ปางค่าใต้ แหล่งท่องเที่ยวเกษตรและชนเผ่าเมี่ยน

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้มอบหมายให้คุณพุทธิพัทธ์ พลอยส่งศรี นักวิชาการเกษตร นำสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานเตรียมความพร้อมเพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านปางค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ในพื้นที่พบสิ่งที่น่าสนใจด้านการเกษตร นั่นคือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า 

การแสดงของชนเผ่าเมี่ยน ต้อนรับนักท่องเที่ยว

คุณนิวัฒน์ ทุ่งเย็น หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ให้รายละเอียดว่า ศูนย์เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2530 โดยรับความร่วมมือจากกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการปรับพื้นที่ จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ จัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวไทยภูเขาในพื้นที่ พัฒนาส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร รวมทั้งพัฒนาปัจจัยพื้นฐานและสาธารณูปโภคในชุมชนให้มีมาตรฐาน ลดการทำลายป่าต้นน้ำ เพราะพื้นที่ป่าไม้ในเขตนี้เป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำยม ลักษณะพื้นที่เป็นเนินเขาสลับภูเขาสูง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเล 400-1,200 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส ประชากรเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยนหรือเย้าและชนเผ่าม้ง รวม 7 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,950 คน

คุณนิวัฒน์ ทุ่งเย็น หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า

หน้าที่หลักของศูนย์ฯ ปังค่า มุ่งพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ส่งเสริมการปลูกพืชผัก ไม้ผล ภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ระบบการปลูกพืชที่ดี สร้างรายได้ที่มั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก รณรงค์ลดการใช้สารเคมีและเฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน โครงการหมู่บ้านสะอาด หมู่บ้านปลอดยาเสพติด การอบรมยุวเกษตรกร ส่งเสริมการอนุรักษ์งานหัตถกรรมชนเผ่า ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนการเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับเกษตรกร นักศึกษา เยาวชน และบุคคลทั่วไป

คุณสิรินทร์ รัตนจันทร์ หัวหน้ามัคคุเทศก์

การเรียนรู้ด้านการเกษตรที่ศูนย์ฯ ปังค่า ทำหน้าที่ส่งเสริมและสาธิตการปลูกพืชผักในเรือนโรง พืชที่ส่งเสริมการปลูกตลอดทั้งปี เช่น พริกหวาน มะเขือเทศโครงการหลวง คะน้าฮ่องกง เบบี้ฮ่องเต้ มะเขือม่วง เสาวรส ส่งเสริมพืชที่ปลูกตามฤดูกาล เช่น ฟักทองยักษ์ ช่วงระยะเวลาที่ปลูกเดือนกรกฎาคม-มกราคม อะโวกาโด ช่วงปลูกประมาณเดือนมิถุนายน-กุมภาพันธ์ มะม่วงนวลคำ ช่วงเวลาเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม เคพกูสเบอรี่ ช่วงเดือนพฤศจิกายน เมล่อนญี่ปุ่น ช่วงเดือนมีนาคม-ธันวาคม องุ่น ช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม

เครื่องแต่งกายชาวเมี่ยน

ผลผลิตหลักของเกษตรกรที่ได้เข้าไปส่งเสริมและออกสู่ตลาดโดยมีตลาดโครงการหลวงรองรับซื้อผลผลิตตลอดทั้งปี คือ พริกหวานสองสี กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี คะน้าฮ่องเต้ เบบี้ฮ่องเต้ มะเขือเทศโครงการหลวง มะเขือเทศเชอรี่ มะเขือม่วง มะม่วงนวลคำ มะม่วงปาล์มเมอร์ พลับ อะโวกาโด เสาวรส เมล่อนญี่ปุ่น เคพกูสเบอรี่ และกาแฟ

ด้านหน้าเข้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลผลิตจะต้องปลอดสารเคมี โดยกำหนดระเบียบ ข้อปฏิบัติและการลงโทษที่รับทราบกันทั่วทุกคน ในด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไปนั้นคือ วิถีชนเผ่าเมี่ยนหรือเย้าที่บ้านปางค่าใต้ มีการเฉลิมฉลองปีใหม่ตรงกับวันตรุษจีน ชาวบ้านจะแต่งกายชุดประจำชนเผ่า สวมเครื่องประดับเงินที่งดงามมาร่วมชุมนุมกัน มีการนำออกแสดงพาสปอร์ตที่ยาวที่สุดในโลก สมัยราชวงศ์กวางสีมาจัดแสดงภายในอาคารวัฒนธรรมชุมชนบ้านปางค่าใต้

ต้นกล้าคะน้า พร้อมส่งให้เกษตรกร

นอกจากนี้ ยังได้ชมวิถีชีวิตชาวม้งที่บ้านสิบสองพัฒนา งานหัตถกรรมผ้าปักม้ง ประเพณีปีใหม่ของชนเผ่าม้งซึ่งจะตรงกับวันขึ้นปีใหม่ม้งในเดือนมกราคมของทุกปี แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในพื้นที่ยังมีอีกหลายแห่ง ได้แก่ เขตอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน ที่มีภูลังกา ภูนม ภูเทวดา ลานหินล้านปี เป็นภูเขาสูงชันอยู่ในเทือกเขาสันปันน้ำ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 900-1,720 เมตร นักท่องเที่ยวชื่นชอบที่จะขึ้นไปชมทะเลหมอก ดวงอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ทุ่งดอกโคลงเคลง ซึ่งเป็นดอกไม้ป่าสวยงาม

แปลงส่งเสริมการปลูกพริกหวานยักษ์

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่บ้านปางค่าใต้ คุณสิรินทร์ รัตนจันทร์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปางค่าใต้ และดำรงตำแหน่งประธานชมรมมัคคุเทศก์และบ้านพักโฮมสเตย์ เล่าว่า ถิ่นเดิมบ้านปางค่าใต้ อาศัยอยู่ในบริเวณภูลังกา แต่เมื่อเดือนธันวาคม 2510 ถูกผลกระทบจากการสู้รบโจมตี การทำสงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และกลุ่มแม้วที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียง ทางอำเภอจึงสั่งให้ชนเผ่าเมี่ยนที่อาศัยอยู่ที่ภูลังกา ย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บ้านปางค่าใต้ หมู่ที่ 1 และให้ชนเผ่าม้งอพยพมาอยู่ที่บ้านสิบสองพัฒนา หมู่ที่ 7 ทางราชการได้เข้ามาจัดระเบียบชุมชน บ้านปางค่าใต้ อยู่ในตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา

พาสปอร์ตที่ยาวที่สุดในโลก

โดยมี คุณเลาสาร ศรีสมบัติ เป็นกำนันคนแรก ประกอบด้วยชนเผ่าเมี่ยนหรือเย้า ยังคงดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่า เช่น การแต่งกาย อาหาร เครื่องใช้ชนเผ่า งานภูมิปัญญาผ้าปักทอมือ งานประเพณีปีใหม่เมี่ยน ปัจจุบัน มี คุณภูลังกา ศรีสมบัติ เป็นผู้ใหญ่บ้าน คุณพลเทพ เนติธรรมรัติ เป็นกำนันตำบลผาช้างน้อย คุณเกรียงศักดิ์ เกียรติช้างน้อย เป็นนายกเทศมนตรี

ภายในศูนย์เรียนรู้ปังค่า

ในด้านการท่องเที่ยวนั้น ได้มีการตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารกันเอง จัดการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อการบริหารบ้านพักโฮมสเตย์เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ที่ประชุมตกลงจัดสรรเงินรายได้ ร้อยละ 10 เข้าเป็นส่วนกลางของชุมชนเพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของชุมชน บ้านปางค่าใต้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้วันละ 20 คน ค่าที่พัก คนละ 300 บาท รวมอาหารเช้า หากมากันเป็นหมู่คณะจะต้องมีค่าใช้จ่ายการแสดงของชนเผ่า ครั้งละ 500-1,000 บาท ค่ากิจกรรมของกลุ่มแม่บ้าน ครั้งละ 500-1,000 บาท นอกจากนี้ จะเป็นค่าบริการของรถยนต์นำเที่ยวในชุมชน 800 บาท ต่อวัน บ้านพักโฮมสเตย์ ประกอบด้วยบ้าน คุณสิรินทร์ รัตนจันทร์ คุณวาสนา ประสานสกุลเหมาะ คุณเก้า กิจธนเดชา คุณประพันธ์ พานธงชัย คุณนิธิกานต์ ชมชื่น บ้านพักทั้งหมดกำลังผ่านการพิจารณาและการรับรองจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเร็วๆ นี้

อาคารต้อนรับนักท่องเที่ยว ศูนย์ฯ ปังค่า

นักท่องเที่ยวสนใจท่องเที่ยวโครงการหลวงปังค่าและท่องเที่ยวภายในตำบลผาช้างน้อย ติดต่อได้ที่ คุณสิรินทร์ รัตนจันทร์ โทร. 081-103-2007, 065-491-4229