หนุ่มใหญ่ชัยนาท ใช้ประโยชน์จากพืชทองคำบนคันนา ปลูกอ้อยสุพรรณบุรี 50 คั้นน้ำขาย สร้างรายได้เสริมดีเยี่ยม

“อ้อยคั้นน้ำ” หรือ “น้ำอ้อยสด” ที่บรรจุในขวดแช่เย็นไว้ดื่มยามอากาศร้อน ยามร่างกายเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหรือการเดินทาง น้ำตาลจากน้ำอ้อยสดๆ สามารถทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นได้ทันทีที่ดื่ม  

“อ้อย” เป็นพืชทนแล้งที่ใช้น้ำน้อย บางพันธุ์นำผลผลิตส่งโรงงานแปรรูปเป็นน้ำตาล บางพันธุ์เหมาะจะนำมาบริโภคสด ด้วยการหีบเป็นน้ำอ้อยสดพร้อมดื่ม การปลูกอ้อยมีทั้งปลูกแบบสวนหลังบ้านและปลูกในเชิงการค้า อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยยกระดับรายได้สู่ความมั่นคง

“อ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50” มีลักษณะลำต้นสีเขียวอมเหลือง ลำปล้องทรงกระบอก หัวท้ายเสมอค่อนข้างยาวถึงยาวมาก ไม่มีร่องหรือรอยบุ๋มบริเวณตาหรือข้อ อายุเก็บเกี่ยว 8-10 เดือน หลังปลูก ซึ่งถือว่าเป็นระยะให้น้ำ คุณภาพและปริมาณมากที่สุด สามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศและปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศตามท้องถิ่นได้ดี เจริญเติบโตเร็ว อัตราการแตกกอดี แตกได้มาก 12,000-12,500 ลำ ต่อไร่ มีความต้านทานโรคแส้ดำ โรคราใบขาว โรคลำต้นหรือไส้เน่าแดงและหนอนกออ้อยได้ดี

คุณศิวาพัชร์ มั่นคงจรัลศรี อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ที่ 10 ตำบลเที่ยงแท้ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ปัจจุบัน ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมะม่วง ปลูกมะละกอ ปลูกพริก พืชอาหารของกินปลูกหมดเลย ไม่ซื้อใครกินเลย ซื้อแต่หมู ปลูกบนพื้นที่ของแม่ พื้นที่ที่บ้าน 2 ไร่ครึ่ง ที่นาอีก 9 ไร่ 3 งาน

“ตอนนี้ปลูกอ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 อยู่ 80 กอ…กำลังจะปลูกเพิ่มอีก 400 กอ เริ่มทำอ้อยคั้นน้ำมาปี กว่าแล้ว โดยขายครั้งแรก วันที่ 5 ธันวาคม 2561… เราปลูกบนคันนา มีหลายพืช อย่าง มะม่วง มะพร้าว มะละกอ รวมทั้งอ้อยคั้นน้ำ พืชเหล่านี้มีคุณค่าดังทองคำ” คุณศิวาพัชร์ กล่าว

คุณศิวาพัชร์ มั่นคงจรัลศรี

จุดเริ่มต้นในการปลูกอ้อยคั้นน้ำ

คุณศิวาพัชร์ เล่าว่า “ไปอบรม 1 ไร่ 1 แสน ที่พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ที่ธัญบุรี ไปเห็นอ้อยเขาลำขนาด 4 โล ก็รู้สึกสนใจ เพราะเราทำอยู่แล้ว พื้นที่เราเตรียมไว้อยู่แล้ว ก็เลยซื้อเขามา 20 ตา ตาละ 10 บาท 20 ตา เป็นเงิน 200 บาท ก็เอามาปลูกเพื่อขยายพันธุ์เอง และพอได้เข้าไปอบรม 1 ไร่ 1 แสน ก็จะมีเครือข่าย มีเพื่อน ก็จะได้ไปดูของแปลงต่างๆ ก็ไปเรียนรู้ การดูแล การบำรุง การคั้น การขาย ต้นพันธุ์ ก็เอามาจากที่ในกลุ่ม 1 ไร่ 1 แสน”

วิธีการปลูกอ้อยคั้นน้ำ

คุณศิวาพัชร์ เผย “ได้ข้ออ้อย ตาอ้อยมา เราก็นำมาแช่น้ำ 1 คืน แล้วก็มาใส่กระสอบไว้ แล้วมันก็จะเกิดรากขาวๆ แล้วเราก็นำไปใส่ถุงดำ ภายในถุงดำก็จะมีดินปลูก ดินปลูกก็นำมาจากข้างๆ บ้าน เพราะดินเราสมบูรณ์อยู่แล้ว ถ้าไม่มีก็เอาขุยมะพร้าวผสมแกลบดำ หมกไว้ 2 อาทิตย์ หรือ 15 วัน ช่วงระหว่าง 15 วัน เราก็ไปขุดหลุมรอ หลุมกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร จากนั้นเราก็จะมีสูตรของ 1 ไร่ 1 แสน ต้องอบรมถึงจะได้มา มีสรรพสิ่งก้อน สรรพสิ่งแห้ง และสรรพสิ่งน้ำ จำหน่ายให้เฉพาะคนที่ผ่านการฝึกอบรม ราคาชุดละ 1,300 บาท โดยนำสรรพสิ่งก้อนวาง เอาสรรพสิ่งแห้งพวกหญ้าแห้ง ใบไม้แห้งอะไรที่เรามีวาง สรรพสิ่งน้ำราด จากนั้นก็นำอ้อยที่เราทำการเพาะไว้ในถุงวาง เอาเศษหญ้าเศษใบไม้กลบ แต่เราจะมีสิ่งที่พิเศษกว่าคนอื่นคือ เราจะมีผักบุ้งอยู่ในร่อง เราก็เอาผักบุ้งพูนโคน ถ้าขี้เกียจรดน้ำก็เอากระป๋องตักขี้โคลนในร่องหุ้มผักบุ้งอีกทีหนึ่ง 1 เดือน เราก็ไม่ต้องรดน้ำ หลังจากใส่สรรพสิ่ง ก็ทำการรดน้ำ ดูแลดีๆ ให้สรรพสิ่งน้ำอาทิตย์ละครั้ง หรือ 2 อาทิตย์ครั้ง ในส่วนของปุ๋ยไม่มีการใช้ปุ๋ยอะไรเลย ทั้งชีวภาพและเคมี ปลูกหลุมละตา ห่างหลุมละ 2 เมตร คูณ 2 เมตร ตอนแรกปลูกแค่ 1 เมตร 20 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร 50 เซนติเมตร ผลคือ ถี่ไป แล้วเวลาเราตัดอ้อย เวลาเราล้มอ้อย มันขวาง ทำงานไม่สะดวก เราก็ไปดูของเพื่อนที่เขาอบรม 1 ไร่ 1 แสน เป็นเวลา 5 เดือน ของเราอบรมแค่ 2 คืน 3 วัน คนที่เขาเซียนเขาก็จะไปอบรมต่ออีก 5 เดือน เราไม่ได้ไป เนื่องจากมีภาระที่บ้านจะต้องดูแล ก็เห็นเขาปลูก 2 คูณ 2 เมตร ในส่วนของผลผลิตที่ออกมาก็ค่อนข้างโอเคครับ ได้ในระดับหนึ่ง ไม่ถึงกับสวยเลย แต่ก็ไม่ถึงกับขี้เหร่ ก็กลางๆ ห้าสิบห้าสิบเพราะเราได้ลำหนึ่งสองกิโลกรัม บางลำก็มี 3 กิโลกรัม แต่ไม่ถึง 4 กิโลกรัม”

สรรพสิ่ง คือ จุลินทรีย์ สามารถเลี้ยงได้เอง

ขนาดที่ตัดได้

ศัตรู และโรคพืชที่พบเจอ

“มีหนอนคล้ายๆ หนอนเจาะกล้วย หนอนข้าวโพดเข้าไปเจาะ ต้องขยันลอกกาบ ถ้าไม่ลอกกาบหนอนก็จะเจาะ โดยวิธีการจัดการก็ลอกกาบพอแสงมันเข้าไปหนอนมันก็ร้อน มันทนแดดไม่ได้” คุณศิวาพัชร์ กล่าว

ข้อแนะนำการดูแลแปลงอ้อย

คุณศิวาพัชร์ แนะนำว่า “อ้อยเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ขาดน้ำไม่ได้ ขาดน้ำแล้วข้อจะถี่ แค่รักษาความชื้นดูดินให้มีความชื้นสม่ำเสมอ ดูแสงแดดที่ได้รับ คืออย่าให้ดินแห้งแตก”

การให้ผลผลิตและการเก็บเกี่ยวผลผลิต

คุณศิวาพัชร์ เผย “ถ้าดูแลดีสม่ำเสมอ ระหว่าง 6-8 เดือน สามารถนำมาคั้นน้ำ…ถ้าตามสูตรของอาจารย์ จะได้ปริมาณน้ำอ้อยมาก โดยของอาจารย์ อ้อย 1 กิโลกรัม ได้น้ำครึ่งลิตร ส่วนอ้อยของเรา 1 กิโลกรัม ได้ 300-400 ซีซี  1 ต้น ของอาจารย์ ให้น้ำอ้อย 2 ลิตร แต่อ้อย 1 ต้น ของเราได้น้ำแค่ครึ่งลิตร ในส่วนของการเก็บเกี่ยวผลผลิต ดูสี ดูความยาวจากลำอ้อย สังเกตความยาวจากข้ออ้อย ประมาณสัก 20 ข้อ สีลำต้นออกเหลือง ก็สามารถหีบได้ ความหวานยังไม่เคยลองวัดเปอร์เซ็นต์บริกซ์ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือวัด แต่อ้อยสุพรรณบุรี 50 เป็นอ้อยคั้นน้ำโดยเฉพาะรสชาติหวานนัว”

ในส่วนของการตลาด “ธ.ก.ส. เปิดตลาดขายทุกวันพุธ ขายอาทิตย์ละครั้ง ขายได้ต่ำสุด 400-500 บาท สูงสุดที่ 1,200 บาท” 

ต้นอ้อยสุพรรณบุรี 50

ประโยชน์ของน้ำอ้อย

“น้ำอ้อย มีแคลเซียม บำรุงกระดูก แก้ท้องผูก คนเป็นเบาหวานสามารถดื่มได้ เนื่องจากอ้อยสุพรรณบุรี 50 เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ไม่เข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายเขาสามารถเผาผลาญได้เลย” คุณศิวาพัชร์ กล่าว

คุณศิวาพัชร์ บอกว่า “เครื่องหีบซื้อจากร้านที่นครสวรรค์ ที่ตลาดไทก็มีขาย อ้อยคั้นน้ำของเราขายที่ตลาดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่างเดียว ผู้สนใจที่อยู่ภายในจังหวัดชัยนาท สามารถสั่งซื้อเราผ่านการจัดส่งได้ ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดเรายังไม่มีการจัดส่ง เนื่องจากยังไม่มีวิธีการเก็บรักษาในช่วงระหว่างขนส่งที่แน่นอน”

สนใจพันธุ์อ้อย หรือซื้อน้ำอ้อยหวานเย็นชื่นใจ ติดต่อผ่านเบอร์โทร. 086-511-5965 และ 095-912-9832 คุณศิวาพัชร์ มั่นคงจรัลศรี หรือ FB:เสบียง มั่นคงจรัลศรี

 

วิธีการคั้นน้ำอ้อย

  1. ตัดอ้อย
  2. นำลำอ้อยไปล้างน้ำเปล่าให้สะอาด
  3. นำไปผึ่งลมให้แห้ง (ผึ่งให้แห้ง เนื่องจากถ้าน้ำที่ล้างเข้าไปผสมในน้ำอ้อยที่ผ่านการคั้น จะส่งผลให้น้ำอ้อยเสียรสชาติและบูดเร็ว)
  4. จากนั้นนำมาปอก
  5. เก็บใส่ถังจำนวนเท่าที่เราต้องการ
  6. ใส่ในเครื่องหีบ
  7. ใส่เหยือก
  8. กรอกใส่ขวด
  9. แช่ในตู้แช่เย็น (หากไม่แช่เย็น ไม่เกินครึ่งชั่วโมงสีจะเปลี่ยนทันที จากสีเหลืองอมเขียวจะออกเป็นสีดำ รสชาติก็จะเปลี่ยน กลิ่นก็จะเปลี่ยนไปด้วย)
ปอกเปลือกอ้อย
เครื่องหีบน้ำอ้อย
ใส่อ้อยเข้าไปในเครื่องหีบ
น้ำอ้อยออกจากเครื่องหีบ
น้ำอ้อยที่ได้หลังจากการหีบ
กรองน้ำอ้อยใส่ขวด
น้ำอ้อยบรรจุในขวด
สรรพสิ่งก้อน
สรรพสิ่งน้ำ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2562