบบนั้น อากาศหนาวติดลบขนาดนั้น

แต่คนม้งไม่ถอย ฉันเจอพวกเขาในฟาร์มขนาดเล็ก ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ เงินทุนน้อยกว่าของคนอเมริกันแท้ แต่พวกเขาก็ไม่ท้อ

ทุกวันเสาร์ เกษตรกรม้งจะพากันขับรถบรรทุกเก่าๆ ขนผักที่พวกเขาปลูก เข้ามาขายในเมืองแมดิสัน ในตลาดหน้าศาลาว่าการรัฐ

ผักของคนม้งจะเป็นผักเมืองร้อน มะเขือเปราะ พริกขี้หนู กระทั่งตะไคร้ ฉันไม่รู้ว่าเขาปลูกได้อย่างไรในอากาศแบบนี้ ถามเขาว่ามีโรงเรือนปรับอุณหภูมิไหม เขาบอกว่าไม่มี แต่ใช้โรงเรือนแล้วเปิดหลอดไฟใส่ ซื่อๆ แบบแถวเอเชียทำ คือมันจะถูกกว่า ไม่ต้องใช้วิทยาการสมัยใหม่และเงินทุนมาก แต่ร้อนได้เหมือนกัน ขณะที่เกษตรกรอเมริกันแท้จะใช้เครื่องทำความร้อน และโรงเรือนปิดอย่างเป็นระบบ

ในอเมริกา มีศัพท์ว่า wet back หรือหลังเปียก ซึ่งเพื่อนฉันหลายคนเข้าใจผิดว่า เป็นคำเรียกเกษตรกร เพราะทำงานหนักจนหลังเปียกชุ่ม หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอะไรทำนองนั้น

ที่จริงมันไม่ใช่ การใช้คำนี้ต้องระวังให้มาก

คำว่า wet back ใช้เรียกคนเม็กซิกัน ที่อพยพข้ามพรมแดนเข้าไปทำมาหากินในอเมริกา พรมแดนระหว่างสองประเทศนี้คือ แม่น้ำริโอแกรนด์ Rio Grande คนที่จะหนีเข้าอเมริกาจะต้องว่ายข้ามแม่น้ำนี้ เพราะฉะนั้นพวกเขารอดมาถึงฝั่งอเมริกาในลักษณะเปียกชุ่ม จึงเรียกกันว่า พวกหลังเปียก

ต่อมาคำนี้ใช้เรียกเม็กซิกันที่อพยพเข้าอเมริกาในทุกทาง ไม่ว่าจะว่ายน้ำข้ามมา หรือมาทางรถ หรือวิธีอื่นก็ตาม

คำนี้มีนัยดูถูกเหยียดหยาม เหมือนที่ คำว่า กะเหรี่ยง เอาไว้เรียกคนไทยที่อพยพเข้าไปทำมาหากินในอเมริกาเช่นกัน

แต่มันก็เหมือนกับ คำว่า กะเหรี่ยง นั่นแหละ คือถ้าคนไทยด้วยกันเรียกกันเอง ก็ออกแนวประชดประชันเฮฮากันไป แต่คนอื่นมาเรียกจะเป็นการเหยียดหยามทันที

คนเม็กซิกันก็เช่นกัน เขาเรียกกันเองว่า พวก Mojado ซึ่งแปลว่า เปียก เรียกกันเองไม่เป็นไร แต่ถ้าคนอื่นโดยเฉพาะพวกผิวขาวไปเรียก จะเป็นเรื่องทันที ปัญหานี้เกิดขึ้นหลายครั้งและต้องขอโทษขอโพยกันใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป สื่อมวลชน ไปจนถึงนักการเมือง

คำนี้ใช้กันมาหลายสิบปี คือมันมาพร้อมๆ กับการอพยพข้ามพรมแดนของคนเม็กซิโกเนิ่นนานมาแล้วนั่นแหละ น่าจะใกล้ร้อยปีแล้วด้วยซ้ำ ในช่วงปี 1954 รัฐบาลอเมริกาประกาศปฏิบัติการ wet back คือการผลักดันคนเม็กซิกันให้กลับประเทศ แต่หลังจากนั้นก็คลายไป และกลายเป็นศัพท์ที่ไม่ค่อยมีใครใช้ น่าจะเหมือนกับ คำว่า หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ที่พักหลังไม่ค่อยมีใครเอาไปใช้อธิบายการทำมาหากินของเกษตรกรไทยแล้ว

ทุกวันนี้คนอเมริกันที่เกลียดผู้อพยพ เรียกคนเหล่านี้อย่างรังเกียจเปิดเผยว่า illegal alien หรือตัวประหลาดผิดกฎหมาย ชัดเจน แจ่มแจ้ง  

ส่วนเกษตรกรของอเมริกา ก็หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินต่อไปเหมือนเกษตรกรทั่วโลก

ต่างกันที่หลังเขาไม่เปียก แต่เขาจ้างพวกหลังเปียกทำงานแทน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354