สหกรณ์เฮ หลังกระทรวงพาณิชย์เคาะมาตรการสินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก ลุยเปิดจุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกร เก็บชะลอหวังดึงราคา

สหกรณ์การเกษตรลุยเดินหน้าเปิดจุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกร หลังกระทรวงพาณิชย์เสนอคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เห็นชอบกรอบวงเงินเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรเก็บชะลอและรวบรวมข้าวเปลือก หวังรักษาเสถียรภาพในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากในขณะนี้ ตั้งเป้ารวบรวมข้าวเปลือกผ่านจุดรับซื้อของสหกรณ์ไม่น้อยกว่า 3 ล้านตัน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เตรียมความพร้อมสหกรณ์การเกษตรเพื่อเข้าโครงการชะลอและรวบรวมข้าวเปลือกปี 2562/63 ของรัฐบาล โดยให้สหกรณ์จังหวัดเร่งแจ้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ภายหลังจากที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญผู้ประกอบการค้าข้าว ธ.ก.ส. สมาคมธนาคารไทย องค์การคลังสินค้า และกรมส่งเสริมสหกรณ์ การหารือถึงสถานการณ์ราคาข้าวและการซื้อขายข้าวเปลือก เนื่องจากก่อนหน้านี้พบว่ามีโรงสีเอกชนและสหกรณ์การเกษตรบางแห่งต้องปิดจุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกร เพราะประสบปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงแนวทางการช่วยเหลือเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1 .โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกในต้นฤดูกาลผลิต โดยเก็บในยุ้งฉางของเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร มีเป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก มีค่าเก็บรักษาให้เกษตรกรตันละ 1,500 บาท หากสถาบันเกษตรกรเป็นผู้เก็บรักษาข้าว จะได้ตันละ 1,000 บาท และจ่ายให้เกษตรกรที่นำข้าวมาเก็บไว้ที่สหกรณ์ ตันละ 500 บาท วงเงินจ่ายขาด 1,500 ล้านบาท 2. โครงการสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อให้แก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป อัตราดอกเบี้อ MLR- 1 เท่ากับ 4% ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3 วงเงินจ่ายขาด 562 ล้านบาท และมาตรการที่ 3 โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 4 ล้านตัน ระยะเวลาเก็บสต๊อก 2-6 เดือน รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 วงเงินจ่ายขาด 510 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 3 มาตรการจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 3 ธันวาคม 2562 นี้

“ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวจากสมาชิก เป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 488 แห่งใน 62 จังหวัด สมาชิก 3,335,211 ราย แผนรวบรวมข้าวเปลือกปีการผลิต 2562/63 ปริมาณ 3,142,676 ตัน เป็นการรวบรวมเพื่อจำหน่าย 3,142,676 ตัน แบ่งเป็นข้าวขาว 1,457,860 ตัน ข้าวหอมมะลิ 1,229,754 ตัน ข้าวเหนียว 276,983 ตัน ข้าวอื่นๆ 178,079 ตัน การรวบรวมเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร 289,753 ตัน

แบ่งเป็นข้าวขาว 55,903 ตัน ข้าวหอมมะลิ 209,467 ตัน ข้าวเหนียว 12,860 ตัน ข้าวอื่นๆ 12,860 ตัน สำหรับสหกรณ์ที่กู้จากธ.ก.ส.เพื่อนำมารวบรวมข้าวตามโครงการที่เป็นดอกเบี้ยปกติไปแล้ว จะได้รับการปรับลดดอกเบี้ยตามมาตรการสินเชื่อรวบรวมข้าว โดยย้อนหลังให้ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562” นายพิเชษฐ์ กล่าว

ผลการรวบรวมข้าวเปลือกของสหกรณ์ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน  2562 มีสหกรณ์เปิดจุดรวบรวมข้าวเปลือกจำนวน  314 แห่ง ใน 49 จังหวัด จำนวน 726,617 ตัน หรือร้อยละ 21.16 ของแผน มูลค่ารวม 7,671 ล้านบาท สำหรับผลการรวบรวมเฉพาะข้าวหอมมะลิขณะนี้ดำเนินการแล้ว 436,874 ตัน มูลค่า 5,469 ล้านบาท แบ่งเป็นภาคเหนือ 133,802 ตันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 303,072 ตัน ซึ่งเมื่อทั้ง 3 มาตรการผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้ว สินเชื่อที่ได้รับจะมีส่วนช่วยสนับสนุนทุนหมุนเวียนให้ธุรกิจรวบรวมข้าวของสหกรณ์มีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถเปิดจุดรับซื้อข้าวได้เต็มศักยภาพของสหกรณ์