เทคโนฯ เสวนา…ไม้ผลพารวยยุค 5G (ตอนที่ 1) เทคโนโลยียุค 5G ลดต้นทุนทางการเกษตร สร้างสินค้าคุณภาพ เกษตรกรไทยมีรายได้ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นงานเสวนาที่ได้การตอบรับเป็นอย่างดี นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในโอกาสก้าวขึ้นสู่ปีที่ 32 ได้จัดงานเสวนา “ไม้ผลพารวยยุค 5G” เปิดสูตร “เกษตรอัจฉริยะ” ที่มีผู้เข้ามาร่วมฟังเต็มห้องประชุมข่าวสดกันเลยทีเดียว

คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

งานนี้ คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติมาปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ กับเทคโนโลยีใหม่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร” ทำให้ได้รับรู้แนวทางการปฏิรูปกระทรวงนี้ ซึ่งจะเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนช่วงต้นปีหน้า คุณอลงกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ จะถือเป็นกระทรวงแรกที่เข้าสู่ยุค 5G ในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ อย่างเช่น เริ่มใช้ Big data อย่างสมบูรณ์ เริ่มจากโครงการ 1 กระทรวง 1 แอปพลิเคชั่น ที่รวมทั้ง 22 หน่วยงานไว้ในแอปเดียว และทุกหน่วยงานจะต้องมี 1 โครงการที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร

ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ

อย่างเช่น การออกใบรับรองต่างๆ พร้อมนำระบบออนไลน์มาใช้ครอบคลุมการบริหารจัดการฟาร์มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งการเกษตรในยุคดิจิตอลเป็นการใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ทางการเกษตรต่างๆ มาใช้ในการวิเคราะห์ ประมวลผล คาดการณ์ ตัดสินใจ โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยสนับสนุน เพื่อสั่งการและควบคุมการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ

คุณประพันธ์ จิวะวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

ขณะเดียวกัน จะใช้กองทัพคนรุ่นใหม่ภาคเกษตรกรรม ที่มีทั้ง สมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) และยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) มากกว่า 12,000 คน ซึ่งมีศูนย์เรียนรู้กระจายอยู่ทั่วประเทศมาเป็นทัพหน้าในการใช้เทคโนโลยียุค 5G และนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการเกษตร ภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ยุคนี้ เน้นใช้กลไกการตลาดนำการผลิต หรือเรียกว่านโยบายเกษตรพาณิชย์ ซึ่งนับเป็นการปฏิรูปภาคการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีอย่างแท้จริง
คุณอลงกรณ์ เผยต่อว่า หลายปีที่ผ่านมาไม้ผลถือเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้กับประเทศ อย่างเช่น ทุเรียน มังคุด และลำไย เพียง 3 ชนิดนี้ มียอดขายแสนกว่าล้านบาท โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนไปขายออนไลน์ในแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสของจีนหลายเจ้า บางเจ้าสั่งซื้อทุเรียน 2 ล้านลูก และที่เพชรบุรีมีการปลูกกล้วยหอมส่งออกไปญี่ปุ่นมา 20 กว่าปีแล้ว

ผู้เข้าร่วมเสวนารอลงทะเบียน

“นโยบายการบริหารเกษตรแบบครบวงจร เราจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาทำการวิเคราะห์ เพื่อรวบรวมข่าวสารและองค์ความรู้ต่างๆ ส่งไปยังพี่น้องเกษตรกร พร้อมทั้งมีการทำงานเชื่อมโครงข่ายไปยังเจ้าของอุตสาหกรรม เพื่อรับผลผลิตทางการเกษตรนำมาแปรรูป ดังนั้น การทำเกษตรในอนาคต จะมีการแข่งขันทั้งเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยมีคุณภาพ และได้ราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย ในเรื่องของคุณภาพการผลิตจึงขาดเสียไม่ได้ อย่างน้อยผู้ผลิตอย่างเกษตรกร ต้องมีมาตรฐานจีเอพีเพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้า สามารถตรวจสอบย้อนกลับการดำเนินงานของสินค้านั้นๆ ได้” คุณอลงกรณ์ กล่าว

ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้เข้าร่วม

ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรและการพัฒนาการขนส่งสินค้า ตลอดไปจนถึงการผลิตสินค้าตามที่ตลาดต้องการนั้น เกษตรกรจึงต้องเตรียมความพร้อมและสร้างสินค้าให้ได้คุณภาพ และมีการแปรรูปให้ได้มาตรฐานส่งออก โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ เข้ามาใช้ และเผยแพร่ไปยังพี่น้องเกษตรกร เพียงดูผ่านโทรศัพท์มือถือของตนเอง เพื่อข้อมูลเหล่านี้เป็นตัวช่วย ทำให้เกษตรกรมีข้อมูลที่ชัดเจนและตัดสินใจในการปลูกพืชต่างๆ ได้ จะยิ่งทำให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่า การก้าวเดินไปกับกระทรวงเกษตรฯ ยุคใหม่ จะยิ่งทำให้สินค้าของเกษตรในยุค 5G เกิดรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

บู๊ธต่างๆ ภายในงาน

ทั้งนี้ วิทยากรอีกท่านในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ คือ ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เสวนาในหัวข้อ “เทคโนโลยี ยุค 5G เพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร” โดยนำเสนอข้อมูลต่างๆ อันเกิดจากประสบการณ์จริงที่นำเกษตรอัจฉริยะและเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปใช้ในแปลงปลูกนาข้าวของเกษตรกรที่จังหวัดสุพรรณบุรี


ซึ่งผลจากการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้นั้น ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนเกษตรกรผู้ทดลองใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ขอขยายพื้นที่การใช้มากขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่การปลูกข้าวด้วยรถดำนาที่ควบคุมการขับเคลื่อนด้วยพวงมาลัยอัตโนมัติ หรือนำร่องด้วย GPS ทำให้ข้าวขึ้นเป็นแนวตรง สามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์

“เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการขับเคลื่อนการทำเกษตรของไทย ซึ่งรัฐบาลเน้นย้ำมากในเรื่องนี้กำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยจึงเริ่มทำมาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2560 จึงทำให้เกษตรกรไทยได้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กับดิน ว่าดินนั้นมีความสมบูรณ์และเหมาะสมกับการปลูกพืชหรือไม่ เพื่อให้เกษตรกรได้ทราบว่าดินมีธาตุอาหารอย่างไร จากนั้นก็จะไม่ใส่ปุ๋ยที่มากจนเกินไปจนทำให้สิ้นเปลือง และประหยัดต้นทุนอีกด้วย พร้อมทั้งมีเกษตรอัจฉริยะในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ และการอารักขาพืชเพื่อไม่ให้ถูกแมลงต่างๆ เข้ามาทำลาย จนเกิดความเสียหายต่อสินค้าทางการเกษตร ดังนั้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทางการเกษตรจึงทำทั้งระบบ” ดร.วราภรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ดร.วราภรณ์ ได้ยกตัวอย่างของเทคโนโลยีที่กำลังใช้อย่างแพร่หลาย ในเรื่องของการใช้เซ็นเซอร์วัดระดับน้ำในนาร่วมกับการใช้แอปพลิเคชั่นบนมือถือของเกษตร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำได้อย่างมาก และช่วยร่นระยะเวลาการทำงานของเกษตรกรได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างการใช้เครื่องตรวจปริมาณธาตุไนโตรเจนในใบพืช ทำให้สามารถใส่ปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของพืช และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ การนำโดรนเข้ามาช่วยในการพ่นสารเคมีต่างๆ จึงทำให้เกษตรกรมีความปลอดภัยมากขึ้น การใช้โดรนพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช สามารถลดปริมาณการใช้น้ำในการฉีดพ่นได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และร่นระยะเวลาในการฉีดพ่นสารได้อีกด้วย
ซึ่ง ดร.วราภรณ์ ได้ยกตัวอย่างของต้นทุนการผลิตข้าว ให้เห็นข้อแตกต่างว่า การนำเกษตรอัจฉริยะเข้ามาช่วย สามารถลดต้นทุนได้จริงและเกิดผลกำไรกว่าการทำเกษตรแบบเดิมๆ เช่น การปลูกข้าวโดยกรรมวิธีเกษตรอัจฉริยะให้ผลผลิต 970 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 3,140 บาท ต่อไร่ ส่วนกรรมวิธีของเกษตรกรให้ผลผลิต 975 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 5,100 บาท ต่อไร่ ซึ่งกรรมวิธีเกษตรอัจฉริยะสามารถลดต้นทุนในการผลิตข้าวได้ 38.43 เปอร์เซ็นต์

“การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ นอกจากจะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรมีความสะดวกสบายแล้ว ยังประหยัดทั้งต้นทุนการผลิต และประหยัดเวลาที่ทำในแต่ละช่วงอีกด้วย ข้อมูลต่างๆ ที่เราเก็บรวบรวมจึงถือเป็นข้อมูลที่สำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรได้รับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และยิ่งไปกว่านั้นทำให้เกษตรกรตัดสินใจในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที จึงถือว่าเกษตรอัจฉริยะเป็นอีกตัวช่วยที่สำคัญช่วยให้เกษตรสร้างผลผลิตได้มาตรฐานและประหยัดต้นทุนการผลิต ขายสินค้าได้ราคาและมีรายได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา” ดร.วราภรณ์ กล่าว

ในด้านเอกชน คุณประพันธ์ จิวะวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ให้ข้อมูลในเรื่อง “ดีแทค สมาร์ทฟาร์มเมอร์” ว่าดีแทคได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่ได้เข้าสู่วงการทำเกษตรมากว่า 10 ปี โดยมุ้งเน้นเป้าหมายไปที่กลุ่มของเกษตรกรรายย่อย และการให้ความสำคัญกับเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือที่รู้จักกันดีคือ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพราะภาคการเกษตรค่อนข้างมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งทางดีแทคเชื่อมั่นในสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้ดีแทคได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตร ในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้มีผลกำไรมากขึ้น สร้างเกษตรแบบประหยัดต้นทุน พร้อมกับให้ความรู้เรื่องการตลาดออนไลน์เข้ามาอีกหนึ่งช่องทาง

ทั้งนี้ ดีแทค ยังได้สร้างแอปพลิเคชั่น “Farmer Info” ที่มีฟังก์ชั่น “บริการฟาร์มแม่นยำ” โดยแอปพลิเคชั่นนี้ จะเป็นตัวช่วยให้ข้อมูลพยากรณ์อากาศอย่างแม่นยำ แสดงผลเจาะจงในพื้นที่ที่ต้องการรายชั่วโมง ทั้งอุณหภูมิ โอกาสในการเกิดฝนและปริมาณฝนในพื้นที่ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สามารถพยากรณ์อากาศได้ล่วงหน้า 7 วัน

ซึ่งแอปพลิเคชั่นนี้ถือว่าค่อนข้างมีความแม่นยำระดับรายแปลงมากที่สุดในประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอราคารับซื้อผลผลิตของตลาดต่างๆ อย่างเช่น ตลาดไท ช่วยให้เกษตรกรที่ต้องการผลิตสินค้าทางการเกษตร สามารถบริหารจัดการการเพาะปลูกของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรู้ช่วงราคาจำหน่ายได้กำไรสูงสุด โดยเกษตรกรสามารถโหลดแอปนี้ไปใช้ได้ฟรี

ในช่วงท้ายของการเสวนา ดร.วราภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับเกษตรกรที่ต้องการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนงานทางด้านการเกษตร เพื่อสร้างเป็นเกษตรอัจฉริยะสามารถรวมกลุ่มกันสร้างการทำเกษตรแปลงใหญ่ จากนั้นมาขอคำปรึกษาในหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือซึ่งกันและกันในการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี เพื่อให้การทำเกษตรของไทยเกิดความยั่งยืนและมีรายได้สูงขึ้น จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการลดต้นทุนในการผลิตทุกๆ ด้าน

ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้ยังมีเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จ จนก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ สามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรได้ทั้งในและต่างประเทศ พวกเขาเหล่านั้นมีสูตรความสำเร็จอย่างไร ติดตามกันในปักษ์หน้าครับ…