ที่มา | ผลิตภัณฑ์น่าซื้อ |
---|---|
ผู้เขียน | อภิวัฒน์ คำสิงห์ |
เผยแพร่ |
จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตข้าวมาอย่างยาวนาน เมื่อข้าวสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วยการนำมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต จำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น นับว่าเป็นนวัตกรรมการผลิตที่หลายคนหันมามองและให้ความสนใจกันเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันมีการนำข้าวมาแปรรสภาพสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์จากข้าวอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะการนำมาแปรรูปทำเป็นข้าวกล้องงอก ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ข้าวกล้องนั้นประกอบด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าจำนวนมาก เช่น ใยอาหาร กรดไฟติก วิตามินซี วิตามินอี และสารกาบา ซึ่งช่วยป้องกันโรคต่างๆ
การผลิตข้าวกล้องงอกมีการนำมาวิจัยหาคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีจนประสบความสำเร็จ เห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของผลผลิตที่ออกมา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงเริ่มส่งเสริมกระจายไปยังอุตสาหกรรมในชุมชนที่มีวัตถุดิบในท้องถิ่น ป้อนทั้งความรู้และเครื่องมือในการแปรรูป โดยให้คนในชุมชนร่วมกันคิดร่วมกันพัฒนาสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรมที่ทำอยู่ประจำ ซึ่งเป็นการเพิ่มอาชีพและช่องทางการกระจายสินค้าที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นไปยังผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง
ชุมชนบ้านสองคอน ตำบลพระซอง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เป็นอีกหนึ่งชุมชนในจังหวัดนครพนมที่สำนักงานเกษตรอำเภอนาแกได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการผลิตจึงได้เข้าไปส่งเสริมการผลิตข้าวกล้องงอกในปี 2552 โดยการสนับสนุนงบประมาณและความรู้ในกระบวนการผลิต
คุณบัวไข เขตนคร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องงอกบ้านสองคอน เล่าให้ฟังว่า ข้าวกล้องงอก เป็นแนวคิดที่สำนักงานเกษตรอำเภอนาแกเข้ามาส่งเสริมให้กับคนในชุมชน เพื่อต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวซึ่งเป็นผลผลิตที่หาได้ในชุมชน
บ้านสองคอน เป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ละปีมีผลผลิตที่เป็นข้าวเปลือกออกมาปริมาณมากนับว่าเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่มีศักยภาพในการผลิตข้าวกล้องงอกที่สำคัญแหล่งหนึ่งในภาคอีสาน และด้วยความพร้อมที่มีทำให้คนในชุมชนหันมาให้ความสนใจรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องงอกบ้านสองคอนขึ้น
โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอนาแกเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนเงินทุนให้กับสมาชิกได้นำมาศึกษาเรียนรู้กระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน ลองผิดลองถูก นำความรู้สมัยใหม่มาประยุกต์ผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นที่บ้านที่ติดตัวมาจนกระทั่งได้ผลผลิตชุดแรกออกมาบริโภคในกลุ่ม
“ข้าวกล้องที่ได้มาชุดแรก เรานำมาบริโภคกันเองในกลุ่ม โดยแบ่งให้กับสมาชิกที่ร่วมกันทำนำไปบริโภคกันในครัวเรือน และจากการที่ได้รับประทานของสมาชิกท่านหนึ่งบอกว่าทานแล้วรู้สึกระบบขับถ่ายดีขึ้น อาการปวดเมื่อขา เมื่อยตัวเริ่มหาย การบอกต่อปากต่อปากในชุมชน ทำให้คนในชุมชนสนใจ กลุ่มจึงเริ่มผลิตและจำหน่ายในชุมชนก่อนเป็นที่แรก”
คุณบัวไข นำข้าวหอมมะลิ 105 นาปี ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกในท้องถิ่นมีหอมซึ่งความแตกต่าง ที่สร้างจุดเด่นมาทำการแปรรูปเป็นข้าวกล้องงอก โดยมีวิธีการทำเหมือนกับการทำข้าวกล้องงอกทั่วไป
“ข้าวกล้องงอกจะมีวิธีทำที่เหมือนกันแต่จุดเด่นที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคพึงพอใจนั้นขึ้นอยู่กับขั้นตอนและกระบวนการผลิต ซึ่งกลุ่มเราเองได้ยึดเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้คนผสมผสานกับเครื่องจักรเพื่อให้ผลผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีคุณภาพมากที่สุด”
คุณบัวไข คัดเลือกข้าวที่มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน มาทำการแปรรูปเนื่องจากเป็นช่วงที่ข้าวมีความเหมาะสมที่สุด โดยขั้นตอนและวิธีการมีดังนี้
หนึ่ง คัดเลือกข้าวที่มีความพร้อม นำไปตากแดดจนแห้ง จากนั้นนำไปแช่น้ำเปล่าสะอาดปล่อยทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง โดยทุกๆ ชั่วโมงจะทำการเปลี่ยนน้ำในภาชนะที่แช่ข้าวไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวมีกลิ่น
สอง นำข้าวที่ผ่านการแช่ใส่ลงในกระสอบปุ๋ยสีขาว หมักทิ้งไว้อีก 24 ชั่วโมง ฉีดน้ำเพื่อป้องกันการเกิดกลิ่นทุกๆ ชั่วโมงจนข้าวจะงอกออกมา
สาม นำข้าวที่หมักและงอกไปนึ่งด้วยไอน้ำประมาณ 1 ชั่วโมง พลิกกลับทุกๆ 20 นาที โดยแต่ละครั้งจะจำกัดปริมาณการนึ่งอยู่ที่ 5 กิโลกรัม เพื่อให้ไอ้น้ำกระจายได้ทั่วถึง
สี่ หลังจากกระบวนการนึ่งเสร็จสมบูรณ์ นำข้าวไปตากแดดอีกครั้งจนแห้งสนิท ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน พอข้าวแห้งจะนำไปสี่กระเทาะเปลือกออก และนำข้าวที่ได้มาผ่านกระบวนการคัดส่วนที่งอกออก โดยใช้มือก่อนนำไปตำหรือบดให้ละเอียดก่อนน้ำกลับไปผสมกับข้าวอีกครั้งหนึ่ง
“ข้าวที่สามารถนำมาทำเป็นข้าวกล้องงอกนั้นมีหลายชนิด แต่สำหรับกลุ่มเลือกข้าวมันปู ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวเหนียวลืมผัว ซึ่งข้าวทั้ง 4 ชนิด มีสารอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ยิ่งนำมาทำเป็นข้าวกล้องงอกก็ยิ่งทำให้เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ทำให้กลุ่มคนรักสุขภาพที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเปิดรับได้ง่ายและรวดเร็ว”
คุณบัวไข เล่าต่อว่า ข้าวทั้งหมดที่นำมาทำข้าวกล้องงอกนั้นจะมาจากแหล่งผลิตในชุมชนเนื่องจากเป็นข้าวที่ไร้สารพิษตกค้าง โดยทุกๆ เดือนจะนำข้าวเปลือกที่ได้ไปแปรรูปเป็นข้าวกล้องงอกประมาณ 700-800 กิโลกรัม
“ข้าวกล้องงอกที่ผลิตจากกลุ่มฯ สามารถหุงโดยไม่ต้องผสมกับข้าวสารอื่นๆแต่บางคนไม่ชอบก็สามารถนำไปผสมกับข้าวสารที่บริโภคอยู่ประจำทุกวัน โดยอัตรส่วนการผสมขึ้นอยู่กับผู้บริโภคหรือจะหุงโดยไม่ผสมก็สามารถทำได้”
การตอบรับของคนในชุมชนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคุณภาพและราคาจำหน่าย 70- 120 บาท รูปแบบการบรรจุ (สุญญากาศ) ที่สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี ทำให้สินค้าเริ่มกระจายออกไปยังต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องงอกบ้านสองคอนวันนี้ มีสมาชิกที่มีความถนัดและความชำนาญในการผลิตข้าวกล้องงอกจำนวน 40 คน ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกว่ากลุ่มสามารถยืนอยู่ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชนที่ต่างให้ความสำคัญในการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบที่มีในชุมชน จนเป็นที่ยอมรับ โดยสังเกตุได้จากปริมาณความต้องการที่เพิ่มมากขี้นทุกๆ ปี
ท่านใดที่ให้ความสนใจ สามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ คุณบัวไข เขตนคร บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 10 บ้านสองคอน ตำบลพระซอง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม