สวทช. จับมือ สอว. ดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ยกระดับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจฯ ทั่วประทศ มุ่งหนุนเสริมขีดความสามารถการแข่งขันผู้ประกอบการไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ (12 พ.ย. 62) ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ร่วมกับ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) สองหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวผลความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพการจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจใน “โครงการยกระดับขีดความสามารถของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีด้วย Maturity Model” ที่ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จนครบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยการประเมินขีดความสามารถของหน่วยบ่มเพาะฯ ต่างๆ ทางโครงการฯ มอบหมายให้ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. เป็นผู้ดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากหน่วยบ่มเพาะฯ โดยดึงผู้เชี่ยวชาญระดับสูงระดับโลกสถาบัน CREEDA (ครีด้า) ประเมินและยกระดับขีดความสามารถหน่วยบ่มเพาะฯ ตามอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคต่างๆ ด้วยรูปแบบ Maturity Model ที่ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การส่งเสริมกิจกรรมด้านการบ่มเพาะฯ ซึ่งปีนี้ดำเนินการไป 8 แห่ง ได้แก่ ม.วลัยลักษณ์ ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม ม.แม่ฟ้าหลวง ม.แม่โจ้ ม.นเรศวร ม.มหาสารคาม และ ม.เทคโนโลยีสุรนารี

ระหว่างการลงพื้นที่ประเมินหน่วยบ่มเพาะต่าง ๆ ของทีมผู้เชี่ยวชาญ CEERDA

นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี นับมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในภาคเอกชน เกิดการสร้างธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ ส่งเสริมการนำงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเข้าสู่ระบบการคุ้มครองและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ ดังนั้น คณะทำงานเพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้นภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ซึ่งมี สวทช. เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ดำเนินการรวบรวมติดตามผลการดำเนินการของหน่วยบ่มเพาะฯ ภายใต้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยศึกษาแนวปฏิบัติและกรณีศึกษาของนานาประเทศในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบและกระบวนการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะฯ

“การยกระดับขีดความสามารถของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีด้วย Maturity Model เป็นการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะฯ อย่างเป็นระบบทั่วประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดำเนินการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งขั้นตอนและวิธีการยกระดับขีดความสามารถด้วย Maturity Model จากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมกิจกรรมด้านการบ่มเพาะธุรกิจให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เชี่ยวชาญระดับสูงระดับโลก ซึ่งมีประสบการณ์กว่า 30 ปี เป็นที่ปรึกษามามากกว่า 50 ประเทศ จะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยบ่มเพาะฯ ทุกแห่งในการยกระดับการบริหารจัดการในอนาคตอันใกล้ต่อไป”

ระหว่างการลงพื้นที่ประเมินหน่วยบ่มเพาะต่าง ๆ ของทีมผู้เชี่ยวชาญ CEERDA

ดร. ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้แทนสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กล่าวว่า สอว. มุ่งเน้นการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในภูมิภาคเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนทำวิจัยและพัฒนา นำทรัพยากรของรัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่และสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการฐานธุรกิจเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน อันเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยปัจจุบัน สอว. สนับสนุนการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 16 แห่ง ทั่วประเทศ ผ่าน 5 แผนงานหลัก ได้แก่ แผนงานพัฒนาบริการอุทยานวิทยาศาสตร์ แผนงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน แผนงานพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ แผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และแผนงานการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยการดำเนินงานในแผนงานบ่มเพาะธุรกิจฯ เป็นการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจแบบหนึ่งให้แก่ผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้ วทน. เป็นฐานอย่างเป็นระบบและครบวงจร มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ผู้ประกอบการใหม่ที่ผ่านกระบวนการสนับสนุนของอุทยานฯ จะได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและธุรกิจที่จำเป็นในระยะแรก รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีโอกาสรอดสูงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพมีศักยภาพในการแข่งขัน ตลอดจนมีการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรม ดังนั้น หลายประเทศจึงเลือกใช้อุทยานวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนและสร้างผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งช่วยลดอัตราความล้มเหลวในช่วงแรกของการจัดตั้งธุรกิจ รวมถึงบริษัทที่อยู่ระหว่างดำเนินธุรกิจที่ต้องการขยายตัวอย่างมีทิศทาง เป็นการสร้างงานและความมั่นคงให้แก่สังคมและประเทศชาติ

“ปัจจุบันกระทรวง อว. มีมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้งสิ้น 16 แห่ง ซึ่งทั้ง 16 แห่งมีการดำเนินหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีอยู่ด้วย และจากนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวง อว. ในอนาคตจะให้เพิ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเป็น 40 แห่ง จึงมีแนวโน้มว่าถ้าทั้ง 40 แห่งดำเนินการอุทยานวิทยาศาสตร์แล้ว จะมีการทำหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีไปด้วย เท่ากับจะเพิ่มมาอีก 24 แห่ง เพราะฉะนั้น Maturity Model ที่ได้ทำและเรียนรู้ไปจะมีประโยชน์ สามารถนำผลลัพธ์ที่ได้จากความร่วมมือในโครงการมาปรับใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ วทน. ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคต่อไป”

ด้านผู้เชี่ยวชาญระดับโลก นางธีอา อลิซ เชซ (Ms. Chase TheaAlice) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาธุรกิจ (Director of Business Development) สถาบัน CREEDA กล่าวว่า ในการประเมินหน่วยบ่มเพาะธุรกิจจะมีหัวข้อหรือเกณฑ์ในการประเมินด้วยกัน 76 ข้อ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ Selection Process หรือกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะมาบ่มเพาะ ส่วนที่ 2 คือ Services หรือการบริการต่างๆ ที่หน่วยบ่มเพาะฯ มีให้กับผู้ประกอบการ และส่วนที่ 3 คือ Governance หรือการบริหารจัดการ ซึ่งจะพิจารณาคุณภาพทั้งในด้านการให้บริการ การตลาด การเงิน ธุรกิจระหว่างประเทศ และเทคโนโลยี ซึ่งจากการลงพื้นที่ประเมินขีดความสามารถของหน่วยบ่มเพาะฯ ด้วย Maturity Model พบว่า หน่วยบ่มเพาะของประเทศไทยมีจุดแข็งที่มีนโยบายดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันกับมหาวิทยาลัยต้นสังกัดที่ดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และมหาวิทยาลัยเองมีทรัพยากรที่ให้หน่วยบ่มเพาะฯ ใช้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ และนักวิจัย มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน มีการนำงานวิจัยลงมาจากหิ้งได้เป็นอย่างดี ขณะที่โอกาสสำหรับการพัฒนาแล้วมองว่า ควรที่จะให้ความสำคัญกับแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) ของหน่วยบ่มเพาะฯ ให้มีส่วนสำคัญในนโยบายของมหาวิทยาลัยและของประเทศ โดยให้มองถึงรายละเอียดจริงๆ ว่าศูนย์บ่มเพาะมีไว้เพื่ออะไร มีบทบาทหน้าที่ใด และควรกำหนดทิศทางดำเนินงานในอนาคตอย่างชัดเจน เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ สร้างให้หน่วยบ่มเพาะฯ เกิดประโยชน์กับส่วนภูมิภาค ภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพจังหวัด เศรษฐกิจจังหวัด และเศรษฐกิจประเทศ”

 

Advertisement

 

 

Advertisement