สัมผัสวิถีชนเผ่า วิถีกาแฟอินทรีย์ ณ บ้านปางขอน จังหวัดเชียงราย

“กาแฟ” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ก้อนโตให้แก่ชาวเชียงรายมานานกว่า 40 ปี ชาวบ้านเริ่มปลูกกาแฟตั้งแต่ ปี 2516 ภายใต้โครงการปลูกพืชทดแทน และพัฒนาเศรษฐกิจชาวไทยภูเขา ไทย/สหประชาชาติ ที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ทดแทนการปลูกฝิ่น ผสมผสานกับไร่ชาอัสสัม ที่ให้ผลผลิตที่ดีและสร้างรายได้ที่มั่นคง ทำให้ปริมาณการผลิตฝิ่นลดลงไปมาก

ชาวปางขอนในวิถีชีวิตชนเผ่า

ต่อมามีการทดลองปลูกชา กาแฟ ไม้ผลเมืองหนาวอีกหลายชนิด ณ พื้นที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดอยตุง สถานีทดลองเกษตรที่สูงจังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นมีการแจกจ่ายพันธุ์พืชคุณภาพดีสู่เกษตรกรและชาวไทยภูเขา ทำให้ผลผลิตชาและกาแฟคุณภาพดี กลายเป็นเศรษฐกิจหลักของจังหวัดเชียงรายจนถึงทุกวันนี้

กาแฟ สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีในพื้นที่สูง เพราะมีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี ทุกวันนี้ จังหวัดเชียงรายมีแหล่งกาแฟ จำนวน 35 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 10 ตำบล 7 อำเภอ โดยมีพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้ามาเป็น อันดับ 1 ของประเทศไทย พื้นที่ปลูกรวมทั้งสิ้น 42,566 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย ไร่ละ 215 กิโลกรัม เมื่อปี 2557 ให้ผลผลิตสูง 9,328 ตัน มีเกษตรกรปลูกและผู้แปรรูปกาแฟรวม 4,277 ราย โดยมีพื้นที่ปลูกกาแฟมากที่สุดที่อำเภอแม่สรวย 27,034 ไร่ จำนวนเกษตรกร 1,210 ราย และเป็นที่ตั้งของดอยช้าง แหล่งปลูกกาแฟเลื่องชื่อระดับโลก

“มฟล.” ส่งเสริมท่องเที่ยว วิถีชา-กาแฟ

หมู่บ้านปางขอน ตำบลห้วยชมพู

ปัจจุบัน ร้านกาแฟเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ตลาดร้านกาแฟในประเทศไทยโดยมีมูลค่าสูงถึง 21,220 ล้านบาท ในปี 2560 ท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจ ชา กาแฟ ที่สร้างเงินสะพัดไปทั่วประเทศ แต่ชุมชนผู้ปลูกกาแฟกลับไม่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร เนื่องจากถูกนายทุนภายนอกมารับซื้อผลผลิตชา กาแฟ ในราคาต่ำ

เนื่องจากกระแสการบริโภคกาแฟในประเทศไทยเริ่มเห็นเด่นชัดใน 10 ปี ที่ผ่านมา คนไทยเริ่มหันมาดื่มกาแฟสดในชีวิตประจำวัน เรียนรู้และลิ้มรสกาแฟที่แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์และระดับการคั่ว ซึ่งในการพัฒนารูปแบบการดื่มกาแฟที่ผ่านมา เริ่มมีจำนวนผู้สนใจในการดื่มกาแฟอย่างลึกซึ้งจำนวนมาก ไม่เพียงแค่ดื่มกาแฟสดจากร้านกาแฟเท่านั้น นักดื่มกาแฟยังเริ่มมีการเสาะหาแหล่งปลูกคุณภาพดี สนใจเรียนรู้กรรมวิธีการผลิตกาแฟ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการดื่มกาแฟมากขึ้น

นักท่องเที่ยวต่างชาติเยี่ยมชมไร่กาแฟ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุษบา สิทธิการ และคณาจารย์สาขาการจัดการการท่องเที่ยว สำนักวิชาการจัดการ  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และมองว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับพื้นที่ชาติพันธุ์ที่มีอาชีพปลูกชา กาแฟ สำหรับการเพิ่มมูลค่าชา กาแฟ โดยการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเส้นทางชา กาแฟ เพื่อรองรับกระแสนิยมในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวเส้นทางชา กาแฟ นั้น มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ยากที่จะหาจุดต่างทางผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต จึงจำเป็นต้องการพัฒนาให้คุณค่ากับการสร้างความแตกต่างที่เกิดจากความรู้สึกและอารมณ์หรือที่เรียกว่า “ประสบการณ์” มากขึ้น จึงมีความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมชาวบ้านในชุมชน ด้านการบริหารจัดการและพัฒนาการท่องเที่ยวเส้นทางกาแฟ โดยเน้นเป็นรูปแบบเชิงประสบการณ์ที่แตกต่างเสริมไปด้วย เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน และมีความได้เปรียบทางการแข่งขันต่อไป

โฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว

ทีมผู้วิจัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มจังหวัดอารยธรรมล้านนาสู่การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนผ่านกระบวนการปฏิบัติ เพื่อสร้างคุณค่าของทรัพยากรท่องเที่ยวจากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น และรองรับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและความเป็นวิถีท้องถิ่นให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของวิถีชาติพันธุ์ของชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดอบรมความรู้ชาวบ้านเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนอย่างครบวงจร โดยวิทยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาอบรมความรู้เกี่ยวกับหลักการการพัฒนาแบรนด์สินค้า โอกาสและอุปสรรคการพัฒนาแบรนด์สินค้า ชา กาแฟ ในจังหวัดเชียงราย การพัฒนาสินค้าประเภทชา กาแฟ บนฐานอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น การผลิตสินค้าประเภทชา กาแฟ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจชา กาแฟ ในจังหวัดเชียงราย แผนการตลาดสินค้า ชา กาแฟ ฯลฯ

ผู้นำชุมชนหมู่บ้านปางขอน

 

ผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากแหล่งท่องเที่ยววิถีชา กาแฟ จากทั่วจังหวัดเชียงราย เช่น หมู่บ้านดอยช้าง หมู่บ้านผาตั้ง หมู่บ้านปางขอน หมู่บ้านแม่จันใต้ หมู่บ้านห้วยน้ำกืน หมู่บ้านร่มฟ้าไทย หมู่บ้านฝางต้นผึ้ง ฯลฯ ทีมนักวิชาการมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงคาดหวังว่า ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมจะได้พัฒนาความรู้และเปิดโลกทรรศน์เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าประเภทชา กาแฟ บนฐานอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้รับพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการตลาดสำหรับสินค้าประเภทชา กาแฟ ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในการผลิตสินค้าประเภทชา กาแฟ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ชา กาแฟ ในจังหวัดเชียงรายต่อไป

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงรายในหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการอบรมการท่องเที่ยววิถีชา กาแฟ แก่ชุมชนชาติพันธุ์ หรือการอบรมเพื่อการส่งเสริมการสร้างแบรนด์แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งทั้งจากการสังเกตการณ์และสอบถามความต้องการของชุมชน พบว่า ต้องการได้รับคำแนะนำหรือการอบรมการใช้ภาษาอังกฤษระดับพื้นฐานในการสื่อสาร

กาแฟรสอร่อยของหมู่บ้านปางขอน

เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนเข้าใช้บริการที่พักร้านอาหารเครื่องดื่มที่ดำเนินการโดยชุมชน แต่ด้วยขาดทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนและการพัฒนาให้แหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างยั่งยืน รวมถึงทำให้เสียโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นหัวใจสำคัญของชุมชน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงโดยศูนย์บริการวิชาการร่วมกับสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ได้จัดอบรมภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับชุมชนในแหล่งท่องเที่ยววิถีชาและกาแฟ เป็นหลักสูตรเข้มข้น 30 ชั่วโมง

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงคาดหวังว่า การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างเป็นระบบ จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างยั่งยืนและสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงาน กระจายรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันจะเกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวให้คงอยู่ตลอดไป ส่วนด้านสังคม จะสร้างความเข้าใจระหว่างนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นจากการแลกเปลี่ยนความคิด ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามต่อกัน และช่วยกระตุ้นการนำประเพณีวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นมาเผยแพร่ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจหวงแหนในมรดกและศิลปวัฒนธรรมของตนอีกด้วย

วิถีกาแฟ @ บ้านปางขอน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุษบา สิทธิการ

หมู่บ้านปางขอน ตำบลห้วยชมพู อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็น 1 ใน 12 หมู่บ้าน ท่องเที่ยววิถีกาแฟแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรบนที่สูง ของ “โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านปางขอน” อีกด้วย

ทีมนักวิชาการมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ลงพื้นที่ร่วมทำงานกับชาวบ้านเพื่อบริหารจัดการท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์สำคัญ คือ “เสน่ห์ความงามของดอกซากุระ (ดอกพญาเสือโคร่ง) ผสมผสานกับกาแฟอินทรีย์ ในวิถีชีวิตชนเผ่า” เป็นจุดขายสำคัญ สามารถดึงดูดคนไทยและต่างชาติแวะเวียนเข้ามาใช้บริการท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้ตลอดทั้งปี

นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนต่างประทับใจกับการชมวิวธรรมชาติ 360 องศา สูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอด ได้ตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศทะเลหมอกบ้านปางขอน ที่งดงามไม่เหมือนที่ใด ทั้งอิ่มอกอิ่มใจกับรสชาติอาหารพื้นบ้าน เช่น หมูห่อใบกาแฟ เป็นอาหารประจำชนเผ่าเมี่ยน ใบกาแฟที่ใช้ในอาหาร ต้องเป็นใบกาแฟที่ไม่อ่อนมากและไม่แก่มาก เมื่อนำมาปรุงรสชาติในเมนูหมูห่อใบกาแฟ จะได้รสชาติอร่อยและดีต่อสุขภาพอีกต่างหาก

ดอกซากุระ (ดอกพญาเสือโคร่ง) ณ บ้านปางขอน

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่และอาชีพของชาวชนเผ่า ทั้งเรื่องการปลูกชา กาแฟ การปลูกผักไว้กินเองและผลไม้เมืองหนาวนานาชนิด ชมซากุระสวย ณ ดอยปางขอน พร้อมชิมปางขอนกาแฟ อร่อยได้ในหมู่บ้าน

ในช่วงปลายปี-เทศกาลปีใหม่ หากใครกำลังมองหาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เงียบสงบ บรรยากาศเย็นสบาย สายหมอกโปรยปราย ปางขอนตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างเต็มที่ สนใจติดต่อจองบ้านพัก ติดต่อกลุ่มท่องเที่ยวปางขอน โทร. 084-487-5808 (คุณศร) 098-760-9732 (คุณหมี่) 082-191-4473 (คุณอาต๊ะ) 092-658-7090 (คุณเกศ)  หรือติดตามข่าวสารท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้ได้ทางเฟซบุ๊ก “ท่องเที่ยวปางขอน : Pang Khon Village Tourism” ได้ตลอด