เกี๋ยงพาไย ผักป่า ยาดี มีมานาน

ตำรับยาไทยหลายชนิด เกือบจะเป็นส่วนใหญ่ ที่ในตำรับยามีส่วนประกอบด้วย พืชผัก สมุนไพร ที่มีตัวยาสำคัญแฝงอยู่ และมีพืชผักสมุนไพรนับร้อยชนิดที่เป็นพืชในพื้นที่ประเทศไทย เมื่อสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ยังปรากฏมีในศิลาจารึกว่า การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ โดยหมอยาไทยใช้ยาพื้นบ้านที่มีอยู่ตามป่าเขา มีทั้งว่านต่างๆ รากไม้ใบหญ้าสารพัด ที่นำมาใช้รักษาโรคภัย ตั้งแต่ภายนอกที่ปรากฏให้เห็น และภายในที่มองไม่เห็น ตลอดจนไสยศาสตร์ เวทมนตร์ คาถา เครื่องรางของขลัง ก็ยังมีการสืบทอดศาสตร์เคล็ดวิชาหมอยาไทย และไสยศาสตร์ จวบจนถึงปัจจุบัน

พืชป่าที่นำมาเป็นอาหารรับประทาน เรียกกันว่าผัก ที่นำมาเป็นยารักษาโรค บำรุงร่างกาย เรียกสมุนไพร มีหลากหลายชนิด หลายประเภท หลายพวก หลายเหล่า พืชป่าชนิดหนึ่ง ทางภาคเหนือเรียกว่า “เกี๋ยงพาไย” เป็นไม้พุ่มเลื้อยขนาดเล็ก มักพบขึ้นอยู่ริมลำห้วยในป่า นำมาเป็นผักแกล้ม ลาบ บ้างเรียก เกี๋ยงพาลาบ บางทีที่ขึ้นที่แล้งแคระแกร็น เรียก เกี๋ยงพาไหน่ คงเป็นเพราะสีสันใบ ก้าน มีลวดลายและสีเขียวแดงคล้ายกระรอก กระแต ทางภาคเหนือเรียก ตัวไหน่ เกี๋ยงพาไย เป็นผักที่พบมากทางภาคเหนือ กับอีสาน และนิยมนำมาเป็นผักแกล้ม กินกับลาบ ส้า พล่า ก้อย หรือลวกจิ้มน้ำพริก อร่อย และดีมีคุณค่านักแล

เกี๋ยงพาไย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eupatorim Stoechodomum Hance
จัดอยู่ในวงศ์ Compositaae

เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก เจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้น ดินมีอินทรียวัตถุมาก แสงแดดรำไร แต่ถ้าปลูกขึ้นในที่แดดจัด จะแตกยอด และใบที่เล็ก แกร็น ก้านต้นใบ เส้นใบออกสีแดง ถึงม่วงเข้ม แผ่นใบสีเขียวอมน้ำตาลเล็กน้อย แข็ง กรอบ เป็นพืชที่เจริญเติบโต แพร่ขยายเร็วพอสมควร ใบรูปหอก โคนสอบ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบบ้าง แบบหยักมีหนามเล็กๆ ก็มี ยอดอ่อนอาจมีขนขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นจะเป็นใบเรียบ มีดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด สีขาวอมเหลือง ติดผลหรือเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดทรงกระบอกโค้งเล็กน้อย มีขนนุ่มละเอียดหุ้ม แต่ไม่ค่อยเจอดอก เพราะส่วนใหญ่จะถูกเด็ดยอดไปกินกับแกล้มลาบขมเสียก่อน ส่วนกลิ่น รสชาติ พิสูจน์แล้วตามความรู้สึกของตนเองเห็นว่า มีกลิ่นเฉพาะไม่เหมือนผักชนิดไหน ส่วนรสชาติ กรอบมัน มีฝาดเปรี้ยวแซมนิดๆ อร่อยมากเมื่อกินคู่กับลาบเนื้อ ลาบไก่ ยำ พล่า ที่เผ็ด โดยเฉพาะลาบขมช่วยเพิ่มรสชาติ และบรรยากาศการกินขึ้นได้มากทีเดียว

เห็นว่าทางภาคกลางมีพืชชนิดเดียวกัน ลักษณะและคุณสมบัติด้านกลิ่น รสชาติ คล้ายกัน หรืออาจเป็นพืชชนิดเดียวกัน คือ “สันพร้าหอม” มีความแตกต่างกันที่ ขอบใบมีหยัก เป็นหนามแหลมเล็ก ใบมีขนละเอียดขึ้นบ้าง ผู้รู้หลายคนยืนยันว่าเป็นพืชชนิดเดียวกัน เพียงแต่ขึ้นในสภาพภูมิอากาศและดินที่ต่างกัน การเจริญเติบโตต่างกัน เอาเป็นว่าเป็นอีกชื่อหนึ่งของ เกี๋ยงพาไย ที่ภาคกลางเรียก สันพร้าหอม และยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายอย่าง ภาคตะวันตกเรียก พญาเสือหมอบ ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน เรียก พอกี่ ชาวเงี้ยว เรียก ซะเป มอกพา หญ้าลั้งพั้ง จีนกลาง เรียก หนานเฉ่า เพ่ยหวาน เป็นต้น ให้ผู้อ่านดูรูปประกอบแล้วตรวจสอบดูอีกทีว่า พื้นที่ที่ท่านอยู่เขาเรียกว่าอะไร? กระซิบบอกให้รู้ด้วยนะ

ทางการแพทย์แผนไทย มีการนำพืชชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นส่วนผสมของยาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่รู้กันสำหรับคนรุ่นเก่าๆ เช่น ยาแสงหมึก ที่เป็นยาที่ใช้ประโยชน์ ป้ายลิ้น ใช้ในการแก้ไข้พิษ ถอนพิษไข้ แก้ไข้ตัวร้อน บรรเทาพิษหัด พิษอีสุกอีใส เป็นส่วนผสมยาเขียวก็เช่นเดียวกัน เป็นยาแก้ไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ ขับเหงื่อ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ปรุงเป็นยาหอมบำรุงร่างกาย ชูกำลัง บำรุงหัวใจ ส่วนใบสดนอกจากกินเป็นผักแล้ว ยังใช้บดหรือขยี้คั้นน้ำ หรือต้มเอาน้ำชุบผ้าก๊อซ หรือสำลี ปิดห้ามเลือด สมานแผล หรือใช้น้ำคั้นใบสดหยอดหูรักษาหูเป็นน้ำหนวก หรือใช้ใบสดตำผสมกับเมล็ดส้มป่อย ผสมน้ำมันหมู ทาแก้ตุ่มคันต่างๆ ได้ แต่ก็มีข้อควรระวัง มีสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อม้าม และกระเพาะอาหาร

ทุกวันนี้ พืชป่าต่างๆ ที่ผู้คนนำมาปรับเปลี่ยนเป็นพืชบ้าน เพื่อง่ายต่อการใช้ประโยชน์ในการยังชีพ พืชบางอย่างถูกปรับโฉมเป็นพืชเศรษฐกิจ พืชการค้าไปก็มีหลายชนิด ก็ขออย่าได้ลืมว่า รากเหง้าที่เป็นความจริง เกิดมาจากป่า ไพร หมายถึงป่า ป่าให้อะไรที่มากมายแก่ชีวิตเรา แม้แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา แต่ดั้งเดิมเชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นของคนป่าอยู่มาก จึงไม่อยากให้เราหลงลืมชาติกำเนิดของเรา และไม่ควรทำลายชาติกำเนิดเรา ซ้ำยิ่งสมควรที่จะดำรงรักษาของดีๆ เหล่านี้ไว้ให้อยู่เป็นคู่ชีวิตเราตลอดไป รักษ์ป่า คือรักชีวิต