ผู้เขียน | กรรณิกา เพชรแก้ว |
---|---|
เผยแพร่ |
เรามักคิดว่าบ้านเมืองที่มีปัญหาคมนาคมขนส่งยากลำบาก ให้ชาวบ้านต้องเดินทางกันเป็นวันๆ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพียงเพื่อจะซื้อข้าวซื้อน้ำหรือหามดหาหมอ จะต้องเป็นประเทศยากจน ชักหน้าไม่ถึงหลัง อย่างเมืองไทยหรือเมืองอื่นใดที่มีชะตากรรมคล้ายกัน ขณะที่ประเทศร่ำรวยนั้นมีความสะดวกสบายไปเสียสิ้น
ญี่ปุ่น มีรถไฟความเร็วสูงมากว่า 40 ปีแล้ว อเมริกาที่มีเงินแต่ไม่ชอบรถไฟความเร็วสูงก็มีเครือข่ายเครื่องบินไปเกือบทุกตารางนิ้ว ถนนพาดผ่านทั่วประเทศอย่างเท่าเทียม ซ้ำรางรถไฟพาดเหนือใต้ออกตกอีกเล่า จีนก็มีรถไฟความเร็วสูงอีก งามดังดอกเห็ด
ที่จริงแล้ว ประเทศไทยไม่มีปัญหามาสกัดกั้นการสร้างเส้นทางคมนาคม เราไม่มีปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์ หรืออะไรทั้งสิ้น ถ้าจะมีก็เรื่องเงิน กับเรื่องเราไม่ลงมือกันเอง เพราะร้อยสาเหตุเกินจะคาดเดา
ส่วนตัวอย่างที่เราบอกว่าเพราะเขาร่ำรวย เขาจึงสร้างได้โครมๆ นั้น มันก็ไม่จริง เงินไม่ใช่ปัจจัยหลัก หากแต่เป็นความยากลำบากที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ญี่ปุ่นคือเป็นตัวอย่างของประเทศที่ต้องกัดฟันสู้กับเรื่องภูมิประเทศ เพื่อให้การพัฒนากระจายได้สมน้ำสมเนื้อ ญี่ปุ่นเป็นเกาะน้อยใหญ่ การสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมแต่ละเกาะเป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำเพราะไม่เช่นนั้นการเจริญกระจายไปไม่ทั่วถึง แต่การเชื่อมเกาะแต่ละเกาะของญี่ปุ่นใช้ทุนมหาศาล ทั้งทุนเงินทอง คน ความรู้เทคโนโลยี และญี่ปุ่นก็กัดฟันแบกรับภาระนั้น
สะพานเชื่อมเกาะของญี่ปุ่นมีมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี มันสร้างยากกว่าถนนเชื่อมอำเภอของไทยหลายร้อยเท่า แต่เขาทำไปเยอะกว่าถนนเชื่อมอำเภอเมืองไทยหลายเท่า
อินโดนีเซีย ประเทศแห่ง 13,000 เกาะ ต้องหาทางเชื่อมเข้าหากัน แต่ด้วยเงินน้อย อินโดนีเซียยังต้องพึ่งวิธีดั้งเดิมคือเรือโดยสารระหว่างเกาะ เป็นวิธีดั้งเดิมที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีและเงินมาก แต่ก็เป็นวิธีที่คนต้องเอาชีวิตไปเสี่ยง เราได้ยินข่าวเรือข้ามฟากในอินโดนีเซีย ในฟิลิปปินส์ หรือประเทศหมู่เกาะทั้งหลายล่มเป็นโศกนาฏกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยากจน ไม่สามารถเลือกที่อยู่ หรือเลือกการเดินทางที่ปลอดภัยกว่าได้
นอร์เวย์ เป็นประเทศสวยงามอยู่ซีกโลกตอนเหนือ เป็นประเทศขนาดเล็ก ประชากร 5 ล้านกว่าคน จัดเป็นประเทศร่ำรวย เพราะมีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ อาหารทะเล และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่คนบ่ายหน้าไปเที่ยวปีละหลายสิบล้านคน ส่วนใหญ่ไปดูธรรมชาติ ธรรมชาติที่เกรียงไกรที่สุดของนอร์เวย์คือ ฟยอร์ด (fjords) โตรกธารริมทะเลสูงลึกคดเคี้ยวสวยงามจนละเมอ แต่นั่นก็เป็นอุปสรรคในการคมนาคมขนส่งสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น
การเดินทางของนอร์เวย์ช่วงที่ติดทะเล หรือช่วงที่มีฟยอร์ดมาก ทำได้ยากเพราะพื้นที่เป็นเขาสูง ส่วนโตรกธารก็สูงชันน้ำเบื้องล่างก็ลึกจัด ทะเลมีโตรกธารคั่นโตรกแล้วโตรกเล่า หากอาศัยเรือเป็นพาหนะ เราจะอาศัยข้ามไปได้ทีละโตรกธาร จากนั้นก็ต้องขึ้นรถต่อ ไปเจอโตรกธารที่เว้าเข้ามาในแผ่นดินมาก มีแอ่งน้ำสำหรับจะข้ามไปโดยง่าย เขาก็จะลงเรืออีก
การสัญจรในบางพื้นที่ใช้เวลากว่า 20 ชั่วโมง ขึ้นเรือลงเรือนับ 10 ครั้ง จึงจะไปถึงจุดหมายปลายทาง
ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี พื้นที่ห่างไกลไปมาหาสู่กันลำบาก ย่อมมีปัญหาความแตกต่างของการใช้ชีวิต ฐานะ อาชีพ ยิ่งแตกต่างกันมากยิ่งไม่เป็นผลดีต่อการอยู่ร่วมกัน ต่อการบริหารประเทศ
ประเทศที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ต้องเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่น้อยที่สุด
นอร์เวย์ด้านที่ติดทะเลนอร์เวย์ (Norwegian Sea) มีโตรกธารลึกถึง 1,109 แห่ง ประชากรอาศัยอยู่แถบนี้เสีย 3 ใน 4 ของประเทศ ขณะที่การคมนาคมยังลำบาก การเดินทางจากเมือง Kristiansand ทางใต้ เลาะทะเลไปถึงเมือง Trondheim ทางตอนเหนือ ระยะทาง 1,200 กิโลเมตร เวลาเดินทาง 24 ชั่วโมง ขึ้นเรือลงเรือ 7 ครั้ง
นอร์เวย์ จึงประกาศเมื่อ ปี ค.ศ. 2016 ว่า จะสร้างการคมนาคมที่ได้มาตรฐานบนเส้นทางนี้ ให้ใช้เวลาสัญจรเพียงครึ่งของที่เป็นอยู่ บนระยะทาง 1,200 กิโลเมตรนี้ จะมีทั้งถนนมาตรฐาน สะพาน อุโมงค์ที่ลึกที่สุดในโลก ขุดใต้แผ่นหินลึก 392 เมตร ยาว 27 กิโลเมตร
และที่ฮือฮาคือ เขาจะสร้างอุโมงค์ลอยน้ำ (floating tunnel) เชื่อมระหว่างโตรกธารลึก แทนการนั่งเรือข้ามเช่นก่อนเก่า ถ้าสร้างเสร็จมันจะเป็นอุโมงค์ลอยน้ำแห่งแรกของโลก
เรียกอุโมงค์ลอยน้ำนี่อาจคิดว่ามันลอยเท้งเต้งแกว่งไกวน่าหวาดเสียว ที่จริงมันก็ยึดกับโครงสร้างต่างๆ ที่ยึดกับพื้นดินใต้ทะเล หรือชายฝั่ง เหมือนอุโมงค์ใต้น้ำทั่วไป แต่เขาจะยึดได้เฉพาะในช่วงที่พื้นดินใต้ทะเลไม่ลึกเกินไป ขณะที่ฟยอร์ดส่วนใหญ่นั้นน้ำลึกเป็นกิโล และแต่ละแห่งกว้าง 5 กิโลเมตรขึ้นไป ยากจะเอาสลิงมาขึง เอาเสาเข็มมายึดได้
เขาจึงต้องใช้ทุ่น ซึ่งก็มีสายเชื่อมต่อไปยึดกับโครงสร้างหลักที่ยึดกับพื้นที่ดินใต้ทะเลอีกที แล้วทอดทุ่นนั้นออกไปกลางทะเล ให้ท่ออุโมงค์ห้อยอยู่ใต้ทุ่นนั้นเป็นระยะๆ แต่ละฟยอร์ดจะมีอุโมงค์ลอยอย่างนี้ระยะทางประมาณกิโลเมตรกว่าๆ มี 2 จุด ตอนนี้อยู่ระหว่างออกแบบและทดสอบดินฟ้าอากาศ จะเริ่มมีก่อสร้าง ปี ค.ศ. 2035 กะว่าจะสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 2050 งบประมาณราว 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7 แสนกว่าล้านบาท
ที่ว่าทดสอบดินฟ้าอากาศนี่คือ เขาทดสอบว่ามันจะทนลมแรงได้ปานใด นักวิทยาศาสตร์บอกว่าที่จริงคลื่นลมใต้น้ำระยะ 100 ฟุต เบากว่าคลื่นลมเหนือพื้นน้ำมาก ดังนั้น จึงไม่น่ากังวล นอกจากนั้น ผนังอุโมงค์จะมีความหนา 80-100 เซนติเมตร จึงทนทานพอใช้ เขาว่ารถบรรทุกสารเคมีอันตรายชนหรือคว่ำได้โดยไม่มีผลต่อโครงสร้างของอุโมงค์
ตอนนี้มีคนกังวลว่า ถ้าเรืออื่นหรือกระทั่งเรือดำน้ำไปชนจะทำไง บางคนก็ว่าจะเป็นทัศนอุจาดมาก แต่รัฐบาลเขาบอกว่ามันไม่เกะกะตาหรอก เห็นแต่ทุ่นลอยอยู่ ถ้าเทียบกับสะพานแล้ว สะพานขวางหูขวางตากว่าเยอะ แล้วเขาจะทำอุโมงค์ลอยน้ำนี้เฉพาะในส่วนที่มันทำอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าตรงไหนสร้างสะพานได้ เขาก็จะทำ ว่ากันไปตามสภาพภูมิประเทศที่มี
เขาเชื่อว่าอุโมงค์ลอยน้ำจะเป็นประโยชน์ต่อการคมนาคมขนส่งของคนของเขา ของผลผลิตของคนของเขา และอีกทางก็เพื่อการท่องเที่ยว เพราะนอกจากนี้คนจะได้ไปเห็นฟยอร์ดสวยสง่าแล้ว ยังจะได้เห็นอุโมงค์ลอยน้ำแห่งแรกของโลก
จำได้ว่า ตอนที่ญี่ปุ่นสร้างสะพานสองชั้นข้ามเกาะใหญ่ของเขาได้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน คนก็ฮือฮาพากันไปยลโฉม ญี่ปุ่นหน้าบานได้ทั้งหน้าได้ทั้งเงิน
นอร์เวย์ก็รอวันนั้นอยู่
นอกจากนอร์เวย์แล้ว ประเทศอื่นๆ ที่กำลังมองวิธีการนี้อยู่ ก็มีอีกมากหลาย ทั้งจีน ญี่ปุ่น เดนมาร์ก สิงคโปร์ และตุรกี แต่ที่ลงมือศึกษาจริงจังแล้วมีจีน เกาหลีใต้ และอิตาลี
ปี ค.ศ. 2007 จีนเคยพยายามจะสร้างสะพานใต้น้ำ ซึ่งหน้าตาคงคล้ายอุโมงค์ลอยน้ำนี่แหละ เขาสร้างต้นแบบไว้แล้ว แต่ต่อมาก็มอดไปเฉยๆ เสียงั้น
ก่อนนั้น ปี ค.ศ. 2004 อินโดนีเซีย ก็มีแผนจะสร้างอุโมงค์ใต้น้ำ เชื่อมเกาะสุมาตรากับเกาะชวา กะว่าใช้งบประมาณราว 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 4 แสนล้านบาท โครงการถูกติติงว่าไม่ควร ควรสร้างเป็นสะพานมากกว่า แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าอุโมงค์จะเป็นประโยชน์มากกว่า แล้วต่อมาก็เงียบไป
พอนอร์เวย์ตีปี๊บเอาจริงเอาจัง เชื่อว่าจะมีพวกพ้องตามมาในเร็วนี้